ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน
การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา
๕ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และมาตรา ๒๘ ตรี
แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑
อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน
การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑”
ข้อ ๒
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน
พ.ศ. ๒๕๒๖
(๒)
ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.
๒๕๓๓
(๓)
ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๓๔
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ
ประกาศ คำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้
และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การเป็นกรรมการหมู่บ้านของผู้นำกลุ่มในหมู่บ้าน
ข้อ ๕ ในหมวดนี้
“กลุ่ม” หมายความรวมถึง องค์กรในหมู่บ้านหรือกลุ่มอาชีพ
“กลุ่มบ้าน”
หมายความว่า
บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นกลุ่มย่อยภายในหมู่บ้านโดยอาจแบ่งตามสภาพภูมิประเทศ
ประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณี หรือระบบเครือญาติ และให้หมายความรวมถึง
คุ้มบ้าน เขตบ้าน บ้านจัดสรร
หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มบ้าน
“กลุ่มอาชีพ”
หมายความว่า
กลุ่มที่มีการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
เพิ่มพูนรายได้หรือการพัฒนาอาชีพ
“กลุ่มกิจกรรม”
หมายความว่า กลุ่มที่มีการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่มหรือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
“ผู้นำ” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน หรือหัวหน้าของกลุ่ม
และหมายความรวมถึงผู้แทนด้วย
“ผู้แทน” หมายความว่า บุคคลที่ผู้นำของกลุ่มมอบหมาย
หรือในกรณีที่กลุ่มใดไม่มีผู้นำให้กลุ่มประชุมเลือกสมาชิกของกลุ่มเป็นผู้แทน
ข้อ ๖ ผู้นำของกลุ่มดังต่อไปนี้
เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง
(๑) กลุ่มบ้าน
ตามประกาศของนายอำเภอ
(๒)
กลุ่มหรือกลุ่มกิจกรรมที่มาจากการรวมตัวกันของสมาชิก ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายระเบียบ
ข้อบังคับ หรือคำสั่งของทางราชการ ตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศ
(๓) กลุ่มอาชีพ
หรือกลุ่มกิจกรรมที่มาจากการรวมตัวกันของสมาชิก
หรือตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม
และต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก)
เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(ข)
สมาชิกของกลุ่มไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน
(ค)
เป็นกลุ่มที่มีการดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้าน อย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน
(ง)
เป็นกลุ่มที่มีกฎระเบียบที่กำหนดไว้ชัดเจน และต้องเกิดจากสมาชิกร่วมกันกำหนด
ทั้งนี้
นายอำเภออาจพิจารณายกเว้นลักษณะตาม (ก) ได้ ในกรณีที่เห็นสมควร
ข้อ ๗
ให้นายอำเภอจัดทำประกาศจำนวนและรายชื่อของกลุ่มบ้านตามข้อ ๖ (๑)
ในแต่ละหมู่บ้านปิดประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ
โดยในกลุ่มบ้านหนึ่งให้ประกอบด้วยบ้านเรือนจำนวนสิบห้าถึงยี่สิบหลังคาเรือนโดยประมาณ
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นนายอำเภออาจกำหนดให้มีจำนวนบ้านเรือนมากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้นี้ก็ได้
ข้อ ๘ ให้ผู้ใหญ่บ้าน
สมาชิกกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรมที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ (๓)
เสนอชื่อกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรมให้นายอำเภอพิจารณา
โดยให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน
เพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ
ให้นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรมตามข้อ
๖ (๓) ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ปิดประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ
ข้อ ๙ เมื่อได้มีประกาศตามข้อ ๗ แล้ว
ให้ตัวแทนครัวเรือนในกลุ่มบ้านเลือกบุคคลในกลุ่มบ้านคนหนึ่งเป็นผู้นำกลุ่มบ้านในคณะกรรมการหมู่บ้าน
ผู้นำกลุ่มบ้านต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
ผู้นำกลุ่มบ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้ใหญ่บ้าน
ตามที่ผู้ใหญ่บ้านมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ให้กลุ่มตามข้อ ๖
เลือกสมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเป็นผู้แทนในคณะกรรมการหมู่บ้าน
โดยอาจเลือกจากผู้นำหรือสมาชิกที่กลุ่มเห็นสมควรก็ได้
ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่งต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
ข้อ ๑๑ เมื่อผู้ใดได้รับเลือกจากกลุ่มตามข้อ ๙ หรือข้อ
๑๐ ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านทราบ
ให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่งไปยังนายอำเภอเพื่อจัดทำทะเบียนและออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน
และจัดทำประกาศรายชื่อกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง ปิดประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ
ข้อ ๑๒ การเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่งของผู้นำกลุ่มในหมู่บ้านสิ้นสุดลงเมื่อมีการเลือกผู้นำตามข้อ
๙ หรือข้อ ๑๐ ขึ้นใหม่
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งแล้ว
การเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่งของผู้นำกลุ่มในหมู่บ้านต้องสิ้นสุดลง
ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑)
ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
(๒) ตาย
(๓)
เมื่อนายอำเภอมีประกาศให้กลุ่มตามข้อ ๖ (๑) หรือ (๓)
สิ้นสุดสภาพของการเป็นกลุ่มหรือขาดคุณสมบัติของการเป็นกลุ่ม
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่กลุ่มหรือองค์กรตามข้อ ๖ ถูกยุบ เลิก
หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องกันเป็นเวลาเกินหนึ่งปี ให้ถือว่าสิ้นสุดสภาพของการเป็นกลุ่ม
หรือขาดคุณสมบัติของการเป็นกลุ่ม
และให้กรรมการหมู่บ้านรายงานให้นายอำเภอประกาศตามข้อ ๘
หมวด ๒
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ข้อ ๑๔ ในหมวดนี้
“คณะกรรมการ”
หมายความว่า
คณะกรรมการดำเนินการประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
“วันประชุม”
หมายความว่า วันประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
“การประชุม”
หมายความว่า การประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
“ปลัดอำเภอประจำตำบล”
หมายความว่า
ปลัดอำเภอที่นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้รับผิดชอบประจำตำบล
ข้อ ๑๕ การประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ให้นายอำเภอจัดทำประกาศกำหนดวัน เวลา
และสถานที่ในการประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ปิดประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม
ข้อ ๑๖ ในการประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการ
ทำหน้าที่ดำเนินการเลือก และให้นายอำเภอแต่งตั้งปลัดอำเภอประจำตำบล
ข้าราชการในอำเภอหนึ่งคน และกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ในอำเภอนั้นหนึ่งคน
เป็นที่ปรึกษาและทำหน้าที่สักขีพยานด้วย
ผู้มีสิทธิเข้าประชุมต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
และให้นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าประชุม
ในวันประชุม
ให้คณะกรรมการพร้อมด้วยที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่ง
ประชุมราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้าน เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ในการเลือก
จำนวนและคุณสมบัติของกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ตลอดจนวิธีการเลือกให้ผู้เข้าประชุมได้ทราบ
เมื่อดำเนินการตามวรรคสามแล้ว
ให้คณะกรรมการประกาศให้ผู้เข้าประชุมช่วยกันตรวจสอบว่ามีบุคคลที่ไม่มีสิทธิเข้าประชุมอยู่ในที่ประชุมหรือไม่
หากมีให้ผู้เข้าประชุมคัดค้านขึ้นในขณะนั้นแล้วให้คณะกรรมการและที่ปรึกษา
ร่วมกันตรวจสอบ ถ้าได้ความว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีสิทธิเข้าประชุมจริง
ก็ให้คณะกรรมการเชิญบุคคลดังกล่าวออกจากที่ประชุม
ข้อ ๑๗
ในการกำหนดจำนวนกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิที่จะพึงมีในหมู่บ้านใด
ให้ที่ประชุมราษฎรตามข้อ ๑๖ เป็นผู้กำหนด
ข้อ ๑๘
ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลในหมู่บ้านที่มีความรู้ความสามารถซึ่งเป็นที่ยอมรับของราษฎรในหมู่บ้าน
และมีความเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต่อที่ประชุมได้หนึ่งคน
และต้องมีผู้เข้าประชุมรับรองอย่างน้อยสามคน ทั้งนี้
ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องอยู่ในที่ประชุม
เว้นแต่ผู้ถูกเสนอชื่อแสดงความสมัครใจไว้เป็นหนังสือ
ให้คณะกรรมการตรวจคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อ
หากเห็นว่าผู้ใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนก็ให้แจ้งที่ประชุมทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้ประกาศปิดการเสนอชื่อแล้ว
ปรากฏว่ามีผู้เสนอชื่อน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗
ให้คณะกรรมการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลในหมู่บ้านตามวิธีการที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งเพิ่มเติมให้ครบจำนวนที่ที่ประชุมกำหนด
ข้อ ๑๙ เมื่อที่ประชุมปิดการเสนอชื่อตามข้อ ๑๘ แล้ว
การเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิอาจเลือกโดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีลับก็ได้ตามที่ประชุมกำหนด
การเลือกโดยวิธีเปิดเผย
ให้ที่ประชุมออกเสียงเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
โดยให้คณะกรรมการประกาศชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ
หากผู้เข้าประชุมเห็นว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเหมาะสมจะเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิก็ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ
แล้วให้คณะกรรมการนับคะแนนจากผู้ที่ยกมือในแต่ละครั้งที่ประกาศ และจดบันทึกคะแนนไว้
การเลือกโดยวิธีลับ
ให้ใช้วิธีการหย่อนบัตร โดยใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม
ข้อ ๒๐
เมื่อที่ประชุมออกเสียงเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิเสร็จสิ้นแล้ว
ให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจำนวนตามที่ประชุมกำหนดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
หากมีผู้ที่ได้รับเลือกได้คะแนนเท่ากันหลายคน
และเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิเกินจำนวนตามข้อ
๑๗
ให้ทำการจับสลากผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันให้เหลือจำนวนกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กำหนด
ในกรณีที่ไม่สามารถประชุมหรือเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิได้ตามข้อ
๑๙
ให้นายอำเภอกำหนดและประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายในสิบห้าวันจนกว่าจะครบตามจำนวน
ข้อ ๒๑ เมื่อได้กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว
ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานการประชุมไว้เป็นหลักฐานโดยให้ที่ปรึกษาลงชื่อรับรอง
แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานให้นายอำเภอทราบเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป
ให้นายอำเภอจัดทำประกาศแต่งตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ปิดประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ
พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนและออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๒
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
นับแต่วันที่นายอำเภอได้มีประกาศแต่งตั้ง
นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑)
ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
(๒) ตาย
(๓)
ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๔)
นายอำเภอมีคำสั่งให้ออก
เมื่อสอบสวนแล้วเห็นว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหากอยู่ในตำแหน่งต่อไปอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแก่หมู่บ้านได้
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง
ถ้ากรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน
ให้กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิเหลือเท่าจำนวนที่มีอยู่
กรณีที่กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง
จนเป็นเหตุให้กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่มีจำนวนน้อยกว่าสองคน
และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลือมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ให้นายอำเภอจัดให้มีการประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบว่าตำแหน่งว่างลง
และให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน
ให้นายอำเภอดำเนินการจัดให้มีการประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน
ข้อ ๒๔
ในการเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิครั้งแรกตามระเบียบนี้
ให้ดำเนินการเลือกภายในเก้าสิบวันนับแต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยนี้มีผลใช้บังคับ
หมวด ๓
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน
ข้อ ๒๕ ในหมวดนี้
“คณะกรรมการ”
หมายความว่า คณะกรรมการหมู่บ้าน
“เลขานุการ”
หมายความว่า เลขานุการคณะกรรมการหมู่บ้าน
ข้อ ๒๖
ให้คณะกรรมการเลือกรองประธานกรรมการหมู่บ้านจากกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่งคนหนึ่ง
และจากกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิอีกคนหนึ่ง
โดยให้คณะกรรมการเลือกรองประธานคนใดคนหนึ่งเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง
ในกรณีที่หมู่บ้านใดมีเหตุผลและความจำเป็น
คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายอำเภออาจกำหนดให้มีตำแหน่งรองประธานมากกว่าที่กำหนดในวรรคหนึ่งก็ได้
รองประธานกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยประธานกรรมการหมู่บ้านปฏิบัติตามหน้าที่และกระทำกิจการตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านมอบหมาย
ข้อ ๒๗
ให้ประธานกรรมการหมู่บ้านเลือกกรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งเป็นเลขานุการและให้คณะกรรมการเลือกกรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งเป็นเหรัญญิก
ในกรณีที่หมู่บ้านใดมีเหตุผลและความจำเป็น
คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีผู้ช่วยเลขานุการหรือผู้ช่วยเหรัญญิกก็ได้
โดยให้เลือกจากกรรมการหมู่บ้าน
เลขานุการมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ
การจัดการเกี่ยวกับการประชุมและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านมอบหมาย
เหรัญญิกมีหน้าที่รับผิดชอบช่วยเหลือคณะกรรมการในการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของหมู่บ้านและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านมอบหมาย
ข้อ ๒๘
รองประธานกรรมการหมู่บ้านและเหรัญญิกพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑)
พ้นจากการเป็นกรรมการหมู่บ้าน
(๒)
ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๓)
คณะกรรมการมีมติให้ออกจากตำแหน่ง
ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
เห็นว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตาม
(๓) จะดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหมู่บ้าน
และเหรัญญิกอีกไม่ได้ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๒๙ เลขานุการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑)
ประธานกรรมการหมู่บ้านสั่งให้ออกจากตำแหน่ง
(๒) ประธานกรรมการหมู่บ้านพ้นจากตำแหน่ง
(๓) มีเหตุตามข้อ
๒๘
ข้อ ๓๐ ให้ปลัดอำเภอประจำตำบล กำนัน นายกเทศมนตรีตำบล
และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการในตำบล
มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในตำบลนั้น
นอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว
นายอำเภออาจแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานของรัฐและบุคคลอื่นใดที่คณะกรรมการเห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเพิ่มเติมก็ได้
ที่ปรึกษาคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(๓)
นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๓๑ ให้มีคณะทำงานด้านต่าง ๆ
เพื่อช่วยเหลือปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการและผู้ใหญ่บ้าน
อย่างน้อยให้มีคณะทำงานด้านอำนวยการ ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
และด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
นอกจากคณะทำงานตามวรรคหนึ่งแล้ว
คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายอำเภออาจแต่งตั้งคณะทำงานอื่นใดที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าจำเป็นและเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเพิ่มเติมก็ได้
ข้อ ๓๒ คณะทำงานด้านต่าง ๆ ให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)
คณะทำงานด้านอำนวยการ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการ การจัดการประชุม การรับจ่าย
และเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์
การประสานงานและติดตามการทำงานของคณะทำงานด้านต่าง ๆ
การจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการในรอบปีและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
(๒)
คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการส่งเสริมอุดมการณ์และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน
การส่งเสริมดูแลให้ราษฎรปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับของหมู่บ้าน
การสร้างความเป็นธรรมและประนีประนอมข้อพิพาท การตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย
การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายในหมู่บ้าน
การคุ้มครองดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน
การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภยันตรายของหมู่บ้าน
และงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
(๓) คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน
มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านกับคณะทำงานด้านต่าง
ๆ เพื่อดำเนินการหรือเสนอของบประมาณจากภายนอก การรวบรวมและจัดทำข้อมูลต่าง ๆ
ของหมู่บ้าน การติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน
และงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
(๔)
คณะทำงานด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน
การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
การผลิตและการตลาดเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน
และงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
(๕)
คณะทำงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรี เด็ก
เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
การจัดสวัสดิการในหมู่บ้านและการสงเคราะห์ผู้ยากจนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้
การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การสาธารณสุขและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
(๖)
คณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา
ศาสนา การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของหมู่บ้านและงานอื่นใดตามที่ประธานกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการมอบหมาย
ในกรณีที่หมู่บ้านใดมีคณะทำงานอื่นตามข้อ
๓๑ วรรคสอง
ให้คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายอำเภอกำหนดชื่อและหน้าที่ของคณะทำงานด้านต่าง ๆ
ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคณะทำงานนั้น
ข้อ ๓๓ คณะทำงานด้านอำนวยการ ประกอบด้วย
ประธานกรรมการหมู่บ้าน รองประธานกรรมการหมู่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
หัวหน้าคณะทำงานด้านต่าง ๆ เลขานุการ และเหรัญญิกเป็นคณะทำงาน
โดยให้ประธานกรรมการหมู่บ้านและเลขานุการ เป็นหัวหน้าและเลขานุการคณะทำงาน
ข้อ ๓๔ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการหมู่บ้านที่เห็นสมควรเป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านต่าง
ๆ ดังต่อไปนี้
(๑)
คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
ให้เลือกจากกรรมการหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
(๒)
คณะทำงานด้านอื่น ๆ ให้เลือกจากกรรมการหมู่บ้าน
กรรมการหมู่บ้านที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านต่าง
ๆ ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานได้เพียงคณะเดียว
ข้อ ๓๕
ให้คณะกรรมการพิจารณาเลือกกรรมการหมู่บ้านและราษฎรในหมู่บ้านที่มีความรู้ความชำนาญหรือมีความเหมาะสมกับงานด้านนั้น
ๆ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะทำงานในด้านต่าง ๆ
กรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งอาจเป็นคณะทำงานมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้
ข้อ ๓๖ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายอำเภอ
อาจมีมติให้จัดตั้งกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้านขึ้น
เพื่อเป็นกองทุนในการบริหารจัดการและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ตลอดจนกิจการอันเป็นประโยชน์สาธารณะของหมู่บ้านก็ได้
ข้อ ๓๗ กองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน
อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑)
เงินที่กลุ่มหรือองค์กรภายในหมู่บ้านจัดสรรให้
(๒)
เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๓)
เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(๔)
รายได้จากการจัดกิจกรรมของหมู่บ้าน
ข้อ ๓๘
ให้คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายอำเภอกำหนดหลักเกณฑ์
การใช้จ่ายเงินของกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้านไว้ ดังต่อไปนี้
(๑)
ค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุม
(๒)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการ
(๓)
การจัดสวัสดิการภายในหมู่บ้าน
(๔) การจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน
(๕) ค่าใช้จ่ายอื่น
ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๔ การประชุม
ข้อ ๓๙ ในหมวดนี้
“คณะกรรมการ”
หมายความว่า คณะกรรมการหมู่บ้าน
“การประชุม”
หมายความว่า การประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน
“ประชาคมหมู่บ้าน”
หมายความว่า การประชุมราษฎรในหมู่บ้านผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน
ข้อ ๔๐
ให้คณะกรรมการประชุมกันเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
การกำหนดวันเวลาประชุม ให้ประธานกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้กำหนดและเรียกประชุม
โดยให้มีการประชุมภายในเจ็ดวันหลังจากการประชุมประจำเดือนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่นายอำเภอเรียกประชุม
สถานที่ประชุม
ให้ใช้สถานที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ข้อ ๔๑ การประชุม
ให้กระทำโดยเปิดเผยและเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าฟังได้
เว้นแต่คณะกรรมการจะลงมติให้ประชุมลับ
ข้อ ๔๒
การประชุมต้องมีกรรมการหมู่บ้านมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการหมู่บ้านทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
จึงจะเป็นองค์ประชุม
ประธานกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามระเบียบวาระการประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการหมู่บ้านไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้รองประธานกรรมการหมู่บ้านเป็นประธานในที่ประชุมเรียงตามลำดับ
ในการประชุมคณะกรรมการครั้งใด
ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ให้กรรมการหมู่บ้านที่มาประชุมเลือกกันเองเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมครั้งนั้น
ข้อ ๔๓
การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่มีกฎหมาย
ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
กรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ในการลงมติในเรื่องใด ๆ
ให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมนั้น
มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในฐานะกรรมการหมู่บ้านได้
และในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ก่อนการลงมติทุกครั้งให้ประธานในที่ประชุมตรวจสอบดูว่ามีกรรมการหมู่บ้านอยู่ในที่ประชุมครบจำนวนเป็นองค์ประชุมหรือไม่
ถ้ามีกรรมการหมู่บ้านอยู่ในที่ประชุมไม่ครบจำนวนเป็นองค์ประชุมจะทำการลงมติในเรื่องใด
ๆ ไม่ได้
ในกรณีที่องค์ประชุมไม่ครบจนไม่สามารถลงมติได้ในประเด็นเดียวกันได้
ให้ประธานเรียกประชุมโดยด่วนและในการประชุมเพื่อลงมติในครั้งนี้ไม่บังคับว่าต้องครบองค์ประชุม
ข้อ ๔๔ ในการพิจารณาลงมติเรื่องใด หากที่ประชุมเห็นว่า
เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในหมู่บ้าน
หรือเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของราษฎรในหมู่บ้าน
หรือเป็นเรื่องที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง
หรือหนังสือสั่งการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน
คณะกรรมการอาจมีมติให้มีการประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวก็ได้
เมื่อคณะกรรมการกำหนดวันประชุมประชาคมหมู่บ้านแล้ว
ให้ผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมราษฎรในหมู่บ้านผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านเข้าประชุม
การลงมติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
เว้นแต่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง
หรือหนังสือสั่งการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ผู้เข้าประชุมประชาคมหมู่บ้านคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
และในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
เมื่อที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านลงมติในเรื่องใดแล้ว
ให้คณะกรรมการประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบโดยทั่วกัน
และปฏิบัติตามมติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านในเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้ มติประชาคมต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย
และระเบียบของทางราชการ พร้อมทั้งแจ้งให้นายอำเภอและราษฎรทราบโดยทั่วกัน
ข้อ ๔๕
ราษฎรในหมู่บ้านผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคนอาจลงลายมือชื่อทำหนังสือเสนอความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมหรือประโยชน์สาธารณะของหมู่บ้านต่อคณะกรรมการเพื่อให้มีการพิจารณาในคณะกรรมการก็ได้
และคณะกรรมการจะต้องนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าวาระการประชุมในคราวต่อไป
ข้อ ๔๖
เมื่อมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการประชุมตามหมวดนี้
หรือกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในหมวดนี้ ให้ประธานกรรมการหมู่บ้านนำข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเสนอต่อนายอำเภอเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุดและให้ใช้ได้เฉพาะในการประชุมคราวนั้น
หมวด ๕ การควบคุมดูแล
ข้อ ๔๗
ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านหรือมติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านให้เป็นไปตามกฎหมาย
ระเบียบ
ข้อบังคับของทางราชการและให้ปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอในตำบลที่รับผิดชอบ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ให้นายอำเภอและปลัดอำเภอประจำตำบล
มีอำนาจเรียกกรรมการหมู่บ้านมาชี้แจงหรือให้ข้อเท็จจริง
ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใด ๆ จากคณะกรรมการหมู่บ้านมาตรวจสอบก็ได้
ในกรณีที่ปลัดอำเภอประจำตำบลเห็นว่าคณะกรรมการหมู่บ้านปฏิบัติหน้าที่ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หมู่บ้าน
หรือเสียหายแก่ทางราชการ และปลัดอำเภอประจำตำบลได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม
ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้ามิได้
ให้ปลัดอำเภอประจำตำบลมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านหรือมติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านเป็นการชั่วคราวไว้ตามที่เห็นสมควรได้
แล้วรีบรายงานนายอำเภอทราบภายในเจ็ดวันเพื่อให้นายอำเภอวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว
การกระทำของกรรมการหมู่บ้าน
ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของปลัดอำเภอประจำตำบลตามวรรคสาม
ไม่มีผลผูกพันกับคณะกรรมการหมู่บ้าน
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘
มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
No comments:
Post a Comment