Wednesday 21 March 2018

ปัญหาและแนวทางแก้ไขการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ล่าช้า ไม่ถูกต้อง และครบถ้วน มีสาเหตุดังต่อไปนี้

๑. แบบสอบถาม
๑.๑ ข้อคำถามมากเกินไป ถึง ๕ หมวด ๓๑ ตัวชี้วัด และมีตัวชี้วัดย่อยอีกมากมาย ทำให้ผู้จัดเก็บและผู้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและอยากต่อการกรอกข้อมูล
๑.๒ เป็นคำถามที่หลายหน่วยงานต้องการรู้ ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานตนเองก็มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่กลับให้มีการใช้แบบสอบถาม จปฐ.ไปเก็บซ้ำ ดูเหมือนต้องการให้มีการทดสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตนเองหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตนเองว่า เข้าถึงประชาชนหรือไม่ อาทิเช่น
๑.๒.๑ หมวดที่ ๑ สุขภาพ มีคำถาม ดังนี้
ข้อ ๑ เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก ๒,๕๐๐ กรัม ขึ้นไปกี่คน
ข้อ ๒ เด็กแรกเกิด ได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย ๖ เดือนแรกติดต่อกันกี่คน
ข้อ ๓ เด็กแรกเกิดถึง ๑๒ ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกี่คน
ข้อ ๔ ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐานหรือไม่
ข้อ ๕ ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสมหรือไม่
ข้อ ๖ คนอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีกี่คน
ข้อ ๗ คนอายุ ๖ ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วัน ๆ ละ ๓๐ นาที กี่คน
๑.๒.๒ หมวดที่ ๕ ค่านิยม มีคำถาม ดังนี้
ข้อ ๒๗ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน กี่คน
ข้อ ๒๘ ผู้พิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน กี่คน
ข้อ ๒๙ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน กี่คน
ซึ่งเป็นข้อมูลที่สาธารณสุขจัดเก็บอยู่แล้ว และเป็นระบบด้วย และดูได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดการไม่ยอมรับข้อมูล จปฐ. เพราะขัดแย้งกับข้อมูลของสาธารณสุข ซึ่งไม่รู้ว่าข้อมูลไหนถูกและข้อมูลไหนผิด

๒. ผู้จัดเก็บ/อาสาสมัครจัดเก็บข้อมูล จปฐ.
๒.๑ ไม่เข้าใจในการตั้งคำถาม
๒.๒ เร่งรีบ ถามคำถามไม่ครบ
๒.๓ กรอกข้อมูลเอง ไม่ได้ไปสอบถามจริง
๒.๔ การจัดเก็บข้อมูลไม่ครบทุกครัวเรือน เพราะเป็นการสำรวจ ไม่ใช่สำมะโน และไม่เก็บข้อมูลสำรวจครัวเรือนที่มาอาศัยในหมู่บ้าน/ชุมชนไม่ครบ ๖ เดือน และมีความยากลำบากในเก็บข้อมูลจากครัวเรือนที่อยู่ในเมือง

๓. ผู้ตอบคำถาม/เจ้าของครัวเรือน
๓.๑ ไม่รู้ข้อมูลของตนเอง โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ
๓.๒ ให้ข้อมูลไม่ตรงความจริง โดยเฉพาะข้อ ๒๒ รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือน เพราะคำนวณไม่ถูกและกลัวต้องเสียภาษี
๓.๓ เบื่อในการให้ข้อมูลสอบถามทุกปี และไม่เข้าใจว่า จะได้ประโยชน์อะไรกลับมา
๓.๔ ไม่อยากตอบคำถามที่ตั้งคำถาม เพื่อต้องการดัดจริตตนเอง คือ หมวดที่ ๕ ค่านิยม มีคำถาม ดังนี้
ข้อ ๒๔ คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา
ข้อ ๒๕ คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่
ข้อ ๒๖ คนอายุ ๖ ปีขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๓๐ ครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชุมชนหรือท้องถิ่น
ข้อ ๓๑ ครอบครัวมีความอบอุ่น

๔. ผู้บันทึกข้อมูล
๔.๑ เร่งรีบในการบันทึกทำให้มองข้อมูลในแบบสอบถามผิดพลาด
๔.๒ ข้อมูลในแบบสอบถามได้ไม่ครบ แต่จำเป็นต้องบันทึก เพราะโปรแกรมบังคับ เลยนึกข้อมูลเองและป้อนเข้าโปรแกรม

๕. โปรแกรมและระบบบันทึกข้อมูล
๕.๑ โปรแกรมเปลี่ยนแปลงทุกปี ต้องเรียนรู้ในการติดตั้งและป้อนข้อมูล
๕.๒ ระบบไม่เสถียร ป้อนข้อมูลก็จริง แต่ไม่ได้บันทึก

แนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
๑. ลดจำนวนข้อคำถามตามข้อ ๑.๑ ลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น กล่าวคือ ตามความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ คือ ปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค หรือตามทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Minimum Needs Theory) ได้แก่ อาหาร (รวมน้ำ) เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
ซึ่งรัฐและชุมชน จะต้องเรียนรู้ข้อมูลและร่วมในการดูแลประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน นำมาซึ่งการออกนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม หรือมาตรการ สู่การดำเนินงานพัฒนาชุมชน แบบมีส่วนร่วม
ส่วนมาตรฐานความจำเป็นพื้นฐานที่กำหนดตามแบบสอบถามที่เหลือ นั่นไม่ใช่ ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Minimum Needs) แต่เป็นมาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) มี Cost of Living (ค่าครองชีพ) เป็นเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) เป็นตัวชี้วัด 
รวมทั้ง ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-economy) วัดจากอาชีพ รายได้ และการศึกษา และมีข้อมูลให้ถามเรื่องขี้ยา ขี้เมา
ส่วนข้อมูลตามข้อ ๑.๒ นำข้อมูลของสาธารณสุข รวมทั้งข้อมูลหมวดที่ ๓ การศึกษา รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานที่รับผิดชอบมาใช้
๒. ดำเนินการเชื่อมโยง (Linkage) ข้อมูลต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ ตามวิธีการ Big Data โดยการใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ (Hadoop) เป็นตัวดึงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และคัด (Query) เฉพาะข้อมูลที่เราต้องการใช้ออกมา และสามารถ Profile ข้อมูลเป็นรายบุคคล/ครัวเรือน/หมู่บ้าน/ชุมชน/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด/ประเทศ ได้ง่ายขึ้น
๓. วิธีการจัดเก็บข้อมูล ใช้ได้ทั้งวิธีผู้ให้ข้อมูลมาพบเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครจัดเก็บข้อมูลหรือเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครเข้าไปพบผู้ให้ข้อมูลก็จะสดวกขึ้น เพราะคำถามมีน้อย 

No comments:

Post a Comment