Wednesday 28 March 2018

การบันทึกชุดความรู้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

การบันทึกชุดความรู้ระดับหน่วยงาน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
--------------------

๑. ชื่อชุดความรู้ งานพัฒนาชุมชนต้องสอดรับกับการปรับเปลี่ยนของยุคสมัยและสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนได้อย่างยั่งยืน

๒. องค์ความรู้ที่บ่งชี้(เลือกได้จำนวน ๑ หมวด)
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ (OTOP) 
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาระบบบริหารจัดการและเข้าถึงแหล่งทุนชุมชน
     องค์ความรู้หมวดเทคนิคการเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

๓. ส่วนราชการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

๔. นิยามการจัดการความรู้ของหน่วยงาน คือ 
การนำความรู้ที่พัฒนากรได้จัดทำองค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ จำนวน ๒ กิจกรรม คือ การขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนในส่วนการขยายผล กับ เทคนิคการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัติวิถีพัฒนากร  และ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จำนวน ๑ กิจกรรม คือ การพัฒนาความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(การทำน้ำยาล้างจาน) มารวบรวมและประมวลผล/ถอดบทเรียน สรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้กับหน่วยงาน และบันทึกลงในเว็บไซต์ เพื่อให้พัฒนากรและผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกในการค้นคว้า เมื่อจะต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

๕. ที่มาและเป้าหมายของการจัดการความรู้
องค์ความรู้มาจากการปฏิบัติงานจริง (Tacit Knowledge) ของพัฒนากรในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส นำมาประมวลผล (Compilation) และ ถอดเป็นบทเรียน (Lessons learned)เกิดเป็นองค์ความรู้ (BoK: Body of Knowledge) และภูมิปัญญา (Wisdom) ใหม่ 

ส่วนเป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ การนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในอนาคต เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด มีความประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

๖. กระบวนการดำเนินงานจัดการความรู้

๖.๑ องค์ความรู้ที่บ่งชี้ คือ 
 องค์ความรู้หมวดเทคนิคการเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง

๖.๒ แสวงหาความรู้จาก (ที่ไหน) 
การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ (Tacit/Implicit Knowledge) และการเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่เดิม (Explicit Knowledge) ที่ได้สะสมเป็นประสบการณ์และที่มีอยู่ในเอกสารตำรา

๖.๓ มีการจัดเก็บ รวบรวมองค์ความรู้ (ในรูปแบบใดบนเว็บไซต์

๖.๔ มีขั้นตอนการประมวลและกลั่นกรองความรู้อย่างไร ใครเป็นคนกลั่นกรอง 
การประมวลผลและกลั่นกรองความรู้จากด้วยการเล่าเรื่องและถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานจริงของพัฒนากร โดยพัฒนากรเป็นผู้กลั่นกรอง และพัฒนาการอำเภอสรุปบทเรียนความรู้จากการถอดบทเรียนของพัฒนากร

๖.๕ การสร้างแหล่งเรียนรู้ในหน่วยงาน 
โดยการนำเสนอผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้พัฒนากรและผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกในการค้นคว้า เมื่อจะต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

๖.๖ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในหน่วยงาน คือ 
การพูดคุยในสำนักงาน การพูดคุยผ่าน Social online

๖.๗ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในหน่วยงาน คือ
การดำเนินโครงการฯตามที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด และพัฒนากรแต่ละคนถอดบทเรียนของตนเองสะสมเป็นประสบการณ์ แล้วก็บันทึกไว้

๗. ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการความรู้
๗.๑ องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นเทคนิค/แนวทางในการพัฒนางาน คือ พัฒนาการอำเภอต้องให้พัฒนากรมีความอิสระในการบริหารจัดการโครงการทั้งหมด พัฒนากรต้องร่วมกับทีมตำบล หน่วยงานภาคีภาครัฐ และอาสาพัฒนาพัฒนาชุมชน เพื่อ

(๑) ร่วมกันวางแผนดำเนินโครงการ 
(๒) ร่วมกันกำหนดและสรรหากลุ่มเป้าหมาย 
(๓) ร่วมกันดำเนินโครงการ
(๔) ร่วมกันถอดบเรียน (AAR: After Action Review) เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ
(๕) ร่วมกันติดตามประเมินผล Output, Outcome, และผลกระทบ (Impact) ระยะยาว 
(๖) ร่วมกันประมวลผล และถอดบทเรียนแบบมองย้อนกลับ (Retrospective)มีพัฒนากรบันทึกข้อมูลนั่น ๆ เพื่อให้เกิด Reflection และสะสมเป็น Tacit/Implicit Knowledge และประสบการณ์ในการทำงานต่อไป
(๗) ร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ


๗.๒ ข้อพึงระวัง(ข้อพึงระวังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางาน) ของพัฒนาการอำเภอและพัฒนากร
(๑) ไม่ทำงานคนเดียว แต่ต้องทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทีมงานภาคีและอาสาพัฒนาชุมชน 
(๒) ไม่หนักใจ แต่ต้องขยันจัดเก็บข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภาพถ่ายแบบนิ่งและเคลื่อนไหว 
(๓) ไม่ทำเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องยอมรับความจริงและขยันโพสต์ข้อมูลบนเว็บไซต์ Social media เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และมีการเสนอแนะความคิดที่หลากหลาย
(๔) ไม่เป็นคนเกียจคร้าน แต่ต้องเรียนรู้เครื่องมือช่วยในการทำงาน (PDA: Personal Digital Assistant) เพื่อให้งานรวดเร็ว
(๕) ไม่ตื่นตูม แต่ตื่นตัวอยู่เสมอในการค้นคว้าหาความรู้ ให้มีความสามารถในการพิมพ์งานเพื่อบันทึกข้อมูล ฝึกฝนการถ่ายภาพเพื่อบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมทั้ง การตัดต่อภาพ และนำเสนอผลงายได้ทุกช่องทาง
(๖) ไม่ต้องมีคนขับรถ แต่สามารถขับขี่พาหนะในการเข้าหมู่บ้าน/ชุมชนด้วยตนเอง
(๗) ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การทำงานของเรา จะไม่เป็นภาระกับเพื่อนร่วมงาน กล่าวคือ พัฒนากรต้องช่วยเพื่อน ไม่ใช่เพื่อนช่วยพัฒนากรอยู่ร่ำไป 
(๘) ลดการพึ่งพาวิทยากรภายนอก แต่ฝึกฝนให้มีความสามารถในการเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ
(๙) อย่าอาศัยเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลภายนอก ประมวลผลข้อมูล ถอดบทเรียน สรุปบทเรียน นำเสนอหรือเผยแพร่ความรู้ผ่านทุกช่องทาง เพราะไม่ลึกซี้งกับดำเนินการเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
(๑๐) อย่าเหมาคลุมว่างานพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ก็เหมือนกับหน่วยงานอื่นทำ แต่ต้องมีความเข้าใจว่า งานพัฒนาชุมชนนั้น มีความแตกต่างจากงานปกครองและงานประชาสงเคราะห์โดยสิ้นเชิง

๗.๓ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ KUSA (กูซ่า)

(๑) K = Knowledge (ความรู้) คือ รู้ คน งาน พื้นที่ ทั้งในเรื่องที่ดำเนินการทั้งภาพกว้าง (General Knowledge) และเจาะจง (Specific Knowledge)
(๒) U = Understanding (ความเข้าใจ) คือ เข้าใจ คน งาน พื้นที่  ทั้งในนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน/จังหวัด/อำเภอ เข้าใจ (ใจเขาใจเรา) เพื่อร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ภาคีการพัฒนา อาสาพัฒนาชุมชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง สถานการณ์หรือบริบทพื้นที่
(๓) S = Skill (มีทักษะ) มีทักษะในการเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือช่วย (PDA) การขับขี่พาหนะเข้าพื้นที่ การใช้ภาษา การประมวลผล การวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล การถอด/สรุปบทเรียน การพิมพ์งาน การจัดทำรายงาน รวมทั้ง การมีศาสตร์และศิลป์ในการพูดคุย โน้มน้าวให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานพัฒนาชุมชน
(๔) A = Attitude (ทัศนคติ) การมีทัศนคติเชิงบวกและการคิดเชิงบวก ต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน มี mindset ที่เป็นจิตอาสาและต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพากันเองได้ ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

๗.๔ ปัญหาที่พบและวิธีการแก้ไข


(๑) ปัญหาที่พบ
- บางคนติดกรอบเจ้าคุณมูลนาย ไม่ติดดิน ได้แต่สั่งการ
- บางคนชอบทำงานแบบช่วยเหลือหรือประชาสงเคราะห์
- บางคนไม่เข้าใจงานพัฒนาชุมชน ที่ทำงานแบบมีส่วนร่วม
- บางโครงการเร่งรีบเพื่อให้ผ่านตัวชี้วัดเบิกเงินงบประมาณ
- บางโครงการไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ (FS: Feasibility Study) ไม่มี Pilot Project ทำงานแบบลองผิดลองถูก (trial and error) และไม่ได้ถอดบทเรียน
- บางโครงการต้องการตอบโจทย์ Top down ไม่ได้ตอบโจทย์ Bottom up 
- แผนงาน/โครงการ/กิจกรรมทุกอย่างต้องการรายงาน ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนต้องทำรายงาน/หลักฐานมากกว่าทำงาน
- ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องเสียเวลากับการจัดเก็บข้อมูลซ้ำซาก และบางข้อมูลไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะไม่มีความจำเป็นและซ้ำกับข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บอยู่แล้ว
- ไม่มีเวลาหรือไม่อยากใช้เวลาในการถอดบทเรียนทั้งแบบ AAR และ Retrospective ทำให้ไม่สามารถ Respective งานที่ทำและสะสมเป็น Tacit /Implicit Knowledge จนเกิดเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลได้

(๒) วิธีการแก้ไข

ก. พัฒนาการอำเภอและพัฒนากร

- ต้องเป็นได้ทั้ง Coach, Mentor, Consultant, และ Psychologist
- ต้องแยกแยะงานพัฒนาชุมชน/งานปกครอง/งานประชาสงเคราะห์ให้เป็นและทำงานพัฒนาชุมชนได้
- มั่นศึกษาเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ใหม่ ๆ ทันต่อสถาณการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
- เปรียบเทียบกับทหารแล้ว พัฒนาการอำเภอ คือ เสนาธิการทหารที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ แต่สามารถประสานงานรอบทิศทาง และพัฒนากร คือ ทหารราบที่พร้อมรบและผูกมิตรกับราษฎรในหมู่บ้าน/ชุมชน และอาสาพัฒนาชุมชน คือ แนวร่วมก่อการดีที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน เราต่างเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ใช่นักวิชาการบนหอคอยงาช้าง


ข. นักวิชาการพัฒนาชุมชนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน/กรมการพัฒนาชุมชน
- ต้องเป็นได้ทั้ง Coach, Mentor, Consultant, และ  Psychologist
- ต้องแปลงนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน/จังหวัด (Implementation) ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเสมียนถอดเทปหรือสำเนาข้อสั่งการ และทำหนังสือเสนอให้ผู้บังคับชาสั่งการอำเภอ
- ไม่เป็นคนสั่งการในเรื่องที่แม้แต่ตนเองยังปฏิบัติไม่ได้ ต้องมี Pilot Project หรือถอดบทเรียนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ และนำมาสะสมเป็นประสบการณ์ในการทำ decision-making สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยในการทำงานได้ และมีการประเมินผล/ถอดบทเรียนงานที่รับผิดชอบตลอดเวลา
- เป็นคนกลางที่ตรงไปตรงมา และนำปัญหา/อุปสรรคของพัฒนาการอำเภอ/พัฒนากร ปรึกษาหารือกับกรมการพัฒนาชุมชน เพราะงานพัฒนาชุมชนอยู่ที่อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน ไม่ได้อยู่ที่จังหวัด/กรมฯ
- ต้องระลึกอยู่เสมอว่า อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน คือ หน่วยปฏิบัติการ ไม่ต้องให้มาเสียเวลาคิดเรื่องยุทธศาสตร์หรือจัดทำแผนกลยุทธ์ซ้ำกับจังหวัด แต่ให้เน้นการสะสมประสบการณ์และความสามารถด้านกลวิธี (Tactic) ในการปฏิบัติงานจะดีกว่า มิฉะนั้น งานพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน/ชุมชนไม่เกิด มีแต่งานตามยุทธศาสตร์กรม/จังหวัด และเสียเวลาในการทำรายงานมากว่าทำงาน ถ้ามองลักษณะงานในพื้นที่ไม่ออก ให้ดูวิธีการทำงานของทหาร ครู และหมอ ที่อยู่ในพื้นที่
- ให้ความสำคัญกับพัฒนากร มากว่า ตำแหน่งอื่น ๆ เหมือนหน่วยงานอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ครู หมอ ฯลฯ และตำแหน่งที่สูงขึ้นก็จะเป็นสัดส่วนตามจำนวนพัฒนากร
- เมื่อพื้นที่งานพัฒนาชุมชนเป็นความรับผิดชอบของท้องถิ่นแล้ว พัฒนากรและงานพัฒนาชุมชนของประเทศยังมีความจำเป็นในการทำงานเชิงประเด็น ทั้งในเมืองและชนบท เหมือนบางประเทศที่ทำ เช่น ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น และอัตราพัฒนากร คิดตามสัดส่วนประชากร เหมือน สาธารณสุข ศึกษา เกษตร ปกครอง ที่ได้กำหนดแผนพัฒนาบุคลากรแล้ว
- ไม่กำหนดตัวชี้วัดการทำงานในลักษณะขุดหลุมฝั่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนกันเอง ให้ตัวชี้วัดเป็นข้อมูลในการประเมินผลเพื่อพัฒนางาน (Evaluation is improve, but not prove) ไม่ใช่ใช้ตัวชี้วัดควบคุมการทำงานเจ้าหน้าที่ ส่วนการควบคุมเจ้าหน้าที่ให้ทำงานต้องกำหนดมาตรระบบการควบคุม (Controlling Systems) อย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า
- สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอต้องมีธุรการและเจ้าหน้าที่การเงิน ส่วนพัฒนากรปฏิบัติงานในระดับตำบลต้องมีครบทุกตำบล หากทำงานเชิงพื้นที่ (area-based)หรือคิดตามสัดส่วนประชากร หากต้องมาทำงานเชิงประเด็น (issue-based)

๗.๕ ผลของการแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องนั้นเป็นอย่างไร

ก. พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรสามารถดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันได้ โดย

- ร่วมกันถกแถลงปัญหา/อุปสรรคร่วมกันและถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนพี่เหมือนน้อง
- เมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรในการทำงานก็เสียสละเบี้ยเลี้ยงจ้างพนักงานมาช่วยทำงาน
- เจ้าหน้าที่ต้องมีความเสียสละเงินบ้างในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือช่วยในการทำงาน
- เกิดการสร้างภาคีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานพื้นที่


ข. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอร่วมกับหน่วยงานภาคีการปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น สาธารณสุข เกษตร ปกครอง กศน. สช ฯลฯ โดยมี นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้บริหารแบบบูรณาการ ดังนี้
- มีการร่วมจัดทำโครงการฯแบบบูรณาการทุกภาคส่วน อาทิเช่น การขับเคลื่อนกิจกรรม ๔ ดี(สุขภาพดี การศึกษาดี เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี)ของอำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลกำหนดให้สุไหงโก-ลก คือ เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 
- ร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่ทำงานเชิงประเด็น เช่น ทีมงานโครงการญาลันนันบารู กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า สร้างกระบวนการจิตอาสากองทุนแม่ของแผ่นดิน จัดค่ายเยาวชนต้านยาเสพติด
- ร่วมสอนแนะและลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพัฒนากรและหน่วยงานภาคีพัฒนา

นอกจากนี้ มีการเขียนบทความ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่การทำงานพัฒนาชุมชน รวมทั้ง ปัญหา/อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ผ่านเว็บไซต์ และ Social online เพื่อจักได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีคำแนะนำในการทำงานจากสาธารณชน และเป็นการสะท้อนการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ผู้บริหารทุกระดับชั้นรับทราบปัญหา/อุปสรรคการทำงานพัฒนาชุมชนในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน และหวังเป็นข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอเป็นการศึกษาวิจัยพื้นฐาน (Basic Exploratory Research) ซึ่งสามารถต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อการยืนยัน (Confirmatory Research) อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน/ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพากันเองได้ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

No comments:

Post a Comment