Friday 21 April 2017

กลยุทธ์ทางการตลาดพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการ (Basic Marketing Strategies)

กลยุทธ์การตลาดจัดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีกลยุทธ์การตลาดต่างๆ มากมายให้เลือกเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ แต่กลยุทธ์ที่ต้องถือเป็นต้นแบบทางการตลาดอย่างแท้จริงคงจะหนีไม่พ้นกลยุทธ์การตลาด 8P เพราะนักธุรกิจทั่วโลกต่างยกนิ้วและให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการทำการตลาดค่อนข้างสูงสามารถเห็นผลได้ชัดเจน อีกทั้งยังถือว่ากลยุทธ์นี้เป็นแม่บทในการพัฒนากลยุทธ์ซีรีส์ต่างๆ ที่ออกมาตามหลังอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการควรต้องทำความรู้จักและศึกษาเรียนรู้ความหมายของกลยุทธ์ 8P เป็นอย่างยิ่ง

1. กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategy) เป็นการตั้งเป้าว่าผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ขนาดไหน กลยุทธ์การตลาดในส่วนแรกนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจที่เกี่ยวเนื่องกับตัวผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติส่วนตัวที่ต้องตั้งเป้าว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในระดับความพึงพอใจขนาดไหน การนำสินค้าไปเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งในท้องตลาดว่ามีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร นอกจากนี้ยังมีในส่วนของวัตถุดิบและสายงานการผลิตด้วย

2. กลยุทธ์ราคา (Price Strategy) เป็นการกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบมากขึ้น การกำหนดราคาต้องคำนึงถึงปัจจัยต้นทุนการผลิตบวกกับผลกำไรที่ต้องการจะได้ แล้วจึงกำหนดราคาขายออกมา โดยต้องคำนึงสภาพการแข่งขันของตลาดสินค้า นอกจากนี้การกำหนดราคายังมีนัยซึ่งบ่งบอกถึงตำแหน่งที่ต้องการให้สินค้าไปยืนอยู่ด้วย ซึ่งการตั้งราคาอาจตั้งให้ใกล้เคียงกับสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาด หรือน้อยกว่าาหากต้องการแย่งชิงฐานลูกค้า หรือมากกว่าหากต้องการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้อยู่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป

3. กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place Strategy) เป็นหนึ่งในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะหากสามารถหาช่องทางกระจายสินค้าไปสู่มือผู้บริโภคได้มากเท่าไร ผลกำไรก็จะเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น

โดยช่องทางการจัดจำหน่ายที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบคือ การขายสู่ผู้บริโภคโดยตรง และการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสองวิธีนี้มีข้อแตกต่างอยู่ตรงที่การขายตรงไปสู่มือผู้ใช้จะได้กำไรมากกว่า ขณะการขายผ่านพ่อค้าคนกลางจะช่วยเรื่องยอดการจำหน่ายที่สูงขึ้นอันมีผลมาจากเครือข่ายที่พ่อค้าคนกลางได้วางเอาไว้

4. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy) เป็นการส่งเสริมการตลาด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะลด แลก แจก แถม หากจะให้เปรียบเทียบกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดก็คงเหมือนการใช้เข็มฉีดยารักษาโรค เพราะมีประสิทธิภาพช่วยให้ขายสินค้าได้เป็นอย่างดี หากโปรโมชั่นที่ออกมาโดนใจลูกค้าก็จะช่วยให้ยอดขายและผลกำไรทวีสูงมากขึ้น โดยกลยุทธ์การตลาดนี้จะต้องช่วยส่งเสริมและสอดคล้องไปกับกลยุทธ์อย่างอื่นด้วย การส่งเสริมการตลาดนี้สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการลด แลก แจก แถม เป็นต้น

5. กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ (Packaging Strategy) ซึ่งบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญเปรียบเสมือนเป็นหน้าตาของสินค้า ดังนั้นการออกแบบดีไซน์รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง หลักสำคัญที่ควรต้องคำนึงถึงเมื่อทำการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามแผนการกลยุทธ์นี้คือต้องมีความสวยงามเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งโดดเด่นกว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งเมื่อนำไปวางข้างกันบนชั้นวางสินค้า จึงจะถือว่ากลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ


6. กลยุทธ์การใช้พนักงานขาย (Personal Strategy) พนักงานขายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยทำให้ยอดขายทะยานไต่ระดับพุ่งสูงขึ้น การขายสินค้าโดยใช้พนักงานถือเป็นศิลปะการขายขั้นสูงที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ พนักงานขายที่มีความรู้ความสามารถบวกกับประสบการณ์จะมีเทคนิคการจูงใจลูกค้าให้เข้ามาสนใจและนำพาไปสู่ action หรือคือการตัดสินใจซื้อในที่สุด

7. กลยุทธ์ข่าวสารและประชาสัมพันธ์ (Public Relation Strategy) จะช่วยอำนวยผลในเรื่องภาพลักษณ์และเพิ่มทัศนคติในเชิงบวกให้กับผลิตภัณฑ์

กลยุทธ์ข่าวสารเหมาะกับยุคโลกไร้พรมแดนอย่างในปัจจุบัน การสื่อสารคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ประตูความสำเร็จ เพราะสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองและชนบทถูกแวดล้อมไปด้วยสื่อต่างๆ มากมาย การใช้กลยุทธ์ข่าวสารเข้ามาเป็นทัพเสริมอีกแรงหนึ่งจะช่วยอำนวยผลในเรื่องภาพลักษณ์และเพิ่มทัศนคติในเชิงบวกให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย

8. กลยุทธ์การใช้พลัง (Power Strategy) พลังในที่นี้หมายถึงอำนาจในการต่อรองและควบคุม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการเนรมิตให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นและขาดเสียไม่ได้ในองค์ประกอบ P ส่วนสุดท้ายนี้ เพราะอำนาจต่อรองจะเป็นพลังพิเศษที่นำมาใช้ต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้าให้บริษัทได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันตามกรอบได้อย่างลงตัว


ข้อพึงตระหนัก กลยุทธ์การตลาด 8P ที่ได้กล่าวมานี้เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำการตลาด โดยอาจแตกต่างตรงที่บางผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ แต่บางผู้ประกอบการกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะที่ล้มเหลวไม่อาจสร้างองค์ประกอบทางกลยุทธ์ 8P ได้ครบตามวงจร ดังนั้นผู้ประกอบการที่สนใจจะใช้กลยุทธ์ 8P นี้ทำการตลาดให้ได้ผล ต้องเอาใจใส่ทุกรายละเอียดของกลยุทธ์แต่ละข้อ เพื่อสร้างสรรค์ตัว P ทั้งแปดให้เกิดขึ้นมาให้ได้

ปัจจัยการผลิต (Factors of Production)

ปัจจัยการผลิต (Factors of Production) หรือ ทรัพยากรการผลิต หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้ประกอบกันในการผลิตสินค้าและบริการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ
1. ที่ดิน รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เช่น น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ ความหมายของคำว่าที่ดิน ในทางเศรษฐศาสตร์จะกว้างกว่าที่ใช้ทั่วไป กล่าวคือ ในการผลิตภาคเกษตรใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ในภาคอุตสาหกรรมใช้ที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงานเก็บสินค้า แต่ที่ดินยังหมายความรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดเหนือดิน ภายในดิน และต่ำกว่าระดับพื้นดินด้วย เช่น น้ำ สัตว์น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ แร่ธาตุ เป็นต้น
2. ทุน รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้ในการผลิต หมายถึง สิ่งที่มนษย์สร้างขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อการผลิตสินค้าแบะบริการ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สินค้าทุน (capital goods) ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง เช่น โรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ เครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เครื่องจักรในโรงงาน เครื่องสูบน้ำ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก รถไถนา สัตว์ที่ใช้แรงงาน อุปกรณ์ต่างๆ วัตถุดิบ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กเส้น ไม้แปรรูป ยางแผ่น เม็ดพลาสติก ผัก ผลไม้ ที่จะนำมาประกอบหรือแปรรูป
สินค้าทุนเหล่านี้ถือว่าเป็น ทุนที่แท้จริง (real capital)
ทุนเป็นตัวเงิน หรือ เงินทุน (money capital) ในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่า เป็นเพียงสือกลางใช้แลกเปลี่ยน แต่ สินค้าทุน จะเป็นตัวบ่งชี้กำลังการผลิตที่เป็นจริงได้ดีกว่าเงินทุน ดังนั้นเงินทุนจึงไม่นับเป็นทุนในทางเศรษฐศาสตร์
ดอกเบี้ย (interest) เป็นผลตอบแทนของเจ้าของทุน เนื่องจากสินค้าทุนมีความยุ่งยากในการคำนวณผลตอบแทน จึงมักตีราคาเป็นตัวเงินก่อน และคำนวณหาผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเงินทุน
3. แรงงาน รวมถึงกำลังกายและกำลังความคิดของคนที่ใช้ในการผลิต หมายถึง ความสามารถทั้งกำลังกายและกำลังความคิด ตลอดจนความรู้ความชำนาญของมนุษย์ ที่ใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ไม่รวมถึงความสามารถในการประกอบการซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอีกประเภทหนึ่ง ที่จะกล่าวในลำดับต่อไป
ผู้ใช้แรงงานหรือเจ้าของแรงงาน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าแรงงาน จะได้รับ ค่าจ้าง (wages) เป็นผลตอบแทน
แรงงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1) แรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) เป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่าดี การปฏิบัติงานใช้กำลังความคิดมากกว่าใช้แรงกาย เช่น แพทย์ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น
2) แรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน มักทำงานโดยอาศัยกำลังกาย เช่น คนงานรับจ้างทั่วไป คนงานขนข้าวสารในโรงสี เป็นต้น
4. ผู้ประกอบการ (entrepreneur) คือ ผู้ที่นำที่ดิน แรงงาน และทุนมาดำเนินการผลิตสินค้า และบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิต สามารถคาคคะเนแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและกำลังการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด ใช้เทคนิคการผลิตแบบใด ผลิตแล้วจำหน่ายแก่ใคร ราคาต่อหน่วยเป็นเท่าใด จึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุด ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับการเสี่ยงในธุรกิจของตน ผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในรูปของ กำไร (profit)
ผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญมาในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ทีมีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ส่วนใหญ่มาจากการริเริ่มของผู้ประกอบการา ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium scales Entrepreneurs SMEs)


อ้างอิง
http://www.trueplookpanya.com/new/asktrueplookpanya/questiondetail/1096

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management หรือ KM)

การจัดการความรู้ หมายถึง กระบวนการในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทราบเข้าไปใช้ในการทำงาน  เพื่อทำให้องค์การมีการทำงานที่ดีขึ้นหรือมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น เช่น จากความรู้เป็นการกระทำ จากนวตกรรมไปสู่การเปลี่ยนแปลง

กระบวนการจัดการเรียนรู้ (Knowledge Process)
นักวิชาการทางด้านการจัดการความรู้แบ่งขั้นตอนกระบวนการจัดการความรู้แตกต่างกัน เช่น Turban et al (2004) แบ่งกระบวนการจัดการความรู้ไว้ 6 ขั้นตอน คือ
1) การสร้างความรู้
2) การกำหนดและรวบรวมความรู้
3) การนำไปสู่การปฏิบัติ
4) การจัดเก็บความรู้
5) การจัดการความรู้
6) การเผยแพร่

อย่างไรก็ตามกระบวนการสำคัญที่เรามักได้รับมักกล่าวถึง 3 ขั้นตอนหลัก  คือ
1. การสร้างความรู้  (Knowledge Creation ) หรือการแสวงหาความรู้ (Knowledg Acquisiton ) (Holsapple&Joshi 2001) เป็นกิจกรรมขององค์การที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาหรือสร้างความรู้ใหม่ขึ้น Brown & Dugaid (1998) กล่าวว่าความรู้จะเกิดขึ้นคนทำงานด้วยกันในกลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น โดยการสร้างความร่วมมือ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ Takeuchi&Nonaka(2004) ได้แบ่งรูปแบบการสร้างความรู้เป็น 4 ประเภท คือ
1) การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Socialzation)  คือ  การสร้างความรู้แบบไม่ชัดแจ้งเป็นความรู้แบบไม่ชัดแจ้ง โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฝึกอบรม และการแนะนำ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่างๆ
2) การปรับเปลี่ยนสู่ภายนอก (Externalization) คือ การพูดหรือบรรยายความรู้แบบไม่ชัดแจ้งเป็นความรู้แบบไม่ชัดแจ้ง โดยการใช้อุปมาอุปมัย การเปรียบเทียบ และการใช้ตัวแบบ เช่น การนำประสบการณ์จากการไปเห็นหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานเป็นจำนวนมาก แต่การใช้ประโยชน์ยังน้อยมาก จึงมีการเปรียบเทียบว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ที่มาประดับห้องทำงานเท่านั้น การเปรียบเทียบดังกล่าวช่วยทำให้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น
3) การปรับเปลี่ยนสู่ภายใน (Internalzation) คือ การสร้างความรู้แบบชัดแจ้งให้เป็นความรู้แบบไม่ชัดแจ้ง โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ศึกษาจากความรู้ที่ได้เขียนไว้ในคู่มือ เอกสาร เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้สูงขึ้น เช่น การซื้อตำราโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาฝึกฝนจนเกิดความชำนาญขึ้น
4) การผสมผสาน (Combination) คือ การสร้างความรู้แบบชัดแจ้งให้เป็นความรู้แบบชัดแจ้ง โดยการรวบรวมหรือบูรณาการองค์ความรู้ หรือสังเคราะห์ ความรู้ที่มีอยู่เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาเช่น การนำองค์ความรู้ของวิชาคอมพิวเตอร์มาผสมผสานกับความรู้ด้านองค์การและการจัดการเกิดเป็นองค์ความรู้ในวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

2. การประมวลความรู้
วัตถุประสงค์ของการประมวลความรู้ คือ การจัดความรู้ให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสะดวก นักวิชาการบางท่านจะเรียกขั้นตอนนี้ว่าเป็นการให้รหัส (Codify) ความรู้  เพื่อนำไปเก็บและนำมาใช้ใหม่ได้ในภายหลัง หลักการในการประมวลความรู้ที่สำคัญมี 3 ประการ คือ (Davenport &Prusak ,1998)
1) กำหนดขอบเขตและเนื้อหาของความรู้ที่ต้องการประมวล
2) กำหนดแหล่งที่มาของความรู้ดังกล่าว รวมทั้งระบุกลไกและสื่อสำหรับรวบรวมความรู้ เวลาและความถี่ในการประมวลและปรับปรุงให้ทันสมัย
3) ระบุวิธีการและเครื่องมือในการเข้าถึงและดึงความรู้ที่ได้ประมวล ความรู้แบบไม่ชัดแจ้งมักได้รับการประมวลและเก็บไว้ในความจำของบุคคล ส่วนความรู้แบบชัดแจ้งมักได้รับการประมวลและเก็บไว้ในเอกสารหรือแฟ้มการจัดการความรู้ขององค์การส่วนใหญ่เน้นที่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการรวบรวม เก็บ และดึงความรู้แบบชัดแจ้งขององค์การ

3. การใช้ความรู้  (Knowledge Utilization)
คุณค่าของความรู้อยู่ที่การนำไปใช้ (Fahey & Prusak,1998) โดยเฉพาะเมื่อมีการประยุกต์ความรู้เพื่อสร้างความสามารถและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ดังนั้น การสบับสนุนและการเพิ่มการใช้ความรู้จึงน่าจะเป็นส่วนที่ให้ความสำคัญขององค์การในการจัดการความรู้เมื่อมีการสร้างความรู้ และมีการประมวลความรู้แล้วความท้าทายอยู่ที่การประยุกต์ความรู้นั้นและการถ่ายโอนจากแหล่งที่สร้างความรู้ไปยังที่ที่ต้องการใช้ความรู้ดังกล่าว

ประเภทของความรู้มีผลต่ออัตราการถ่ายโอนความรู้เช่นเดียวกับกลไกในการถ่ายโอน โดยทั่วไปความรู้แบบไม่ชัดแจ้งมีอัตราการถ่ายโอนช้ากว่าความรู้แบบชัดแจ้งความรู้แบบไม่ชัดแจ้งจะถ่ายโอนได้ดีโดยการใช้รูปแบบของความร่วมมือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปฏิสัมพันธ์ของบุคคลอย่างต่อเนื่องส่วนความรู้แบบชัดแจ้งจะถ่ายโอนได้อย่างมีประสิทธิผลหากได้ใช้ช่องทางการติดต่อหรือการใช้ปฏิสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามการถ่ายโอนไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การดูดซับและใช้ความรู้ แต่การถ่ายโอนความรู้ที่มีประสิทธิผลจะเป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การใช้ความรู้

เป้าหมายของ KM
1) เพื่อพัฒนางาน ให้มีคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น
2) เพื่อพัฒนาคน คือ ผู้ปฏิบัติงาน
3) เพื่อพัฒนา “ฐานความรู้” ขององค์กรหรือหน่วยงาน เป็นการเพิ่มพูนทุนความรู้หรือทุนปัญญาขององค์กร ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรมีศักยภาพในการฟันฝ่าความยากลำบากหรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ดีขึ้น

ประโยชน์ของ KM
1) ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิต ให้กับทุกภาคส่วนขององค์กร
2) สร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้รวมถึงการส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเต็มที่
3) เพิ่มคุณภาพและลดรอบเวลาในการให้บริการ
4) ลดค่าใช้จ่าย โดยกำจัดกระบวนการที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับงาน
5) ให้ความสำคัญกับความรู้ของพนักงานและให้ค่าตอบแทนและรางวัลที่เหมาะสม

อ้างอิง
http://tak.dnp.go.th/Home_files/Division/dumri/km/km1.html