Sunday 12 February 2017

พัฒนากรยุคใหม่ที่อำเภออยากได้

พัฒนากร คือ บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ทำงานในพื้นที่หมู่บ้าน/ตำบล สังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สำหรับชื่อตำแหน่งที่ผ่านมา ก็จะเป็น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ระดับ ๑, , ๓ เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ระดับ ๒, , ๔ นักพัฒนาชุมชน ระดับ ๓, , ๕ แต่ปัจจุบันมีแต่ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ระดับปฏิบัติงาน, ชำนาญงาน และ นักวิชาการพัฒนาชุมชน ระดับปฏิบัติการ, ชำนาญการ

พัฒนากร คือ ผู้ที่ทำงานกับชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชน งานพัฒนาชุมชน ก็คือ ผลการปฏิบัติงานของพัฒนากร หากเปรียบเทียบกับทหาร พัฒนากร คือ ทหารราบ/เหล่ารบ อยู่ในสนามรบ ทหารอื่น ๆ คือ ทหารกองหนุน ที่จะสนับสนุนให้การปฏิบัติหน้าที่ของทหารราบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถ้าเป็นการเรียกตามสายงานปฏิบัติการ พัฒนากร คือ Line ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ คือ Staff ในอดีตพัฒนากร ปฏิบัติหน้าที่หลายด้าน เรามีงานในพื้นที่มากมาย เพราะยังไม่มีหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ USOM (United States Operations Mission) จากสหรัฐอเมริกา ทำงานร่วมกับพัฒนากรในบางพื้นที่ ต่อมางานในพื้นที่ได้ถูกถ่ายโอนให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่หรือรับผิดชอบเฉพาะทาง เช่น งานโครงสร้างพื้นฐาน งานอนามัย งานเกษตร งานปศุสัตว์ งานพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี ฯลฯ เป็นต้น ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป พัฒนากร ต้องมาทำภารกิจใหม่ ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดและจังหวัด/อำเภอมอบหมาย ซึ่งบางภารกิจก็ถูกลิดรอนไป

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมมหาดไทยถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ กรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน และมีกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นกรมที่เก่าแก่อีกกรมหนึ่ง ต่อมาเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จากโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็อธิบายได้ว่า ภารกิจงานในพื้นที่ก็จะมี ๓ รูปแบบ คือ
๑. แบบปกครอง
๒. แบบพัฒนาชุมชน
๓. แบบประชาสงเคราะห์
ซึ่งทั้ง ๓ รูปแบบ มีศาสตร์ให้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก

ภารกิจงานของพัฒนากร คือ การทำงานแบบพัฒนาชุมชน แต่เรามักจะสับสนกับอีก ๒ แบบ และมักทำหน้าที่ที่ไม่ใช่แบบพัฒนาชุมชนมากกว่า เพราะ ง่ายกว่า สะดวกกว่า เห็นผลเร็วกว่า และผลลัพธ์สุดท้าย คือ เราจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไม่เห็นชุมชนพึ่งตนเองและมีส่วนร่วมในกิจการนั้น ๆ งานที่เราทำกลายเป็นงานแบบสั่งการให้ประชาชนทำ และใช้วิธีหยิบยื่นให้แบบประชาสงเคราะห์ เพราะรีบเร่งให้เสร็จตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนด ขาดการมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชน การออกแบบและวิเคราะห์งาน รวมทั้งประเมินผลงานร่วมกับชุมชน และชุมชนเองไม่ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อการพัฒนา (Community-driven Development) เองมาตั้งแต่ตน งานพัฒนาทุกอย่างที่สำเร็จจะต้องมีความยั่งยืน การที่จะเห็นว่ายั่งยืนหรือไม่ ดูที่กิจกรรมที่ดำเนินการมีการพัฒนาจนเป็นระบบ[๑]หรือเปล่า หากเป็นระบบเมื่อไร ความยั่งยืนก็จะเกิด[๒]

การทำงานแบบพัฒนาชุมชน เป็นการทำงานที่เป็น Non-directive Approach เป็นการปฏิบัติงานที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเขาถูกสั่งการ ให้โอกาสและสนับสนุนเขาได้ช่วยเหลือตนเอง (Self-help) รวมทั้งเน้นการส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในกิจกรรมของชุมชนต่าง ๆ (People participation) ไม่ว่า จะมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล รับผลประโยชน์ และเข้ามามีหุ้นส่วนในกิจการนั้น ๆ (Collaborative Partnership) โดยในแต่ละลักษณะก็จะมีเทคนิควิธีย่อย ๆ หรือผสมผสานกันในการทำงานมากมาย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พูดถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วม และให้ประชาชนพึ่งตนเอง ช่วยเหลือตนเอง แต่ก็ไม่ใช่การพัฒนาชุมชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะต้องมีทั้ง ๔ ลักษณะ ที่ถือว่าเป็น means และ ends ของการพัฒนาชุมชน ซึ่งปัจจุบันงานพัฒนาชุมชนของประเทศไทย จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคม (Socio-economy) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การทำงานพัฒนาชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีหรือเทคโนโลยีแบบใหม่กับลักษณะการทำงานแบบเดิม ๆ และภารกิจหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ ตามสภาพการเปลี่ยนของชุมชนหรือสังคม[๓]ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของเทคโนโลยี[๔] และตามสถานการณ์ร่วมสมัยกับงานพัฒนาชุมชนของประเทศที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐในพื้นที่ระดับอำเภอ

เพราะฉะนั้น พัฒนากรยุคใหม่ ต้องมีความรู้และ/หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ (Knowledge)[๕] งานในหน้าที่ของตนเองและความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นผู้มีความเข้าใจ (Understanding) ในภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถวิเคราะห์สังเคราะห์งาน ชุมชนและสังคม ให้ออกมาในรูปแบบการพัฒนาชุมชนได้ มีความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รวมทั้งต้องมีทักษะ (Skill) ในการทำงานพัฒนาชุมชนและการใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ซึ่งสามารถเรียนรู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากผู้อื่น จากการค้นคว้า ตำรับตำรา E-learning การฝึกอบรม การศึกษาต่อ หรือเรียนรู้จากพื้นที่จริง จากการฝึกปฏิบัติ และสะสมเป็นประสบการณ์ของตนเอง อาทิเช่น
๑. การเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ[๖]
๒. การพูดในที่สาธารณะ การเป็นพิธีกร การพูดในโอกาสต่าง ๆ
๓. การจัดเวทีประชาคม การจัดประชุม (เป็นประธาน/เลขานุการในที่ประชุม)
๔. การจดบันทึก การจับประเด็น ในที่ประชุมหรือจากเวทีประชาคม
๕. การขับรถมอเตอร์ไซค์/รถยนต์ เพราะต้องเข้าพื้นที่ มิฉะนั้น จะเป็นภาระคนอื่นและไม่อิสระ
๖. การใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่จำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งการพิมพ์ดีด โดยเฉพาะพิมพ์ดีดสัมผัส
๗. การวิเคราะห์สังเคราะห์งานและชุมชน หรือวิธีคิดกระบวนระบบ (Systems thinking)[๗]ได้
๘. สามารถใช้ Social media, Tablet/Smart phone ในการสื่อสาร[๘]และใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับงาน
๙. สามารถใช้ Blog และ/หรือเว็บไซต์ของอำเภอในการจัดเก็บ รายงานและประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ
๑๐. การทำงานสารบัญ/ธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ
๑๑. การวางแผน และการจัดทำแผน แผนงาน/โครงการ งบประมาณ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึง สามารถฝึกได้ แต่ของให้มีทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ไม่เป็นคนปฏิเสธงาน งานที่ทำถือว่าได้ทั้งงาน ได้ทั้งการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต ใฝ่รู้ มีจิตอาสาที่จะเห็นตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ละทิ้งงาน ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือคนอื่น ๆ เป็นที่ปรึกษาให้กับประชาชนได้ มีสัมมาคารวะ อยู่ในทำนองคลองธรรม สามารถทำงานเดียวและทำงานเป็นทีมได้ ปรับตัวได้เร็ว เก็บความรู้สึกได้เก่ง รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่เครียดและโยนความผิดให้คนอื่นหรือโทษฟ้าดิน แค่นี้ ก็ทำงานได้อย่างมีความสุขแล้ว

โดยสรุป
พัฒนากรยุคใหม่ สามารถประยุกต์ใช้ความทันสมัยของเทคโนโลยีกับการพัฒนาชุมชน มีจิตอาสา ประพฤติปฏิบัติตนเข้ากับคนอื่นได้ สามารถครองตน ครองคน ครองงาน และต้องมี KUSA (Knowledge, Understanding, Skill, และ Attitude)


[๑] ระบบ คือ กลไกที่ประกอบด้วย Input Process Output และสามารถ run ได้ด้วยตนเอง หลังจาก Startup
[๒] กิจกรรม (Activity) คือ ระบบ (System) = การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
[๓] Savagery (ยุคล่าสัตว์ เร่ร่อน ป่าเถื่อน), Barbarous (ยุคเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์), Civilization (ยุคศิวิไลซ์), and ubiquitous (ยุคไร้พรหมแดน)
[๔] ยุคหิน (Stone Age), ยุคเหล็กหรือยุคโลหะ (Iron Age) ,ยุคสารสนเทศ (Information Age), ยุคเครือช่าย (Network)
[๕] The UNESCO's Four (4) Pillars of Learning: learning to live together, learning to be, learning to do, learning to know, 
[๖] งานพัฒนาชุมชน งานตามภารกิจกรมฯ งานที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
[๗] วิเคราะห์ด้วยปรากฎการณ์ภูเขาน้ำแข็ง คือ สิ่งที่เห็นเหนือน้ำนั่นเล็กกว่า ฐานภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ เปรียบได้กับปรากฎการณ์ทางสังคม/ชุมชนที่เห็นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจากสาเหตุ ปัจจัยและเงื่อนไขที่มองไม่เห็นที่ใหญ่กว่า นั่นคือ แบบแผนทางพฤติกรรม (Human Behavior) โครงสร้างทางสังคม (Social Structure) และระบบคิด (Mental Model, Mindset)
[๘] หากทำงานจังหวัดชายแดน ถ้ามีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษและภาษาถิ่นก็จะเป็นการดีมาก เป็นการรองรับประชาคมอาเซียน

2 comments:

  1. ปัจจุบัน พัฒนากร เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ถูกลิดรอนบทบาทหน้าที่โดยสถานการณ์ร่วมสมัยกับการพัฒนาชุมชนของประเทศ ที่มีปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ
    Now, Community Development Officers also known as Pattanakorn in Thailand who are one of change agent have been deprived on Community Driven Development because of Contemporary situation against community development distracting role by structural conflicts in public administration in district level.

    ReplyDelete
  2. จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร
    จะพัฒนาการต้องพัฒนาที่คน จะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่ใจ
    จะพัฒนาใครต้องพัฒนาตัวเราเองก่อน .....
    อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/115846

    ReplyDelete