Friday, 23 March 2018

สาเหตุและแนวทางแก้ไขการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่ยั่งยืน

การพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Development) สามารถดูได้จาก คนในหมู่บ้าน/ชุมชน สามารถ
๑. แปลงกิจกรรม (activities) เป็นกิจการ  (work)
๒. บริหารจัดการกิจการในหมู่บ้าน/ชุมชนด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
๓. แปลงโครงการ (projects) ที่ลงสู่หมู่บ้าน/ชุมชนให้เป็นแผนงาน (programs) และงานที่ดำเนินการเป็นประจำได้ (routine)

สาเหตุและแนวทางแก้ไข ที่ทำให้การพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนไม่ยั่งยืน มีดังต่อไปนี้

๑. ความขัดแย้งทางความคิด เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก มาจากการเลือกตั้งทางการเมืองในหมู่บ้าน/ชุมชน บางหมู่บ้าน ผู้นำไม่สามารถปกครอง ดูแลหรือบริการชาวบ้านได้ทั้งหมด เพราะเป็นกลุ่มหรือพวกอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มหรือพวกอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ
แนวทางแก้ไข 
รัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมโครงการจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ให้มีกิจกรรมในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาชนได้ร่วมสร้างสำนึกร่วมต่อแผ่นดินและการเป็นกลางทางการเมือง และให้โอกาสประชาชนรวมกลุ่มจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดอาสาพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน และภาคประชาสังคมในหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีจิตสาธารณะในการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ตนเอง

๒. ประชาชน/สถาบันครอบครัวล่มสลายและถูกทำลายทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะยาเสพติด 
แนวทางแก้ไข 
รัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมกับจิตอาสา จัดกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (TO BE NUMBER ONE) หรือสร้างให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ ตระหนักคิด ตระหนักทำการต่อต้านผู้ที่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดร่วมกัน หรือ "ใครยุ่งยา เราไม่คบ" และให้โอกาสประชาชนรวมกลุ่มจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้เกิดภาคประชาสังคมในหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีจิตสาธารณะในการขับเคลื่อนกิจกรรมแก้ไขปัญหาและป้องกันเยาวชน ลูกหลาน ในหมู่บ้าน/ชุมชน ไปยุ่งเกี่ยวและเสพยา กลายเป็นภาระและปัญหาของหมู่บ้าน/ชุมชน

๓. ประชาชนขาดความไว้วางใจ (trust) และขาดความเชื่อมั่น (confidence) ต่อกัน เพราะหนี้สินกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน/ชุมชน อาทิเช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กองทุนหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ฯลฯ เป็นต้น
แนวทางแก้ไข 
รัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหรือไปเกี่ยวข้องเสียใหม่ อาทิเช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสทางการคลังของเงินทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ และส่งเสริมความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย  ดังนี้
(๑) บันทึกรายการหนี้สินของลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนทุกรายและทุกประเภทลงในบัตรประจำตัวประชาชน และผ่านระบบธนาคาร ไม่ว่าจะฝากหรือถอนเงิน และส่งจ่ายเงินกู้ยืมด้วยตนเองหรือผู้ได้รับมอบฉันทะทุกครั้ง เพราะสามารถป้องกันการยักยอกเงินของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ รวมทั้ง การทำลายหลักฐานทางการเงินและทะเบียนต่าง ๆ
(๒) ให้ผู้ที่เบี้ยวหนี้ ติดเครดิตบูโร จะได้สร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้
(๓) ผู้ที่เป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนของรัฐทุกประเภทไม่มีเวลาหมดอายุความ เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเดือดร้อน ต้องชดใชัเงินของผู้เบี้ยวหนี้โดยใช่เหตุ
(๔) การรับภาระหนี้ให้เป็นรายคน ไม่ใช่รายกลุ่ม แม้นจะรวมกลุ่มกันทำโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงภาระที่จะตกกับคนใดคนหนึ่ง หรือคนหนึ่งได้ประโยชน์และอีกคนต้องชดใช้หนี้...ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
(๕) เมื่อผู้เป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนของรัฐทุกรายทุกประเภทเบี้ยวหนี้ จะมาทำธุรกรรมทางการเงิน หรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อขึ้นทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ขึ้นทะเบียนรถ โอนที่ดิน เข้าโรงพยาบาล  จะฝากหรือโอนเงินกับธนาคาร ก็ต้องทำการประนอมหนี้ด้วย 
(๖) เมื่อพบผู้ที่เป็นหนี้ตามข้อ ๕ มีฐานะยากจน จะได้ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและฝึกอาชีพ เพราะอาจเบี้ยวหนี้โดยฐานะหรือถูกหลอก หากพบผู้ที่เป็นหนี้ตามข้อ ๕ มีฐานะร่ำรวย จักได้ทำการยึดทรัพย์หรือเสียค่าปรับ เพราะเบี้ยวหนี้โดยสันดาน

สำหรับหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานหรือกองทุนบางกองทุนที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเงินทุนหมุนเวียนของรัฐที่ให้กลุ่มสมาชิก/สมาชิกกู้ยืมเงินนั้น กลายเป็นสถาบันการเงินโดยปริยาย เพราะทำหน้าที่เสมือนธนาคาร จากการนิยามสถาบันการเงิน คือ
๑) เป็นตัวกลางทางด้ารการเงิน (Financial Intermediary)
๒) เป็นวานิชธนกิจ (Investment-banking)
ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐหรือกองทุนข้างต้น ต้องมีสิทธิ์ที่จะได้บริการทางการเงินภายใต้อำนาจกฎหมายที่กระทรวงการคลังกำกับดูแล เฉกเช่น สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารรัฐวิสาหกิจ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

ปัญหาซ่อนเร้นของชาวบ้านในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้ง ๓ ประเด็นข้างต้น เกิดจากการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ผ่านมาและขาดการติดตามประเมินผลถึงผลกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อหมู่บ้าน/ชุมชน ถ้าพูดภาษาการค้าการขาย คือ รัฐจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้ประชาชนแล้ว แต่ไม่มีบริการหลังการขาย

No comments:

Post a Comment