Saturday, 4 February 2017

สถานการณ์ร่วมสมัยกับงานพัฒนาชุมชนของประเทศ

ในหลวง ร.๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า
"การพัฒนา คือ สร้างสรรค์" และ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" 




งานพัฒนาชุมชนที่แท้จริง... สมัยก่อตั้งกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ (Non-directive Approach, Self-help and People Participation)... ซึ่งเป็นเครื่องมือ (tool) หนึ่ง ที่ใช้พัฒนาประเทศ เฉกเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมสุขภาพและอนามัย การส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ฯลฯ เป็นต้น มีพัฒนากรทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนโดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (People Participation) เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ (Self-help) โดยวิธีการไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกสั่งการ (Non-directive Approach) ซึ่งกำลังจะค่อย ๆ เลือนลางจางหายไปจากบริบทงานพัฒนาของประเทศไทย เพราะพัฒนากรกำลังถูกลิดรอนบทบาทหน้าที่และต้องปฏิบัติงานให้อยู่ในกรอบคิดที่คิดว่าทันกระแส ทันสมัย ในกาลปัจจุบัน...บางกระแสการพัฒนาเป็นเพียงแค่กระแสการสร้างความทันสมัยแต่ปราศจากกาพัฒนา (Modernization without Development)...

แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติในพื้นที่! ... หากหน่วยงานมีปัจจัยทางการบริหารที่ไม่เพียงพอและไม่มีความสมดุลและสัมพันธ์กันระหว่าง “คน เงิน งาน และระบบ” ... โดยเฉพาะการบริหารบุคคล ผู้ที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนงานทั้งหมดให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ หากขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน การวางคนไม่ตรงกับงาน ความอ่อนล้าเหนื่อยหน่ายก็จะเกิดขึ้นตาม อันไปสู่การขาดศักยภาพในการทำงาน ทำให้หน่วยงานขับเคลื่อนงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและเต็มสมรรถนะ และผลกระทบสุดท้าย คือ คุณภาพชีวิตประชาชน ฉะนั้น หน่วยงานต้องโปรไฟล์บุคลากรของตนเองเป็นรายบุคคล รวมทั้งการศึกษาภาระงานที่สมดุลและสัมพันธ์ระหว่างเงิน งาน และระบบ แล้วจึงเสริมศักยภาพเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเดียวกัน และกำหนดบุคคลกับงานให้เป็นไปตามหลัก  put the right man on right job

งานพัฒนาชุมชนที่เราทำก็เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง...ต้องนับหนึ่งตลอด ยังมากก็ หนึ่ง สอง สาม แล้วก็ศูนย์...แล้วยกงานที่เคยทำให้กับหน่วยงานอื่น...

ยอมรับความจริงและแก้ปัญหาเถอะ… เหตุผลความจำเป็นของการพัฒนา นั่นคือ จุดแตกหัก (break through) ของการพัฒนาอยู่ที่ชุมชนหรือหมู่บ้าน และเป็นเพราะ การพัฒนาชุมชน คือ การพัฒนาประเทศ โดยการน้อมนำและถือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศซึ่งพระดำรัสในหลวง ร.๙ ที่ทรงปฏิบัติด้านการพัฒนาและได้พระราชทาน
คำขวัญแก่กรมการพัฒนาชุมชนเนื่องในวันพัฒนาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวและปฏิบัติหน้าที่ของนักพัฒนา "พัฒนา คือ สร้างสรรค์" และยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

นับตั้งแต่เราถูกบังคับเปรียบเสมือนให้ถอดเสื้อที่เคยใส่มาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งกรมฯ ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ล่าสุดก็ยกงานให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...และมีทั้งหน่วยงานภาคประชาชนและกึ่งภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาชุมชน...สุดท้าย บางองค์การก็ทิ้งร่องรอยความขัดแย้งกันเองในพื้นที่...เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว...หรือความไม่ซาบซึ้งในงานพัฒนาชุมชน...ก็ไม่ทราบ...

แล้วเราก็มาคิดตัดเสื้อโหลตัวใหม่แจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ใส่...

ส่วนเสื้อตัวเก่า ก็แล้วแต่หน่วยงานที่รับไป จักต่อยอดเพิ่มพูนมูลค่าหรือขยำเก็บเป็นผ้าขี้ริ้ว รอการจำหน่ายทิ้ง... สุดจะพรรณนาถึง...แท้แต่จินตกมลใฝ่ฝันให้มีอันเป็นไปตามภูมิคิด... แต่เท่าที่เห็นมันไม่ใช่งานพัฒนาชุมชนเสียแล้ว...เป็นงานประชาสงเคราะห์หรือสังคมสงเคราะห์ (Social work) และงานทำตามคำสั่งการ (Directive Approach) มากกว่า...ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในระยะยาวและทั่วถึง หากชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมและพึ่งพากันเอง (self-reliance) ...  เราต้องทำงานอย่างนี้ เพื่อต้องการให้ได้ใจมวลชนตามหลักสังคมจิตวิทยา... แล้วก็มีหน่วยงานอื่นที่เขาเอางานพัฒนาชุมชนไปทำ แต่เรียกการทำงานตาม “หลักการมีส่วนร่วม” เป้าหมายคือ กลุ่ม/องค์กรประชาชนในพื้นที่ NGOs, IGOs, CSOs ...และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นักพัฒนาและนักวิชาการด้านพัฒนาชุมชนทั่วโลก ประมาณ ๕๐๐ คน มาประชุมเสวนาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานร่วม โดยมี นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนในสมัยนั้น และท่านเข้าร่วมประชุมเสวนาด้วย และที่ประชุมเสวนาครั้งนั้น ได้เสนอผลงานวิจัยและประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชนว่า การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนเกิดจากการสร้างการมีหุ้นส่วนร่วมกันในการพัฒนาชุมชน (Building Collaborative Partnership in Community Development)... ล้วนเป็นงานพัฒนาชุมชนที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่อดีตทั้งสิ้น เพียงแค่เรียกชื่อต่างกัน


และแล้วเราก็คิดงานใหม่ ออกแบบใหม่ ตัดเสื้อตัวใหม่ อาจมีรอยเค้างานเดิมแต่เป็นส่วนที่ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรมากมายนัก...งานจิตอาสา...งานที่ไม่ต้องใช้เงิน... ลงทุนลงแรงเอง..และเราลืมนึกว่าการใช้เงินของรัฐบาลในชุมชนนั้นเป็นการกระจายรายได้ตามหลักเศรษฐศาสตร์ (Income distribution with equity) ให้กับชุมชน และเป็นการหมุนเวียนเงินภายในชุมชนตามหลักคิดของ Irving Fisher คือ MV=PT (Money, Velocity, Price, Transaction) และการสั่งการให้คนในชุมชนมาร่วมกิจกรรมบางอย่างเป็นการเบียดเบียนเขา...นอกจากนี้ เราต้องมาจมอยู่กับการเก็บข้อมูลที่คนกำลังจะจับผิด...เป็นผู้ติดตามตรวจสอบหนี้สินที่สูญเสียการควบคุม (loose control)...ที่เกิดจากการไม่ได้ออกแบบการควบคุมบังคับ (enforce) ไม่ให้หนี้สูญ (Non-Performing Loan: NPL) มาตั้งแต่แรก...ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใกล้....การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดูเหมือนว่า เรายังแต่งตัวไม่เสร็จ...ติดกระดุมเม็ดแรกถึงเม็ดที่สาม กระดุมเม็ดแรกก็หลุด...ต้องมาเริ่มใหม่...

เราเริ่มงานใหม่...หานวรรตกรรมใหม่...ปลอบใจกันเอง...ตามหาจุดยืน...พ้นไปปีแล้วปีเล่า เริ่มศักราชใหม่...อยู่กับการลองผิดลองถูก (Trial and Error) อยู่ร่ำไป...

ฤๅชะตากรรมหน่วยงานเราเป็นหน่วยงานที่ถูกทดลองให้ปฏิบัติงาน... เป็นผู้แผ่วถางเบิกทาง... แล้วคนอื่นเขา...เข้ามาลาดยางและปักป้าย...


ฝากข้อมูลนี้ เพื่อประกอบ...การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารภาครัฐด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจสังคม...

ในมุมมองความคิดเห็นส่วนตัว
 

ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ได้หนักใจกับงานในหน้าที่ แต่น้อยใจกับโครงสร้างการบริหาภาครัฐ ที่ไม่สมดุลและสัมพันธ์กันระหว่าง คน เงิน งาน และ ระบบ

เปิดดูตำราเล่มไหนก็ได้ การบริหารที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ การบริหารบุคคล

แต่หน่วยงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารงานเชิงปริมาณ และไม่ได้คำนึงข้อเท็จจริงความสมดุลของภาระงานในพื้นที่

กรมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาที่ไม่อยู่ในพื้นที่ อาจแยกไม่ออกหรือไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมาย บทบาทที่ประชาชนและหน่วยงานภาคีในพื้นที่คาดหวัง และบทบาทที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่

ในขณะนี้ มีหลายหน่วยงานในพื้นที่ จะประสบปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ (structural conflicts in public administration) เมื่อเปรียบเทียบผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ระหว่าง พัฒนาชุมชนอำเภอ เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ จะพบว่า พัฒนาชุมชนอำเภอ จะประสบปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารมากที่สุด เป็นเอกภาพที่สุด คือ ปกครองอำเภอ หน่วยงานสมบูรณ์แบบแต่ยังมีปัญหาด้านบุคลากร ซึ่งรอดูที่ท่าการปฏิรูปที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ปัจจุบัน พัฒนากร เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ซึ่งถูกลิดรอนบทบาทหน้าที่โดยสถานการณ์ร่วมสมัยกับการพัฒนาชุมชนของประเทศ ที่มีปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ และตัวพัฒนากรเองก็ต้องปรับมาเป็นพัฒนากรยุคใหม่ด้วย

4 comments:

  1. สถานการณ์ร่วมสมัยกับการพัฒนาชุมชนของประเทศ
    Contemporary situation against community development in Thailand

    ReplyDelete
  2. ความคาดหวังอนาคตกับงานพัฒนาชุมชนของประเทศ
    Future expectation to Community Development in Thailand

    ReplyDelete
  3. ปัจจุบัน พัฒนากร เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ถูกลิดรอนบทบาทหน้าที่โดยสถานการณ์ร่วมสมัยกับการพัฒนาชุมชนของประเทศ ที่มีปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ
    Now, Community Development Officers also known as Pattanakorn in Thailand who are one of change agent have been deprived on Community Driven Development because of Contemporary situation against community development distracting role by structural conflicts in public administration in district level.

    ReplyDelete
  4. ภาพยนต์ เรื่อง พัฒนากร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ความยาว ๑๘.๒๗ นาที ฟิล์ม ๑๖ มม. / ขาว-ดำ / เสียง
    อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ผู้สร้าง เอราวัณภาพยนตร์

    ภาพยนตร์เรื่องพัฒนากรนี้ สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ภารกิจของข้าราชการไทยที่เรียกว่า พัฒนากร ซึ่งเกิดขึ้นในยุคเร่งรัดพัฒนาชนบท ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสหรัฐอเมริกานำเข้ามาแนะนำให้รัฐบาลไทยจัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ พัฒนากรเป็นข้าราชการสังกัด กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภาพยนตร์ใช้วิธีดำเนินเรื่องโดยเล่าถึงกิจกรรมของพัฒนากรหนุ่มนายหนึ่ง ซึ่งเดินทางเข้าไปสู่หมู่บ้าน ในชนบทแห่งหนึ่ง ให้เห็นว่าเขาต้องทำอะไร อย่างไร ที่น่าสังเกตคือภาพยนตร์ใช้วิธีเล่าเรื่องด้วยเพลงหมอลำแทนการบรรยายด้วยเสียงพูดธรรมดา

    ภาพยนตร์เริ่มต้นเรื่องด้วยภาพของพัฒนากรหนุ่มที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้ามาบอกกล่าวเล่าความแก่ชาวบ้านถึงแนวทางของรัฐที่จะเข้ามาพัฒนาอีสานให้มีความก้าวหน้า ให้ชาวบ้านเลิกทำตัวเกียจคร้านเพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชน โดยพัฒนากรหนุ่มได้แนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีการเลี้ยงสัตว์ วิธีการปลูกพืชผักสวนครัวและดอกไม้ที่ถูกต้องให้แก่ชาวบ้าน

    จากนั้น พัฒนากรหนุ่มก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการชี้แนะชาวบ้าน ในเรื่องของการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อระบบชลประทานและการพัฒนาดินที่ดี เหตุจากความแห้งแล้งในภาคอีสานที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน รวมถึงการถางทางเพื่อก่อสร้างถนน โดยการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาช่วย เพื่อให้หมู่บ้านสามารถทำการติดต่อค้าขายได้สะดวก รายได้และความเจริญจะได้เข้ามายังหมู่บ้าน และเมื่อพัฒนากรได้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในชุมชนแล้วก็จะต้องนำเรื่องและปัญหา ไปรายงานแก่ทางอำเภอให้รับทราบ (อำเภอวารินชำราบ) เพราะงานทางด้านพัฒนาการนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกิจการในด้านต่าง ๆ ทั้งการเกษตร การศึกษา สุขาภิบาล การอนามัย จึงต้องมีการรายงานขึ้นไปเพื่อให้ราชการระดับสูงของจังหวัดรับทราบและหารือแก้ไข

    พัฒนากรยังได้ทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนไทย ส.ป.อ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการรักษาความมั่นคงเรื่องภัยคอมมิวนิสต์และเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่พัฒนากร (ส.ป.อ. คือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็จัดตั้งโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์) โดยมีชาวอเมริกันมาคอยชี้แจงให้ความรู้ในกิจการต่าง ๆ เพื่อให้พัฒนากรนำความรู้ที่ได้ไปสอนแก่ชาวบ้าน

    ต่อมาภาพยนตร์นำเสนอภาพของชาวบ้านที่มาร่วมกันสร้างถนนอย่างขยันขันแข็ง เพื่อจะเป็นหนทางในการรับความเจริญในวันข้างหน้าและภาพการร่วมมือร่วมใจกันสร้างโรงเรียนบ้านปากห้วยวังนอง ที่ตำบลปทุม อำเภอเมือง อุบลราชธานี เพื่อสร้างปัญญาให้แก่ชุมชน ด้วยความยินยอมของชาวบ้านเจ้าของที่ดินซึ่งยินยอมมอบที่ดินให้สร้างโรงเรียนเพราะความเชื่อมั่นในนโยบายพัฒนาชุมชนก้าวหน้าของรัฐ ก่อนที่ภาพยนตร์จะตัดมายังภาพของพัฒนากรหนุ่มที่มีส่วนช่วยชาวบ้านในเรื่องของการสุขาภิบาลสัตว์ด้วยการขอรับวัคซีนจากสัตวแพทย์เพื่อนำมาฉีดให้แก่ไก่ที่เลี้ยงไว้ และนอกจากสัตว์แล้วทางหน่วยงานก็ยังให้ความสำคัญกับคน โดยได้มีหมอชาวอเมริกันเข้ามาบริการรักษาให้แก่คนเจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่บ้าน

    ในส่วนของการเกษตรกรรมหลังจากที่ชาวบ้านได้ช่วยกันเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวผล เพื่อนำมาเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาด ซึ่งภาพยนตร์ได้นำเสนอภาพของชาวบ้านขณะร่วมแรงร่วมใจกับเก็บเกี่ยวและนำผลิตผลมารอที่ชานชาลารถไฟ เพื่อนำไปขายยังในเมืองและประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าสู่ชุมชน ก่อนที่ภาพยนตร์จะจบลงด้วยภาพของพัฒนากรหนุ่มขณะกำลังเดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ให้เห็นขาที่กำลังเยื้องย่างไปพร้อมถ้อยคำจากเพลงที่บรรยายสรุปให้เห็นถึงชีวิตของพัฒนากรซึ่งเป็นคนติดดินและนึกถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านมากกว่าตนเอง เพราะต้องการขจัดปัญหาความยากจน ความไม่รู้หนังสือ และปัญหานานาประการด้วยเห็นแก่ความก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นสำคัญ

    ภาพยนตร์นี้ นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะเครื่องมือของรัฐในการโน้มน้าวความคิดความเชื่อของประชาชนในยุคสงครามเย็นแล้ว ยังเป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงและอารมณ์ความรู้สึกทางบรรยากาศของสังคมชนบทไทยในยุคสมัยแห่งสงครามเย็นและการเร่งรัดพัฒนาชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

    ขอขบคุณข้อมูลจาก หอภาพยนตร์แห่งชาติ

    ReplyDelete