Sunday, 5 March 2017

เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อชีวิต

เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติทุกลุ่มสังคม นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนนำไปสู่ความเข้าใจและก้าวแรกที่มนุษย์ได้เรียนรู้ จากนั้น จึงนำไปเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อความเป็นอยู่ที่สบายและปลอดภัยมากขึ้น

การสร้างสรรค์ความรู้ทางธรรมชาติวิทยามีอยู่ในเกชุมชน จะเหมือนกันหรือแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นฐานและความคิดของสังคมนั้น ๆ สังคมไทยมีวัฒนธรรมทางแตกต่างจากสังคมตะวันตกตรงที่คนไทยขาดความกระตือรือร้นและขาดจินตนาการในการตั้งคำถาม รวมทั้งการแสวงหาคำตอบเพื่อเปิดประตูแสวงหาความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์ หากแต่เน้นในคุณค่าทางจิตใจและการมองโลกแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงร้อยรัดส่วนต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นลักษณะเด่นของโลกตะวันออก ในขณะที่โลกตะวันตกเน้นคุณค่าด้านวัตถุด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์วิจัยแบบแยกส่วน การสร้างสรรค์ผลงานด้านวัตถุจึงโดดเด่นชัดเจน จนนำมาสู่การขยายตัวของการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมและแผ่อิทธิพลครอบคลุมไปทั่วโลก

โลกตะวันออกปะทะกับโลกตะวันตกในยุคสมัยจักรวรรดินิยม ภายหลังจากที่โลกตะวันตกได้ผ่านการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมทั้งได้อาศัยสองสิ่งนี้ รวมเป็นพลังหนุนแผ่อำนาจจักรวรรดินิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก วัฒนธรรมตะวันตกจึงไหลบ่าเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพึงพอใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายและปรับเปลี่ยนธรรมชาติได้มากขึ้นด้วย ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ในเวลาไม่นานนัก

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็เฉกเช่นเดียวกับสรรพสิ่งในโลก เมื่อใช้อย่างเหมาะสมรอบคอบก็จะก่อเกิดคุณ หากใช้ในดุลที่ไม่ดีก็จักก่อเกิดโทษได้

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ที่ทรงบรรยายในปาฐกถา เรื่อ “เทคโนโลยีสารสนทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ" เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๘ ดังนี้
“...เทคโนโลยีต่าง ๆ ทุกประเภท...ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประทศ ในสังคมโบราณประชากรไม่มากมนุษย์เพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางด้านสังคมที่กำหนดขึ้น ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบาย แต่ในสังคมปัจจุบันมีคนมาก ทรัพยากรน้อย มนุษย์จะปรับตัวเพียงอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องอาศัยเทคโนโลยีปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตนได้ส่วนหนึ่งด้วย เทคโนโลยีจึงทำให้สามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นประโยชน์ต่องานพัฒนาต่าง ๆ ...

แต่เราก็ควรมีหลักในการใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ว่าเป็นทาสของสิ่งที่เราจัดทำขึ้น เราต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ต้องให้ธรรมชาติอยู่ยั่งยืนนาน ไม่ใช่แค่ชั่วลูกชั่วหลานหรือแค่ตัวเรา คือ ทำแล้วโกยเอา โกยเอา โกยเอา รวยแล้วเลิก  อย่างนี้ก็จะอยู่ไม่ได้นาน มนุษย์เราควรมีความเป็นอิสระโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระในความคิด รู้จักพินิจเรื่องต่าง ๆ ด้วยปัญญาที่รอบคอบ การพัฒนาประทศที่ดีนั้นควรดำเนินไปพร้อม ๆ กันอย่างกลมกลืนทั้งทางด้านวัตถุที่อิงอยู่กับเรื่องเทคโนโลยีและทางด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable)”

หากเราร่วมกันน้อมอัญเชิญแนวพระราชดำรินี้ไปปฏิบัติ คุณประโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้นและจักส่งผลดีอย่างยั่งยืนต่อผู้คนในสังคมโดยรวม

คัดจาก "หน่วยที่ ๕ เทคโนโลยีไทย" ประมวลสาระชุดวิชา ไทยศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  พิมพ์ครั้งที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๕๕๙ หน้า ๒๗๗

No comments:

Post a Comment