Friday, 24 February 2017

๖๙ คำสอนของในหลวง ‘ครองแผ่นดินโดยธรรม’

๑.  “…ถ้าประชาชนไม่ละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนอย่างไรได้...” ความตั้ง   พระราชหฤทัยในการดูแล อาณาประชาราษฎร์ มีมาตั้งแต่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ ดังพระราชบันทึกเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2489 จากบทพระราชนิพนธ์   เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ (จากหนังสือ ‘ความรักของพ่อ’ หน้า 117) นอกจากนี้มีความตอนหนึ่งจาก พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีไปถึงพระสหายในต่างประเทศภายหลังจากที่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติว่า “เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การทำงานที่นี่ว่า... ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั้นคือคนไทยทั้งปวง” (จากหนังสือ ‘ความรักของพ่อ’หน้า 178)

๒. “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระปฐมบรมราชโองการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นพระปฐมบรมราชโองการที่มีชื่อเสียงที่สุด และการเวลาได้พิสูจน์ว่าทรงทำตามที่ทรงสัญญาไว้กับพสกนิกรทุกประการ

๓. “…การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบ     ปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทอง หลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้… ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่    25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506

๔. “…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์    จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2529 และจากโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริที่ได้ดำเนินแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศตามภูมิสังคม  อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อฉลองพระชนมายุครบ 80 และ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จ  พระเจ้าอยู่หัว ให้ดำเนินการจัดตั้ง ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ’ และ ‘สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ’ เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมไทย

๕. “…ข้อสังเกตที่ประทับใจข้าพเจ้า ในระหว่างที่อยู่ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ (หลังเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ) ข้อหนึ่งนั้นก็คือประเทศไหน ประชาชนพลเมืองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัยดี ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี ยิ่งมีความสมัครสมานกลมเกลียวกันมากก็ยิ่งเจริญมาก...   ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความพัฒนาถาวร...”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม          เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2504

๖. “…ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิตเลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้นมิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆฝ่าย ทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีตรวจพลสวนสนามเนื่องในโอกาส พระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514

๗. “…ความสามัคคีนั้นอาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกันความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกันความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือแต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุขมีเป็นปึกแผ่น...”
พระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2517

๘. “…สามัคคีนี้ก็คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทำงานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน        และไม่ทำลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม...”
พระราชดำรัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2519  

๙. “…คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะและถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญความมั่นคง ความสุขก็ทำสิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2519

๑๐. “…การที่ในประเทศใดมีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคนไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะในประเทศชาติเพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์   ทุกคนต้องการความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2537

๑๑. “…ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้ให้งาน ที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตใจและด้วยความตั้งใจที่จะแผ่ความรู้แผ่ความสามารถด้วยจริงใจไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆ ก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่ โดยเต็มที่...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๑๒. “…มานึกดูว่า ในเมืองไทยนี้ การปกครองบ้านเมืองก็ทำมาคล้ายเป็นตำรามาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ใช้ตำราต่างประเทศมากเท่าไรเลย ที่เมืองไทยเราอยู่มาได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะใช้ตำราของเราเอง เรามีวิธีปกครองหลายวิธี...หลายประเทศในโลกมีนิสัยใจคอของตัวมีความเป็นประเทศของตัวมาช้านานแล้ว... การปกครองของเมืองไทยเราก็ไม่ใช่ว่าจะต้องหยุดนิ่งคงเดิมอยู่เสมอ ต้องเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผล...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอล ‘ส.ส. มหากุศล’        ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2512

๑๓. “…ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2514 (จาก http://news.ch7.com)

๑๔. “… คนไทยรักษาชาติ รักษาแผ่นดินเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ด้วยสติปัญญาความสามารถและด้วยคุณงามความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้   เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทย ไว้ให้มั่นคงตลอดไป ...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธี   เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2521

๑๕. “...รัฐก็คือประเทศชาติส่วนกลาง และมนตรีของรัฐนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ของรัฐ เป็นผู้ที่สามารถที่จะรับความรู้และนำความรู้นั้นมาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้นอกจากจะมีความตั้งใจมั่นแล้ว ก็ต้องมีความตั้งใจตามที่ได้ปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์สุจริต ซื่อสัตย์สุจริตนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าหากว่าแต่ละคนมีความตั้งใจแล้ว แต่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน จะเปะปะไปทางโน้นที ทางนี้ที ไม่มีทางที่จะสำเร็จในงานการใดๆ...”
พระราชดำรัสในโอกาสที่ พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี          เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2526

๑๖. “....พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุข สูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างใด เพียงใด    ก็ได้ผลอย่างนั้น เพียงนั้น...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2513
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงน้อมนำเอาหลักศาสนามาอยู่ในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเสมอๆ เพราะมีพระราชศรัทธาปสาทะอันแน่วแน่มั่นคงในบวรพุทธศาสนา โดยได้เสด็จออกทรงพระผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ในระหว่างนั้น ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกได้ทรงกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ...
“ทรงปฏิบัติพระองค์ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมของพระพุทธศาสนา มีราชธรรม ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาและทรงนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นการส่วนพระองค์ในโอกาสต่างๆ และบำรุงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมากมิได้ขาด ส่วนในด้านหน้าที่ราชการนั้น ก็ทรงปฏิบัติ             พระราชกรณียกิจทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณีโดยมิได้ขาดตกบกพร่อง เช่น พระราชกรณียกิจ              เนื่องในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ ในการเอื้ออำนวยแก่การปกครองคณะสงฆ์และเชิดชูผู้ทรงศีลทรงธรรมให้เป็นที่ปรากฏ ตลอดถึงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ การสั่งสอน และการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

๑๗. “...ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2518

๑๘. “...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม      พ.ศ.2502

๑๙. “...ประเทศ หรือสังคมจะอยู่ได้ก็เพราะมีผู้ที่ให้คือ ในหมู่มนุษย์ต้องมีพวกที่ให้ และพวกที่รับ พวกที่ให้สำคัญที่สุด ได้แก่ บิดา มารดา ต่อมาก็มีครูบาอาจารย์ ผู้ที่ให้นั้น เพราะได้รับก่อนจึงให้ได้ ทุกคนเกิดมาได้ก็เพราะได้รับการกำเนิดจากบิดามารดา ได้มาเป็นครูบาอาจารย์ ก็เพราะได้รับวิชาความรู้       ตกทอดลงมา...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ศึกษาธิการจังหวัดและผู้ตรวจการศึกษา ทั่วราชอาณาจักร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2511

๒๐. “...เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ... ถ้าหากว่าในด้านไหนก็ตาม เวลาไปปฏิบัติให้ถือว่าเราเป็นนักเรียน ชาวบ้านเป็นครู หรือ ‘ธรรมชาติเป็นครู’ การที่ท่านทั้งหลายจะออกไป ก็จะไปหลายๆด้าน... ก็จะต้องเข้าใจว่า เราอาจจะเอาความรู้ไปให้เขา แต่ก็ต้องนับถือความรู้ของเขาด้วย จึงจะมีความสำเร็จ...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น     ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัด สกลนคร เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2528
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยในเรื่องการถ่ายทอดวิชาการ การศึกษา ผู้ให้ และผู้รับ ดังพระบรมราโชวาทข้างต้น ทรงมีกตัญญูกตเวทิตา ต่อพระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี     และพระอาจารย์ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประชาธิปไตย             ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งสาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น และร่วมกันทำงานโดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชนด้วย

๒๑. “...ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวก็ดี หรือมีหน้าที่ประสานความเข้าใจ ระหว่างคนหลายชาติหลายชั้นก็ดี ควรสำนึกอยู่เสมอว่า งานของเขาเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง เพราะหมายถึงความรับผิดชอบ  อันยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสร้างสันติสุขให้แก่โลก การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดง่ายๆ เพียงนิดเดียว  ก็สามารถทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ ด้วยความยากลำบาก เป็นเวลาแรมปี หากจะแก้ตัวว่าการพูดพล่อยๆ เพียงสองสามคำนี้ เป็นเรื่องเล็กไม่น่าจะเก็บมาถือเป็นเรื่องใหญ่เลยก็ไม่ถูก เหมือนฟองอากาศนิดเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือด ก็จะสามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน และน้ำตาลหวานๆ ก้อนเล็กนิดเดียวถ้าใส่ลงไปในถังน้ำมันรถ ก็จะทำให้เครื่องจักรดีๆ ของรถเสียได้โดยสิ้นเชิง...”
พระราชดำรัสในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิแตนระหว่างเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2510
อนึ่ง...เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสการมีสิทธิเสรีภาพ และการเสนอข่าวสารข้อมูลไว้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

๒๒. “...การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและ   ความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึง  สวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยากจะทำสังคมและ      ชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง ...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแถลงการณ์ สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.) เรื่อง ‘การใช้เสรีภาพเพื่อการปรองดองสมานฉันท์’ เนื่องในวันนักข่าว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2520

๒๓. “...จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตจิตใจ        ทั้งประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำเป็นต้องฝึกหัดอบรม และสนับสนุนส่งเสริมกัน อย่างจริงจัง สม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งเพื่อให้สามารถรักษาตัว และมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยความผาสุก สงบ...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการสัมมนา ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศ เรื่องการพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2516

๒๔. “...ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไปถ้ามีชีวิตที่ลำบากไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไม่เจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข็มแข็ง   ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆนั้นได้...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียน       ราชวินิต เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2518

๒๕. “...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคม       ที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดี พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นผู้แต่งสร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ...”
พระบรมราโชวาทในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2522

๒๖. “...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติอยู่ที่สี่ประการ “ประการแรก คือ    การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เป็นธรรม    “ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตัวเอง ฝึกตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น     “ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่ไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด “ประการที่สี่ คือ การรู้จักระวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้Zของตนเอง เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนา ให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป ได้ดังประสงค์....”
พระราชดำรัสในพิธีบวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525

๒๗. “...หลักของคุณธรรมคือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้อง   หยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่วช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด   ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่            10 กรกฎาคม พ.ศ.2535

๒๘. “...ท่านเป็นผู้ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎรในท้องที่ของท่านมาอย่างใกล้ชิด ย่อมเข้าถึงจิตใจและความต้องการของเขาเหล่านั้นได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกล ราษฎรย่อมจะต้องหวังพึ่งท่าน เมืองมีความเดือดร้อน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของเขาให้มาก และ  ทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งแก่เขาสมกับที่เขาได้ไว้วางใจเลือกท่านมาเป็นหัวหน้า จงพยายามบำเพ็ญตนให้    สมกับตัวอักษรที่ตราหน้าหมวกเครื่องแบบของท่านที่ว่า ...ระงับทุกข์บำรุงสุข...”
พระราชดำรัสที่พระราชทานในการอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2505

๒๙. “...การนำความเจริญการพัฒนาไปสู่ชนบท หมายถึงไปสู่ประชาชนในชนบทนั้น มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อแรก ก็คือมนุษยธรรม ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศ   กับเรา...เหตุผลที่สองที่จะต้องพัฒนาชนบทนั้นคือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบ้านเมือง เพื่อความก้าวหน้านอกเหนือจากมนุษยธรรม”
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะผู้บริหารสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2512

๓๐. “...ในปัจจุบันนี้ ศัตรูของเรามาในรูปการก่อการร้าย มาด้วยอาวุธก็มาก แต่มาในรูปการ          ก่อการร้ายด้วยการยุยงให้แตกแยกกันก็มากเหมือนกัน และไม่ใช่ตามชายแดน ในเมืองใหญ่ๆในภาคต่างๆ ทุกภาคแม้แต่ภาคกลางนี้ แม้แต่กรุงเทพฯนี้ ก็มีการแทรกซึมและการยุแหย่ให้เกิดแตกสามัคคีให้เกิด   ความยุ่งยาก เป็นสงครามสมัยใหม่ ขอให้พิจารณาดู ถ้าทุกคนเข้มแข็ง มุ่งหน้าที่จะเรียน และมุ่งหน้าที่   จะตั้งตัวเป็นคนดี ก็เท่ากับทุกคนเป็นทหารทั้งชายหญิง ช่วยบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ และเมื่อบ้านเมืองดำรงอยู่แล้ว เอกชนทุกคน   ก็จะอยู่ได้ด้วยความผาสุก”
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานชุมนุมนักศึกษาชาวเหนือ “ชาวเหนือบอล”    ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2513

๓๑. “... ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ    เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้      ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2519

๓๒. “... ขอให้คิดถึงประชาชนเหมือนลูก ขอให้ทหารช่วยดูแลประชาชนนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในการป้องกันประเทศ...”
พระราชกระแสรับสั่งแก่พันเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 และพันโท พิศิษฐ์ เหมาะบุตร ผู้บังคับกองพันทหารราบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วยรบเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการที่ภูพานน้อย อ.นาแก จังหวัด นครพนม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2516

33. “... ความจงรักภักดีในชาตินั้น คือความสำนึกตระหนักในความเป็นไทย ในอิสรภาพ และ   ในหน้าที่ที่จะธำรงรักษาชาติประเทศไว้ให้เป็นอิสระมั่นคง”
พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำงานหาเลี้ยงชีพของประชาชนทั่วไป แนวทางปฏิบัติในการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จตลอดเสมอมาจนทำให้คนไทยนำพระราชดำรัส   ของพ่อหลวงมาเป็นแนวทางในการดำรงชีพและเป็นหลักในการดำรงชีพและเป็นหลักในการดำรงชีวิตจนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แล้ว

๓๔. “รู้ไหมว่าทำไมโดมิโนจึงมาหยุดที่เมืองไทย ... เพราะสังคมไทยและคนไทยนั้นยังเป็นสังคม  ที่ให้กันอยู่ บ้านเมืองสงบลงได้ เพราะเรา ‘ให้’ กับแผ่นดิน” (ทฤษฎีโดมินาของประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์         ของสหรัฐอเมริกาที่อุปมาจากลักษณะเกมโดมิโน หากตัวหนึ่งตัวใดล้ม ตัวอื่นๆ จะล้มตามเป็นลูกโซ่ กล่าวคือคาดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามประเทศอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ลาว กัมพูชา ฯลฯ)
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จากหนังสือ       ‘ร้อยเรื่องเล่า :  เกร็ดการทรงงาน’

35. “...การสังคมสงเคราะห์นั้น มีความหมายกว้างขวางมาก กินความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่จะช่วยเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ หรือกลุ่มชนที่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นชาติ และผู้ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ให้มีความสุข ทั้งทางกายและจิตใจ ให้ได้มีปัจจัยอันจำเป็นแก่การครองชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับการศึกษาอบรมตามควร ตลอดจนมีความรู้ที่จะนำมาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพื่อความเรียบร้อย และความเป็นปึกแผ่นของสังคม...”
พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2505

36. “...ในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานคือความ  มีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป... ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จแน่นอนบริบูรณ์...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                     เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2517

37. “...มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ก็ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประสบความเดือดร้อนและอาจประสบความเดือดร้อนในอนาคต เพื่อที่จะให้เขามีความมั่นใจว่า วันนี้อาจยังไม่เดือดร้อน แต่วันหน้าถ้าเดือดร้อนก็จะมีคนช่วยเหลือ...”
พระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทาน เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2539

๓๘. “...(Our loss is our gain) ‘ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือ เราขาดทุนเราก็ได้กำไร’ ...การเสีย คือการได้ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...”
พระราชดำรัสที่ พระราชทานแก่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัยสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔

๓๙. “...ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก ...มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือน...กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”
พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐

๔๐. “...เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่สองอย่าง...จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทนต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่า   ทุกคนจะมีความพอใจได้...คำว่าพอเพียง มีความหมายว่าพอมีพอกินเศรษฐกิจแบบพอเพียง    หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก    อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล                     เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑

๔๑. “...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม   แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป...”
พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒

๔๒. “... การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ    ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุดควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอน        มาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง...”
พระราชดำรัสที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติครั้งแรก ณ พระตำหนัก           จิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๖

๔๓. “...วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง จึงควรสนับสนุนให้มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง ถ้าสามารถค้นคิดได้มากเท่าไร จะเป็นการประหยัดและช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่างๆ       ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น...”
พระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
พระองค์ทอดพระเนตรถึงความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท อีกทั้งเป็นหัวใจในความมั่นคงของประเทศ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำพาสู่การพัฒนาประเทศให้ประชาชนของพระองค์อยู่ดีกินดี เพราะสามารถพัฒนาประเทศได้ในทุกๆด้าน ไม่เว้นแม้ด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิด “ดาวเทียมไทยคม” ขึ้น นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องการศึกษาอันประโยชน์สูงสุด และนั่นได้ทำให้โรงเรียนไกลกังวลที่หัวหินได้กลายเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมเกิดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เท่าเทียมกันทั่วประเทศด้วย “ครูตู้” ที่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้มีผู้สำเร็จการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมจากทุกภาคของประเทศ เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ซึ่งทั้งหมดเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ  พระเจ้าอยู่หัวของคนไทยนั่นเอง

๔๔. “...การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุและเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต่ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำเพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูกาลไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้งจะบันดาลได้อย่างปฏิหาริย์ทำให้มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการอย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ...”
พระราชดำรัสเกี่ยวกับการโครงการฝนหลวง โครงการในพระราชดำริ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๗

๔๕. “...ให้กรมชลประทาน ‘พิจารณาความเหมาะสม’ ในการจัดทำทำนบดินกั้นน้ำบริเวณถนน    ตากใบ-สุไหงโกลก และที่เกาะสะท้อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลายเดือน...อาจจะแก้ไขได้โดยการขุดลอกแม่น้ำสุไหงโกลกเป็นช่วงๆ...ขุดคลองระบายน้ำเพื่อช่วยให้น้ำที่ท่วมในฤดูมรสุมมีทางระบายลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น...”
พระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านปาดังยอ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๗

๔๖. “…วันนี้ก็ขอพูดขออนุญาตที่จะพูดเพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว เคยพูดมาหลายปีแล้ว                       ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอและเหมาะสม คำว่า ‘พอเพียง’ ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภคในการใช้ ทั้งในด้านการบริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมต้องมีพอ    ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภาคภูมิใจ ว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ....
“.....โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้ว่าไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้ว เพราะว่าจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเหล่านักต่อต้านโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ไม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย แต่ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕ – ๖ ปี ข้างหน้า เราสบาย และถ้าไม่ทำ อีก ๕ – ๖ ข้างหน้าราคาค่าก่อสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า ลงท้ายก็ต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไป ก็จะไม่ได้ทำเราก็จะต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้....”
พระราชดำรัสถึงโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี โครงการ   เขื่อนเก็บน้ำแม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายก โครงการการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ณ ศาลาดุสิดาลัย  สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

๔๗. “...น้ำเป็นสิ่งที่มีชีวิต จะให้เขาพ้นไปไม่ได้ ต้องหาที่อยู่ให้เขา อยู่ๆจะปิดกั้นน้ำไม่ให้ไป     มันไม่ได้ ผิดธรรมชาติ ต้องหาที่ให้เข้าไป...”
           พระราชกระแสย้ำเตือนแก่ นายประเสริฐ สมะลาภา ผู้อำนวยการ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ผู้ตามเสร็จฯ ออกตรวจสภาพน้ำท่วมปี พ.ศ.๒๕๒๖ เกี่ยวกับโครงการแก้มลิง

๔๘. “...ทุกปีที่ผ่านมา น้ำลดแล้วก็ลืม ฉะนั้นปีนี้ขอให้เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้เป็นหลักฐาน ประกอบการแก้ไขในอนาคต ในส่วนพระองค์ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับปัญหาในอนาคต...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ นายประเสริฐ   สมะลาภา ผู้อำนวยการ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ผู้ตามเสด็จฯ ออกตรวจสภาพน้ำท่วมปี พ.ศ.๒๕๒๖

๔๙. “...ตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง...เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ ‘โครงการแก้มลิง’ น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมดอย่างที่เปราะปีนี้เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ‘แก้มลิง’ เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้...”
พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๘

๕๐. “...ถ้าทำให้อย่างนี้ให้แห้งข้างล่างมาลง ก็ลง ลงไป ก็คือคงเข้าใจว่าทำไมเรามีความหนักใจ แต่ถ้าเห็นด้วย ในการที่จะมาทำให้มันแห้งข้างล่าง เพื่อรับน้ำใดฯ ที่จะลงมาแล้วไอ้ข้างล่างต้องทำเขื่อนอย่างนี้จะแตกต่างเขื่อนที่เราทำมาแล้วในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใดฯ ที่เก็บน้ำไว้ข้างบน เพื่อจะเก็บไว้หน้าแล้ง หน้าฝนเก็บไว้ข้างบนไม่ให้ลงมาท่วม หน้าแล้งก็ปล่อยลงมาได้กิน ป่าสักก็ตาม นครนายก ก็ตามแก่งเสือเต้นก็ตาม เก็บน้ำไว้ข้างบน เมื่อจะไม่ให้ท่วมลงมา และเมื่อไม่ท่วมแล้วเขาก็ทำกินได้….”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน    เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๘

๕๑. “…เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื่นได้ ขออย่าไปรังแกป่า           เท่านั้นเอง...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

๕๒. “…ดินแข็งเป็นดานอย่างนี้ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราปลูกหญ้าแฝกด้วยวิธีการที่เหมาะสม         เมื่อฝนตกลงมาความชื้นจะอยู่ในดินบริเวณเรือนรากของหญ้าแฝก ที่ลงรากลึก...เปรียบเหมือนกับกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิตที่จะหยุดยั้งการพังทลายของดิน ชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า สามรถกักเก็บตะกอนดิน  ทำให้เกิดหน้าดินและความชื้นใต้ดิน...จะปลูกผักปลูกหญ้าก็ได้และอีกประการหนึ่งรากของหญ้าแฝกแข็งเป็นพิเศษอาจสามารถเจาะลงในดินที่แข็งเป็นดานได้...”
พระราชกระแสระหว่างเสด็จฯ ไปยังโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

๕๓. “…พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด ให้พัฒนาพื้นที่นี้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์และเกษตรกรรม    ให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์และอาศัยผลผลิตจากป่าไม้โดยไม่ต้อง   บุกรุกเข้าทำลายป่าอีกต่อไป...”
พระราชดำรัสขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖

๕๔. “…ทุกคนขวัญเสีย ทุกคนอารมณ์ไม่ดีเรื่องการจราจร แต่ได้พยายามให้ทุกคนช่วยกันแก้ไข  ดีใจที่เห็นคนเอะใจว่า มีทางช่วยกันแก้ไขได้ แล้วก็มีคนช่วยกันแก้ไม่น้อย อย่างเช่นตอนแรกที่มีโครงการพระราชดำริก็ทำ”
พระราชดำรัส เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

๕๕. “…เรื่องที่ช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพราะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และรายได้กับเขาเอง    ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติดถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด  คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่งผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพราะปลูก โดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราไปช่วยเขา   ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งสามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบาย  ที่จะรักษาป่าไม้รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...”
พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗

๕๖. “…น้ำมันสมัยใหม่แพง ไม่รู้ทำไมมันแพง แต่ก็ยังไงเป็นสมัยนี้ อะไรๆก็แพงขึ้นทุกที จะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบากนอกจากจะหาวิธีที่จะทำให้น้ำมันราคาถูกซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อยคือ แทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน ๙๕ ก็ใช้ออกเทน ๙๑ แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน ๙๕ อาจเป็นได้ว่า รถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนกันมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัด ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง...
“…พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องการคลังการเศรษฐกิจ แต่ว่าลองนึกดูถ้าสมมติว่าใช้ของที่ทำในเมืองไทยทำในประเทศได้เองแล้วก็ทำได้ดีมากอ้อยที่ปลูกที่ต่างๆ เขาบ่นว่ามีมากเกินไปขายไม่ได้ ราคาตก    เราก็ไปซื้อในราคาที่ดีพอสมควร มาทำแอลกอฮอล์แล้วผู้ที่ปลูกอ้อยก็ได้เงิน ผู้ที่ทำแอลกอฮอล์ก็ได้เงิน...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

๕๗. “…เราทำแล้วก็หมายความว่าเราไม่เดือดร้อนถึงเวลาเราอายุร้อยสิบแปด ถ้าอย่างไรเราก็ใช้น้ำมันปาล์มของเราเอง คนอื่นอาจจะไม่ได้ คนอื่นอาจจะไม่มี แต่ว่าเรามี เพราะเราขวนขวายหาวิธีที่จะทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อนแล้วก็เป็นห่วง แต่เราไม่ต้องเป็นห่วง     ถ้าคนอื่นเขาไม่ทำ เขาอาจจะไม่มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้ แต่ว่าเรามี เราคือข้าพเจ้าทำเอง...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

๕๘. “…พูดถึงไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าและพลังงานนี่การไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพราะว่าสำหรับปั่นไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้า อันนี้ก็ทำมานานแล้ว เวลาขาดแคลนเชื้อเพลิง ก็บอกว่าให้ปิดโทรทัศน์ ให้ปิดไฟ แล้วบอกได้ผลดี ความจริงเปิดโทรทัศน์ ไม่เป็นไร ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว    ก็ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยันต้องหาวิธีที่จะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

๕๙. “…สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นก็มีหวังว่า น้ำแข็งก็จะละลายลงทะเลและรวมทั้งน้ำทะเลนั้นจะพองขึ้นเมื่อน้ำพองขึ้น ก็จะทำให้ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม จึงได้ข้อมูลว่า สิ่งที่ทำให้คาร์บอนในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดิน และจากการ  เผาไหม้...
“…ทำให้จำนวนคาร์บอนมีน้อยลงได้ก็เป็นความจริง ต้นไม้ทั่วโลกในปัจจุบันนี้กินคาร์บอนได้ในอัตรา ๑๑๐ พันล้านต่อปี แต่ถ้าเราดูต่อไปอีกต้นนั้นเองคายคาร์บอนออกมาในอัตราปีละ ๕๕ พันล้านตัน ก็เหลือกำไรเพียงครึ่งเดียววิธีแก้ไขก็คือต้องเผาน้อยลง และต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น...”
พระราชดำรัสสิ่งแวดล้อมพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

๖๐. “…ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูลทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล     ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดสมบรูณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี        ข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยวามประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชาเหตุผล และความถูกต้องความเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธี     เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.25๒9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถคิดค้น ประดิษฐ์เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยในการแก้ไขปัญหาให้ พสกนิกรตลอดเวลา ดังเช่น...ปัญหาน้ำเสียในกรุงเทพฯ แม่น้ำลำคลองต่างๆ และทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ตลอดจนการบำบัดน้ำเสียในองค์กรต่างๆ พระองค์ทรงแลเห็นปัญหาน้ำเน่าเสียมากขึ้นทุกวัน   และจะเป็นอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิตของประชานชนต่อไปในอนาคต ดังนั้นจึงทรงคิดค้น... ‘กังหันน้ำ’หรือ‘กังหันชัยพัฒนา’

61. “…สิทธิบัตรนี้เป็นของคนไทยคนไทยเป็นคนทำและการทำฝนนี้ได้กุศล ให้ตั้งใจทำเหมือนกับถวายสังฆทานเพราะการ ทำฝนนี้ ไม่ได้ทำให้คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะ...”
พระราชทานกระแสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ณ วังไกลกังวล    เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2552

62. “…ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร     ชาติบ้านเมือง ก็ดำรงอยู่ได้เพราะสถาบันต่างๆ ตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนามในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2514

63. “…ข้าราชการทุกฝ่ายมีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องตั้งใจขวนขวายปฏิบัติงานด้วยความฉลาดรอบคอบ ให้สำเร็จลุล่วงตรงตามเป้าหมายโดยไม่ชักช้าและที่จะต้องร่วมกับชาวไทยทุกคนในอันที่จะอุ้มชูรักษาความดีในชาติให้ยืนยงมั่นคงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสำคัญ ยิ่งจะต้องปฏิบัติให้ดีให้หนักแน่น ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลงานที่สำเร็จเกิดขึ้นจากความร่วมมือและจากความบริสุทธิ์ใจ จักได้แผ่ไพศาลไปตลอดทั่วทุกหนแห่ง ยังความสุขความเจริญที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นได้ตามที่ปรารภปรารถนา...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2524

64. “…สัจจะวาจานั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า      มีความสำเร็จ ‘สัจ’ เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ ‘วาจา’ เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น...”
พระบรมราโชวาทในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2525

65. “…งานราชการนั้น  คืองานของแผ่นดิน มีผลเกี่ยวข้องเนื่องถึงประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน งานทุกอย่างจึงต้องมีผู้ปฏิบัติและมีผู้รับช่วง เพื่อให้งานดำเนินต่อเนื่องไปไม่ขาดสาย ดังนั้นผู้ปฏิบัติบริหารงานราชการทุกฝ่ายทุกระดับจึงไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้ทำมาก่อน หรือใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญนัก จะต้องถือประโยชน์ที่จะเกิดจากงานเป็นหลักใหญ่ แล้วร่วมกันคิดร่วมกันทำด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ งานทุกอย่างจึงจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น   ไม่ติดขัดและสำเร็จผลเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนตลอดไป...
“…เป็นงานส่วนรวม มีผลกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองและบุคคลทุกคนทุกฝ่าย เมื่อเป็นงานส่วนรวมและมีผลเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ อันเนื่องมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตลอดจนทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีใจที่หนักแน่น และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้กระทั่งคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีสติ ใช้สติปัญญา และเหตุผลเป็นเครื่องปฏิบัติวินิจฉัย โดยถือว่า         ความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น คือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายจากทุกคนทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติบริหารงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ ให้งานทุกส่วนทุกด้านของแผ่นดิน   สำเร็จผลเป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง...”
พระบรมราโชวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี พ.ศ. 2558 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2558

66. “…ในบ้านเมืองนี้ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”
พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมชนลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี        เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2512

67. “…คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคงชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริต และความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานยิ่งใหญ่ที่คุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่       12 กรกฎาคม พ.ศ. 2522

68.“…ข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด ระดับไหน มีหน้าที่อย่างไร ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญ อยู่ในงานของแผ่นดินทั้งสิ้น ทุกคนจึงต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถด้วยอุดมคติ       ด้วยความเข้มแข็งเสียสละและระมัดระวังให้การทุกอย่างในหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงตรงด้วยความระลึกรู้ตัว อยู่เสมอว่าการปฏิบัติตัว ปฏิบัติงานของตนมีผลเกี่ยวเนื่องถึงสุขทุกข์ของประชาชน ตลอดจนความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของประเทศชาติ...”
พระบรมราโชวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

69. “…การควบคุมและตรวจสอบเงินแผ่นดินเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะเงินแผ่นดินนั้น คือ เงินของประชาชนทั้งชาติ ผู้ทำงานนี้จึงต้องกำหนดแน่แก่ใจอยู่เป็นนิตย์ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน ด้วยความอุตสาหะพยายาม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความละเอียดถี่ถ้วนระมัดระวังอย่างเต็มที่เพื่อมิให้เกิดความพลั้งพลาดเสียหาย และให้มั่นใจได้ว่า การใช้จ่ายเงินของแผ่นดินได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ และบังเกิดผลเป็นประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย...”
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในโอกาสครบรอบ 84 ปี แห่งการสถาปนาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2542
ความบางตอนจากพระราชดำรัสองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถ้อยคำที่เปลี่ยมความหมายจดนี้แสดงให้เข้าใจอย่างง่ายว่า เงินทุกบาทที่ส่วนราชการ    ใช้ เงินเดือนบุคลากรของรัฐ และทรัพย์สินขอราชการทุกสิ่งล้วนเป็นของประชาชนคนไทย เพราะเป็นเงิน      ที่ได้มาจากประชาชนคนไทยทั้งสิ้น
และเหมือนดูว่าพระราชดำรัสดังกล่าวเปรียบเสมือนดั่งน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงจิตใจให้ข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทุกคน ได้ยึดถือไว้เป็นแนวปฏิบัติสำคัญในการปฏิบัติงานตลอดมา และปี พ.ศ. 2558 นี้เป็น 100 ปีแห่งการตรวจสอบเงินแผ่นดินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรอิสระที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนสูงสุดในปัจจุบัน

No comments:

Post a Comment