Monday 13 February 2017

สร้างระบบป้องกันหนี้สูญ กทบ. เถอะ...อย่าให้เจ้าหน้าที่ทวงหนี้เลย!

ข้อเสนอเพื่อการปรับระบบการเงินและบริหารจัดการเงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ร่วมกับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ต่อ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ) เมื่อวันอังคาร ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
-----------------------------------------------------------
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) เป็นนโยบายที่ดี นับว่าเป็นกองทุนที่เพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น โดยนำเงินทุนไปสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และบรรเทาค่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้บางส่วน งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้าน 

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เงินกองทุนได้หมุนเวียนสู่หมู่บ้านและชุมชน กระจายโอกาสการเข้าถึงเงินทุนชุมชนอย่างทั่วถึง ก่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและชุมชน โดยประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้กู้มีรายได้จากการประกอบกิจการในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอให้รายได้รวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโอกาสชำระหนี้ต่ำและค้างชำระหนี้กองทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่พอจ่าย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินงานของ กทบ. 

ทั้งนี้ กทบ. ก็ยังเป็นอีกกลไกหนึ่งหากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ของประเทศ การสนับสนุน กทบ. ที่มีความเข้มแข็งให้สามารถขยายการลงทุนประกอบกิจการในภาคเกษตรหรือลงทุนสร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน รวมถึงปรับปรุง กทบ. ที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี และบาง กทบ. ก็ได้รับการเพิ่มทุนหลายครั้ง และมีงบประมาณจำนวนมากกระจายสู่หมู่บ้านและชุมชน 

ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงสถานะที่แท้จริงของเงินกองทุนหมู่บ้านและหนี้ค้างชาระ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กทบ. ว่ามี กทบ. ใดที่ผลการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง มีผู้เสนอให้ตรวจสอบทุกบัญชีของ กทบ. ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึงระยะเวลาที่กำหนดภายใต้มาตรฐานและฐานข้อมูลเดียวกัน ปัญหา ก็คือ จะนำนักการบัญชีที่ไหนมาตรวจสอบหรือจะมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์มาดำเนินการก็สามารถกระทำได้ไม่ทั่วถึงเพราะบุคลากรน้อยและต้องดูแลการเงินของสหกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัด 

งาน กทบ. ในขณะนี้ หลายคนรู้สึกว่า กทบ. เปรียบเสมือนงานฝากให้กับหน่วยงานในระดับอำเภอ คือ คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ ซี่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจประจำอยู่แล้ว และคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอและตำบล ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของ กทบ.ในเขตพื้นที่อำเภอหรือตำบลนั้น ซึ่งเป็นประชาชนที่มีจิตอาสาที่มีภารกิจส่วนตัวที่เป็นกิจวัตรของตนเองเป็นประจำทุกวัน

หัวใจหลักของปัญหา คือ หนี้สูญที่ไม่สามารถควบคุม (loose control) ที่เกิดจากการไม่ได้ออกแบบการควบคุมและการบังคับ (enforce) ไม่ให้หนี้สูญ (Non-Performing Loan: NPL) มาตั้งแต่แรก เพราะเรามีความเชื่อว่า กลไกที่ได้จัดตั้งสามารถควบคุมได้ ได้แก่ 
๑. การประชุมประชาคมชาวบ้านเพื่อเลือกคณะกรรมการ กทบ. และรับรองกฎระเบียบ กทบ. และยังมีความเชื่อว่า ชาวบ้านมีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความโปร่งใส และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่าย กทบ. ระดับอำเภอและตำบลเพื่อเป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นวิธีการดีในตอนเริ่มจัดตั้ง แต่เมื่อขับเคลื่อนกิจการจะมีปัญหาถึงกับบางคนถือว่า ธุระไม่ใช่และหนีปัญหา
๒. ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงาน กทบ. ระดับอำเภอ โดยให้นายอำเภอเป็นประธาน และพัฒนาการอำเภอเป็นเลขานุการ สุดท้ายเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนต้องมารับภารกิจนี้อย่างเต็มตัว ในทางปฏิบัติจริง คือ ให้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้ประสานงาน และตรวจสอบเอกสาร  ยิ่ง กทบ.ที่เป็นนิติบุคคล สามารถกระทำนิติกรรมสัญญาทางด้านการเงินของตนเองได้ คือ ทำสัญญาเอง ตรวจสอบเอง อนุมัติเงินเอง โดยมี สทบ. เป็นผู้กำหนดนโยบายที่หน่วยงานระดับกรมฯดูเหมือนไม่เต็มใจที่จะรับภาระเพิ่ม ผลสุดท้ายตกมาอยู่กับหน่วยงานระดับอำเภอต้องรับภาระตามกฎหมายร่วมภารกิจประจำที่ต้องดำเนินการอยู่ทุกวัน สำหรับ กทบ. ที่มีความเข้มแข็งมาตั้งแต่ต้นไม่มีปัญหา แต่ทุก กทบ. จะมีความเสี่ยงเรื่องการจัดการทางด้านการเงินของตนเอง เพราะ ระบบบัญชี การบริหารจัดการที่ยึดติดตัวบุคคลไม่ได้ยึดติดกับระบบเหมือนสถาบันการเงินอย่างเช่น ธนาคารเป็นต้น เมื่อมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารธนาคาร ระบบการเงินก็ไม่กระทบ ไม่เหมือน กทบ. เมื่อสูญเสียผู้บริหารระบบบัญชีและการเงินจะรวนตามไปด้วย บาง กทบ. พยายามซุกซ่อนปัญหาของตนเอง ทำลายหลักฐานทางด้านการเงิน เพราะกรรมการเป็นหนี้เอง หรือยักยอกเงินชำระหนี้ของสมาชิก สุดท้าย ก็ต้องสั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยจัดการปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการนายอำเภอเป้นลำดับต่อไป นายอำเภอก็ต้องสั่งการพัฒนาการอำเภอและสั่งการต่อไปยังเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นผู้ติดตามตรวจสอบหนี้สูญที่ปัญหาหลักฐานถูกทำลาย ส่งผลให้งานพัฒนาชุมชนที่ต้องทำงานกับชาวบ้านต้องการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมก็กระทบไปด้วย เพราะแทนที่จะเป็นนักพัฒนาชุมชนกลายเป็นคนทวงหนี้ ทำให้ชาวบ้านตีจากงานพัฒนาชุมชนไม่เกิด

ปัญหาที่เกิดอยู่ที่เราไม่ได้ออกการควบคุมและการบังคมไม่ให้หนี้สูญมาตั้งแรกอย่างเป็นระบบ คือ การจะเบิกเงินเพื่อให้สมาชิกกู้ครั้งแรกเราผ่านธนาคารและให้สมาชิกเปิดบัญชีและกรรมการก็โอนเงินเข้าบัญชีสมาชิก แต่เวลาสมาชิกคืนเงินให้ผ่านกรรมการ โดยไม่ให้ชำระเองกับธนาคาร เป็นการเปิดช่องว่างให้กรรมการยักยอกเงิน และสมาชิกไม่มีความไว้วางใจกรรมการ ก็ไม่คืนเงิน กทบ. ก็ขับเคลื่อนต่อไม่ได้ 

ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาโดยรวม 

๑. ควรให้การเบิกและคืนเงินของสมาชิกผ่านธนาคารให้หมดไม่ว่า จะเป็นตอนเบิกหรือชำระเงินคืน ส่วนคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบสัญญาและโครงการ/กิจกรรมของสมาชิกที่จะดำเนินการเมื่อได้รับเงินกู้ อย่าให้ถือเงินเป็นอันขาด เงินจะต้องผ่านสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของสมาชิกเท่านั้น ยกเว้น เงินฝากสัจจะสะสมหรือเงินบัญชี ๒ ของ กทบ.

๒. สทบ. ควรมีเจ้าหน้าที่ของตนเองในระดับอำเภอตามสัดส่วนจำนวนของ กทบ.ในอำเภอนั้น ๆ เพื่อให้คำปรึกษา ตรวจสอบบัญชี หากจะมอบให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ควรมอบงานให้กับกรมการพัฒนาชุมชน และกรมฯก็ต้องสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านบัญชีมาประจำที่อำเภอ

๓. อย่าให้เจ้าหน้าที่ทวงหนี้ แต่สร้างระบบการจัดการเงินที่ไม่ยึดติดตัวบุคคล เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน (พัฒนากร) ไม่สามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านได้อีกต่อไป และจะเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการจัดการเงินของชาวบ้านและกระทำความผิดเสียเอง ประกอบกับปัจจุบัน พัฒนากร เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ถูกลิดรอนบทบาทหน้าที่โดยสถานการณ์ร่วมสมัยกับการพัฒนาชุมชนของประเทศที่มีปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ

ส่วนประเด็นที่คณะอนุกรรมการสนับสนุนอำเภอสุไหงโก-ลก
[ก]  และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือว่าเป็นคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านในระดับอำเภอด้วยกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเอง เป็นหน่วยจัดการความรู้ เพื่อบูรณาการการพัฒนา กทบ. ติดตาม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้งของกองทุนหมู่บ้าน รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านในระดับอำเภอให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด ตามระเบียบหรือวิธีการที่กำหนด รวมทั้ง การปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดมอบหมาย เพื่อให้ กทบ. สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ [๑]

แม้นว่า จะมีรายงานการศึกษากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ [ข]  ของคุณศิริขวัญ วิเชียรเพลิศ[๒] เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงาน กทบ. อยู่หลายประการ ในส่วนของคณะอนุกรรมการสนับสนุนอำเภอสุไหงโก-ลก และ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ได้มีความเห็นเพิ่มเติมด้านการบริหารจัดการของ กทบ.ว่า สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
๑) การบริหารจัดการองค์การ (Organization Management) และ
๒) การบริหารจัดการเงิน (Financial Management) 

ซึ่งหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบสนับสนุนระดับพื้นที่ ได้แก่

๑. คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธานอนุกรรมการ และในฐานะพัฒนาการอำเภอ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและขุมชนเมืองระดับอำเภอ ทำหน้าที่สนับสนุนให้ กทบ. ด้านการบริหารจัดการองค์การ ที่มีรูปแบบความคล้ายคลึงกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ที่เป็นต้นกำเนิดของ กทบ.

๒. ธนาคารออมสิน/ธกส. ในฐานะผู้จัดการหรือผู้แทนในพื้นที่ เป็นอนุกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ก็ต้องผ่านธนาคารใดธนาคารหนึ่ง จาก ๒ ธนาคารดังกล่าว สนับสนุนด้านการบริหารจัดการเงินของ กทบ. และสิ่งสำคัญที่ทำให้ กทบ. แตกต่างจากกลุ่ม/องค์กรประชาชนอื่น ๆ ก็คือ ความเป็นนิติบุคคลทางด้านการเงิน และสามารถเป็นสถาบันการเงินของชุมชนได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะสามารถทำหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตัวกลางทางการเงิน (Financial Intermediary) ของหมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งสามารถทำหน้าที่เป็นวาณิชธนกิจ (Investment Banking)  และทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ในนามของ กทบ. เองได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและตอบโจทย์ รายงานการศึกษากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ปี ๒๕๕๘ ของคุณศิริขวัญ วิเชียรเพลิศ โดยสมควรให้ สทบ. กำหนดแนวทางและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ คือ คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ ธนาคารออมสิน/ธกส. โดยผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ธนาคารออมสิน/ธกส. สำนักงานใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑) คณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ และเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควรดูแล ให้การสนับสนุน ตรวจสอบติดตาม ด้านการบริหารจัดการองค์การของ กทบ.ทุกกองทุน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่า ระบบ กทบ. มีความสำคัญมากกว่าเงิน จำนวน ๑ ล้านบาท และรวมทั้งเงินที่เพิ่มทุนอีกด้วย เพราะความเป็นนิติบุคคลของ กทบ. สามารถเป็นสถาบันการเงินของชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยมีกฎหมายรองรับ ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชน สามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ด้วยตนเอง และไม่มีกฎหมายอื่น ๆ ในลักษณะนี้ของกลุ่ม/องค์กรประชาชนอื่น ๆ จึงสมควรให้ใช้กฎหมายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้าน/ชุมชน แม้บางกองทุนยังมีปัญหาด้าน
 NPL ที่เกิดจากความเข้าใจและการบริหารจัดการเงินที่ผิดพลาดมาก่อน โดยเน้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการตัดสินใจกู้เงิน กทบ. จำเป็นต้องคำนึงถึงความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กำหนดให้เป็นภารกิจหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หรือเป็น Performance Agreement (PA) ไม่ใช่ภารกิจรองที่ทำงานแบบไม่มีตัวชี้วัดและรับทราบความเคลื่อนไหวของ กทบ. มาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ให้ติดตามหนี้ ตอนที่มีปัญหา โดยเฉพาะ กทบ. ที่หลักฐานสูญหายหรือถูกทำลาย แต่ทั้งหมดจะแก้ปัญหาได้ หากได้เชื่อมระบบบัญชีออนไลน์กับธนาคาร

๒) กรมการพัฒนาชุมชน เห็นควรบูรณาการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและกองทุนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการพัฒนาชุมชนกับ กทบ. โดยให้ใช้กฎหมาย กทบ. ในการบริหารจัดการองค์การและการบริหารจัดการเงินโดยผ่านระบบธนาคารออมสิน/ธกส. หรือธนาคารอื่น ๆ ทุกสาขา ที่เห็นว่าเหมาะสม เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคน สามารถดำเนินการสนับสนุนประชาชนให้กับทุกกองทุนในชุมชนและสามารถถือเป็นภารกิจหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนด้วย และจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการของกองทุนต่าง
  ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้สมาชิกทุกกองทุนเกิดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินของตนเอง ให้มีน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มาบูรณาการบริหารจัดการเชิงคุณธรรม[๓] ร่วมกับการบริหารจัดการทางการเงินเชิงประจักษ์และเป็นระบบของธนาคาร ปัจจุบัน กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดให้หมู่บ้านที่มีความพร้อมจัดตั้ง “สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน” โดยบูรณาการการบริหารจัดการเงินของกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และ ธนาคารออมสิน ได้กำหนดให้ กทบ. ที่มีความพร้อมเป็น สถาบันการเงินชุมชน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เชื่อมโยงสถาบันเหล่านี้ กับระบบบัญชีออนไลน์ของธนาคาร

๓) ธนาคารออมสิน/ธกส. สำนักงานใหญ่ เห็นควรจัดทำบัญชีออนไลน์และมอบหมายให้ ธนาคารออมสิน/ธกส. ทุกสาขา ที่มีบัญชี กทบ. ให้บริการบัญชีออนไลน์ให้คณะกรรมการ กทบ.ทุกคน เพราะปัจจุบันสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมเกือบทุกหมู่บ้านหรือมาใช้บริการอินเทอร์เน็ตของสำนักงานต่าง ๆ ของอำเภอก็ยังได้ อีกทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของ กทบ. ด้วยแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนได้ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิเช่น สทบ. กรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด/อำเภอ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ของธนาคารเอง และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถดูข้อมูลความเคลื่อนไหวของ กทบ.ทุกกองทุนและทุกเวลา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุน ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล กทบ. ทุกกองทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งรับชำระคืนเงินกู้และเงินฝากจากสมาชิกผู้กู้โดยตรง หากสมาชิกผู้กู้นั้น ๆ เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กทบ. อันจะส่งผลต่อการป้องกันความเสี่ยงหรือความสูญหายหรือชำรุดของหลักฐานต่าง ๆ ของ กทบ. สร้างภูมิคุ้มกันอย่างมีเหตุผล อีกทั้ง ลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสาร การเดินทาง เพราะสามารถดูได้จากระบบออนไลน์ของธนาคาร และธนาคารเองก็จะเป็นตัวกลางในการระดมเงินออมจากผู้ออมไปสู่ผู้ลงทุนอื่น ๆ อีกทางหนึ่งด้วย
 นำไปสู่การเกิดความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ และสามารถใช้ระบบบริหารจัดการเงินแบบออนไลน์กำกับดูแลเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การมีเสถียรภาพในแง่ความมั่นคงของสถาบันการเงินแต่ละแห่งและของระบบการเงินโดยรวม[๔] ทำให้รัฐบาลสามารถใช้ กทบ. เป็นแหล่งทุนอย่างพอประมาณเพื่อกระจายรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างสะดวกและเชื่อมั่นในระบบการนำไปสู่การปฏิบัติของนโยบายการเงิน (Financial Policy Implementation) ของเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เกี่ยวข้อง หากจะมีการพิจารณาเพิ่มเงินทุนให้กับ กทบ. ในระยะต่อไป สามารถพิจารณารายละเอียดผลการดำเนินการในทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจน หรือกำหนดเป็นมาตรการและแนวทางการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมได้อย่างสะดวกและเกิดประสิทธิผล อาทิเช่น การสนับสนุนให้เงินเพิ่มทุนเฉพาะ กทบ. ที่มีผลการดำเนินงานในระดับดี และหากมี กทบ. ใดมีผลการดำเนินงานต่ำกว่ามาตรฐานก็สามารถให้แก้ปัญหาหรือปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ได้ก่อนที่จะเพิ่มทุน เพื่อไม่ให้เงินงบประมาณสูญเปล่าและเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวเกิดความคุ้มค่าและประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง ซึ่งรู้ได้ทันทีและรวดเร็ว ปัจจุบัน ธนาคารออมสิน ได้สนับสนุนโปรแกรมการบริหารจัดการเงินให้กับ กทบ. เป็นระบบออฟไลน์ และ ธกส. มีโปรแกรมการบริหารจัดการเงินให้กับ กทบ. เป็นระบบออนไลน์ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องการให้ทั้ง ๒ รูปแบบเชื่อมกับระบบบัญชีธนาคารและ กทบ. สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคาร

ฉะนั้น ระบบการเงินและการบริหารการเงิน กทบ. และกองทุนอื่น ๆ ของหมู่บ้าน/ชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบธนาคารมาใช้ เพราะ “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะเงินเป็นตัวกำหนดค่าในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการ เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน เป็นหน่วยวัดมูลค่า และการเงินยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ การจัดการทางการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญต่อระบบการเงินและการบริหารจัดการเงินของทุกองค์กร ทั้งนี้ โครงสร้างการบริหารจัดการของทุกองค์กรจะต้องมีการวางระบบการเงินและการบริหารจัดการเงินไว้เป็นหลักสำคัญ เพราะถือว่าการเงินเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการหรือส่งผลต่อธุรกิจต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเกี่ยวกับการหมุนเวียนของเงินที่มีอยู่หลายรูปแบบ และรวมถึงวิเคราะห์การหมุนเวียนของเงินที่มีผลต่อองค์กรทั้งด้านดีหรือมีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร เพื่อนำมาหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป ระบบการเงินและการบริหารจัดการเงินก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ๓ เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ การเงินและตลาดทุน ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของการลงทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ เรื่องที่สองได้แก่ การลงทุน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และการวิเคราะห์การลงทุน และเรื่องสุดท้ายได้แก่ การบริหารจัดการเงิน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการเงิน นั้นเอง

นอกจากนี้ จะเป็นการลดปัญหา กทบ. เอง อาทิเช่น ๑) การใช้เวลาทำสัญญาเงินกู้นานเกินไป ๒) สัญญาเงินกู้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกขอกู้มากแต่เวลาทำสัญญาน้อย ๓) ระบบการฝากเงินมีความผิดพลาดได้ง่าย ๔) ขาดระบบสำรองข้อมูล จัดการเอกสาร และรายงานต่าง ๆ ๕) การคำนวณเงินปันผลกำไรใช้ระยะเวลานานและมีความผิดพลาดได้ง่าย เนื่องจากจำนวนตัวเลขมาก ๖) คณะกรรมการ กทบ. อาทิเช่น เลขานุการ เหรัญญิก กรรมการที่เข้ามาใหม่ การรับส่งมอบงาน ไม่ต้องปวดหัวและสับสนเรื่องเอกสาร เพราะจะมีระบบออนไลน์หรือโปรแกรมจะบันทึก แบบฟอร์มการกู้ไว้หมด มีระบบล็อกอินป้องกันการแก้ไข ระบบกำหนดรหัสผู้ใช้ พิมพ์รายงาน พิมพ์รายการรับ รายการจ่าย ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทำการเชื่อมระบบไปยังตำบล อำเภอ จังหวัดได้ตามต้องการ บนระบบการส่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตหรือออนไลน์ ลดการจ้างหรือใช้คนทำงานเพิ่ม เรียกเมนูขึ้นทำงานได้ทันที มีระบบตรวจสอบความซ้ำซ้อน ประหยัดเวลา รวดเร็ว ถูกต้อง ง่าย สะดวก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้ กทบ. ไม่ติดตัวบุคคล แต่จะติดระบบแทน ไม่ว่าใครจะมาเป็นคณะกรรมการ แล้วก็ออกไป หรือเข้ามาใหม่ แต่หลักฐานต่าง ๆ จะไม่ตามตัวบุคคลและสูญหาย หรือถูกกลั่นแกล้งซุกซ่อน

ข้อเสนอเพื่อการปรับระบบการเงินและบริหารจัดการเงินของ กทบ. ของคณะะอนุกรรมการสนับสนุนฯอำเภอสุไหงโก-ลก และ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ทั้ง ๓ ประเด็นข้างต้น เป็นแรงบันดาลใจที่เกิดจากประสบการณ์การสนับสนุน กทบ. ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของ กทบ. ทั้งแง่บวกและลบมาโดยตลอด ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ดี หากการบริการจัดการ กทบ. มีประสิทธิภาพ ซึ่งปีนี้ รัฐบาลปัจจุบัน ก็ได้กำหนดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายตำบลละ ๕ ล้านบาท และโครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามมาตรการสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีการสนับสนุนให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามโครงการฯ โดยธนาคารออมสินและ ธกส. หากได้มีการปรับระบบการเงินและบริหารจัดการเงินของ กทบ. เป็นระบบออนไลน์เชื่อมกับระบบธนาคารมาแทนที่ระบบเอกสารหรือระบบออฟไลน์แล้ว ประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจุลภาคหรือภาคครัวเรือนของชาติ อีกทั้ง กทบ. ก็จะเป็นเครื่องมือในการกระจายโอกาสให้แก่คนที่มีฐานะยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ โดยสนับสนุนให้มีโอกาสในการเข้าร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาสังคมด้วยภูมิปัญญาของตนเอง ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น สุดท้ายคณะกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอและเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ยินดีที่จะน้อมรับและเป็นอำเภอนำร่องในการใช้ระบบบัญชีออนไลน์กับทุกกองทุนเชื่อมกับระบบบัญชีธนาคารออมสิน/ธกส. หาก สทบ. กรมการพัฒนาชุมชน ธนาคารออมสิน/ธกส. เห็นชอบ

-------------------------------------------------------------------------------

ผู้ให้ความเห็นชอบ นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก
ประธานอนุกรรมการสนับสนุนอำเภอสุไหงโก-ลก

ผู้นำเสนอข้อมูลเนื้อหา นายอำนวย อนุพันธ์ อนุกรรมการสนับสนุนอำเภอสุไหงโก-ลก
ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก/จังหวัดนราธิวาส
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 

ผู้เรียบเรียงข้อมูลเนื้อหา  นายมหามะบักรี ลือบาฮางุ พัฒนาการอำเภอสุไหงโก-ลก
อนุกรรมการและเลขานุการ ในคณะอนุกรรมการสนับสนุนอำเภอสุไหงโก-ลก
โทร. ๐๘ ๑๕๔๐ ๕๗๗๕ Line ID: mybugree



[๑] วัตถุประสงค์ กทบ. เพื่อ 
๑) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย บรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน 
๒) ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถจัดระบบเงินและบริหารจัดการเงินกองทุน 
๓) เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง 
๔) กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต 
๕) เกิดศักยภาพ ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

[๒] ศิริขวัญ วิเชียรเพลิศ นักวิเคราะห์งบประมาณปฏิบัติการ รายงานการศึกษากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมกราคม ๒๕๕๘  
และ รายงานวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กันยายน ๒๕๕๙
โทร. ๐๒ ๒๔๔ ๒๒๒๒ โทรสาร ๐๒ ๒๔๔ ๒๐๘๘ http://www.parliament.go.th

[๓] หลักการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ จะต้องบริหารจัดการอยู่ภายใต้คุณธรรม ๕ ประการ คือ 
๑) ความซื่อสัตย์ 
๒) ความเสียสละ 
๓) ความรับผิดชอบ 
๔) ความเห็นอกเห็นใจกัน 
๕) ความไว้วางใจกัน

[๔] การมีเสถียรภาพและความมั่นคงระบบการเงินของสถาบันการเงินแต่ละแห่งโดยรวมภายใต้หลักการ ๕ ด้าน ได้แก่
๑. ​​​​​​​​​ดูแลให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง และมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี (Prudent) 
๒. ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ (Efficiency) 
๓. ดูแลให้สถาบันการเงินมีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) 
๔. ให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมต่อลูกค้าและประชาชน (Fair and Customer Protection) 
๕. กำกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) ​



[ก] ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแหงชาติ ว่าด้วย การจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑
ข้อ ๑๖ ให้มีคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอ เป็นประธาน ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มหรือฝ่ายบริหารงานปกครอง เป็นรองประธาน ปลัดเทศบาลหรือปลัดเมืองพัทยา ท้องถิ่นอำเภอ เกษตรอำเภอ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ผู้แทนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรประชาชน และอื่น ๆ จำนวนห้าคน ผู้แทนคณะกรรมการ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอจำนวนห้าคน เป็นอนุกรรมการ พัฒนาการอำเภอ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจำนวนหนึ่งคน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้ประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กร ประชาชนและอื่น ๆ จำนวนห้าคน สำหรับผู้แทนคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ จำนวนห้าคน ให้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านเลือกกันเอง แล้วเสนอชื่อต่อประธานคณะอนุกรรมการ สนับสนุนระดับอำเภอ เพื่อออกคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

ให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 
(๑) สนับสนุนการเตรียมความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านในอำเภอด้วยกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเอง 
(๒) จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนยุทธศาสตร์ แผนงานงบประมาณกองทุนหมู่บ้านของจังหวัด 
(๓) จัดทำแผนงานและโครงการเพื่อบูรณาการการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน 
(๔) เป็นหน่วยจัดการความรู้ เพื่อบรณาการการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน 
(๕) ติดตาม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำการแก้ไขปัญหา ข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้งของกองทุนหมู่บ้าน 
(๖) รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านในอำเภอให้คณะอนุกรรมการสนับสนุน ระดับจังหวัด ตามระเบียบหรือวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด 
(๗) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดมอบหมาย

[ข] สรุปจากการศึกษาของ คุณศิริขวัญ วิเชียรเพลิศ ว่า กทบ. ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานและการบริหารจัดการ กล่าวคือ  
(๑) ปัญหาวงเงินกู้ที่สมาชิกได้รับไม่เพียงพอและขนาดของเงินทุนน้อยเกินไป โดยจำนวนเงินที่จะนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในการสร้างอาชีพเพื่อนำมาสู่รายได้ของครัวเรือนยังไม่เพียงพอกับความจำเป็นที่ต้องใช้จริงที่จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้กู้เงินกองทุนหมู่บ้านฯ นำเงินกู้ไปใช้ด้านอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กู้กองทุนหมู่บ้านฯ นำเงินไปใช้ในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสร้างภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น 
(๒) ปัญหาด้านกระบวนการ เนื่องจากไม่มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพในการติดตามควบคุมดูแลโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินกู้ถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาการกู้หนี้นอกระบบเพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ เกิดการก่อหนี้ซ้ำซ้อนและต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 
(๓) ปัญหาหนี้ค้างชำระและเงินขาดบัญชีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การไม่สามารถรายงานข้อมูลทางการเงินและผลการดำเนินงานได้ การจัดทำหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชีไม่ได้มาตรฐาน การจัดเก็บข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงาน/งบการเงิน ทำให้ปัจจุบัน กทบ. ส่วนใหญ่มีหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถบริหารจัดการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้คืนได้ (Non-Performing Loan : NPL) มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงหรือแผ่ขยายเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน อาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต่อชุมชนจากผลกระทบของหนี้สินในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขาดสภาพคล่องของกองทุนหมู่บ้านและเป็นสาเหตุให้กองทุนหมู่บ้านต้องหยุดดำเนินกิจกรรม แต่เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ดี เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น คนที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้าประกันสามารถกู้เงินได้ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาภาระหนี้นอกระบบและทาให้คนที่เป็นหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น หากกองทุนหมู่บ้านสามารถเดินหน้าต่อไปได้และดำเนินงานได้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกองทุน จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในระดับฐานราก ขณะเดียวกันการใช้จ่ายเงินงบประมาณจะไม่สูญเปล่าก่อให้เกิดความคุ้มค่า และประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง

ฉะนั้น กองทุนหมู่บ้านต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากขึ้น และติดตามการใช้จ่ายเงินของผู้กู้อย่างต่อเนื่องว่าผู้กู้นำเงินไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้เสียหรือประสบปัญหาหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ขาดกลไกในการฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก เมื่อสมาชิกได้เงินไปแล้ว บางส่วนนำมาใช้บรรเทาหนี้นอกระบบและไม่สามารถหารายได้เพิ่ม ต้องไปกู้หนี้นอกระบบเพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ เกิดการก่อหนี้ซ้ำซ้อนและต่อเนื่องเพิ่มขึ้น การศึกษาของคุณศิริขวัญ วิเชียรเพลิศ มีข้อเสนอแนะโดยภาพรวมเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของ กทบ. ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากเดิมอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะระบบการเงินและบริหารการเงิน เห็นสมควรดำเนินการโดยสรุป คือ
๑. ควรประชาสัมพันธ์ กฎ ระเบียบ และเปิดเผยข้อมูลกองทุน เช่น อัตราดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทน ผลการดำเนินงาน งบการเงิน โครงสร้างการบริหารงาน เป็นต้น
๒. จัดอบรมให้ความรู้กับคณะกรรมการหมู่บ้านด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ การจัดทาบัญชี และรายงานทางการเงินให้ได้มาตรฐาน
๓. สทบ. ควรรวบรวมข้อมูลกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศเพื่อจัดทารายงานประจำปีเผยแพร่ผลการดำเนินงานของกองทุน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถติดตามผลการดำเนินงานได้
๔. ทบทวนและปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลและจัดทาฐานข้อมูล รวมถึงผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง ต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน โดยกาหนดระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งมอบเอกสารหลักฐานการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านให้เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งกาหนดระยะเวลาของการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการเงินและผลดำเนินงานให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบถึง อุปสรรค ปัญหา และข้อจากัดต่าง ๆ นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
๕. เนื่องจากอาจจะมีการปล่อยเงินกู้อย่างหละหลวม อาจทาให้เงินงบประมาณในบัญชีที่ ๑ และ ๒ ค้างชำระเป็นจานวนมาก เป็นสาเหตุทาให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านไม่มีความโปร่งใสหรือเกิดช่องว่างที่นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบและเกิดการทุจริตขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะการนำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน อาจทำให้เกิด Moral hazard ระบาดเป็นวงกว้างได้ และต้องมีการตรวจสอบผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนและประเมินผลการดำเนินงานจัดอันดับคุณภาพการบริหารจัดการของกองทุนแต่ละกองทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของกองทุน
๖.กรณีที่กองทุนไม่สามารถรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานและหลักฐานทางการเงินต่าง ๆ ให้สามารถตรวจสอบได้ ต้องจัดให้มีการสอบบัญชี กทบ. อย่างทั่วถึงทุกกองทุนและต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ทราบว่ามี กทบ. ใดที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงาน ไม่มีการดำเนินกิจกรรมมาเป็นระยะเวลานานหรือไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการกองทุนให้ดำเนินการเป็นไปตามข้อกาหนดในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เกี่ยวกับการยุบ รวม หรือเลิกกองทุนหมู่บ้านเพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายของเงินงบประมาณกองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินงานผิดไปจากวัตถุประสงค์ของกองทุน
๗. สนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ของรัฐ ให้กู้ยืมเพื่อขยายการลงทุนแก่กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านนาเงินไปต่อยอดสาหรับให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อนาเงินไปลงทุนสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในครัวเรือน และใช้จ่ายฉุกเฉิน ซึ่งจะทาให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาใช้บริการและอยู่ในระบบมากขึ้น โดยรัฐบาลควรกาหนดกรอบวงเงิน ระยะเวลาการให้สินเชื่อและระยะเวลาชาระคืนที่ชัดเจน รวมถึงกาหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมหรือเป็นอัตราพิเศษให้ต่ำกว่าการให้สินเชื่อทั่วไปเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านสามารถบริหารจัดการเงินทุนให้เติบโตและไม่สร้างภาระดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไปแก่สมาชิก ตลอดจนเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนต้นทุนต่ำสร้างชุมชนให้พึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงมากกว่าเป็นกองทุนที่เน้นการหากาไรให้เงินทุนงอกเงยแต่ขาดการช่วยเหลือและเรียนรู้ของชุมชน นอกจากนี้ควรปรับหลักเกณฑ์/ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามหลักการกู้ยืม (กองทุนหมู่บ้านตามหลักศาสนาอิสลาม) เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกพื้นที่ของประเทศ
๘. ควรปรับปรุงการบริหารจัดการและการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้าน และ สทบ. ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบัญชีและระบบการบริหารจัดการเงินควรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดเก็บข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลต้องมีความครบถ้วน ถูกต้อง ต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน ปรับปรุงแก้ไขและเร่งรัดกระบวนการสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ทั่วถึงทุกกองทุน และต่อเนื่องทุกปี รวมถึงผลักดันกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้ครบทุกแห่ง ทั้งนี้ อาจให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่เมืองและชุมชน เช่น ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เข้าไปช่วยเหลือบริหารจัดการ ให้คำแนะนำ เพื่อแก้ไขการทาบัญชีและแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนหมู่บ้านในกลุ่มที่ได้รับการประเมินศักยภาพในระดับควรปรับปรุง (D) อย่างใกล้ชิด 

No comments:

Post a Comment