จากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มสัจจะ มาเป็นกองทุนหมุนเวียน สุดท้ายมาจบที่การฟ้องร้องและขึ้นศาล
แนวความคิดและวิธีการเดิมของ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะเน้นการสะสมทุนเพื่อการผลิต (Production Credit) เป็นวิธีสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านพึ่งพากันเองแบบมีส่วนร่วม (Education For Development) และรัฐบาลสนับสนุนงบให้ครึ่งหนึ่งของเงินเก็บสะสมในแต่ละเดือนที่เรียกว่า เงินสัจจะสะสม นำมาฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ คำว่า เพื่อการผลิต คือ เกิดศูนย์สาธิตการตลาด ธนาคารข้าวและยุ้งฉาง เมื่อสมัย ๔๐ กว่าปีที่แล้ว สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตโดยเฉลี่ยน่าจะไม่เกินกลุ่มละ ๑๐๐ คนต่อหมู่บ้าน เงินสัจจะสะสมได้ น่าจะไม่เกินปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท
แต่...ความไม่ลึกซึ้งของนักพัฒนาชุมชนเลียนแบบ นำไปดัดแปลง และเกิดเป็นเงื่อนไขบังคับของผู้เข้าร่วมโครงการ...ให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้าง กลุ่มสัจจะบ้าง ... แล้วยกยอปอปั้นว่า ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มกันเองได้ โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรม จนทำให้ชาวบ้านมีมีความเข้มแข็งพี่งพากันเองได้... จากการปล่อยเงินกู้ด้วยการคิดดอกเบี้ย… แล้วนำมาปันผลกำไร ปันผลเฉลี่ยคืน จัดให้มีเงินสวัสดิการ… ผู้นำมีความเข้มแข็ง เสียสละ ชาวบ้านมีความไว้วางใจ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ… บางกลุ่มมีสมาชิกเป็นพัน เงินสัจจะสะสมเป็นพันล้านบาท จนทำให้นักวิชาการหลายคนมาศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จ บันทึกเป็นตำราหรือวิทยานิพนธ์ ไม่รู้กี่สำนักคิด (school of thought)… จนรัฐบาลได้นำมาเป็นนโยบายของประเทศ ให้ทุกหมู่บ้านมีกองทุนหมุนเวียนขึ้นมา…
ลืมนึกหรือเปล่าครับว่า “เงินไม่เข้าใคร ออกใคร” จนไม่ได้กำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน… ความเร็วพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน… ผู้ที่คุมนโยบายยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของชาวบ้านบางกลุ่ม มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ…ไม่ยอมศึกษาผลกระทบระยะยาว และไม่ฟังเสียงทักท้วงของผู้ปฏิบัติในพื้นที่… หาแนวร่วมนักวิชาการมาประเมินเพื่อยืนยัน กองทุนฯ มาถูกทางแล้ว … แต่ไม่ได้ศึกษาว่า ไปถูกที่หรือเปล่า... ที่กลุ่มออมทรัพย์/กองทุนอยู่ได้ในช่วงแรก เพราะยังยึดติดกับตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลเปลี่ยนมือเมื่อไร... ความไว้วางใจจะดีหรือไม่... ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยใจคอ... คนที่มาแทนที่... สู้สร้างระบบการควบคุมเหมือนสถาบันการเงินทั่วไปไม่ได้... เพราะมีความช่ำชองด้านการบริหารการเงิน... แต่เราไม่ได้เอามาเป็นตัวแบบ แล้วมาผสมผสานกับแนวคิดสถาบันการเงินที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน
ท้ายที่สุด… เป็นสถาบันการเงิน แต่ปล่อยให้มีการบริหารแบบองค์กรกุศล ก็ลงเอยด้วยการฟ้อวร้องและขึ้นศาล… ทำให้ชาวบ้านหมดศรัทธากันเอง … การพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งที่เป่าประกาศ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?... หากไม่เชื่อ ลงมาพิสูจน์ในพื้นที่ด้วยกันไม่ครับ....
เมื่อไม่ได้กำหนดมาตรการการควบคุมที่ถูกต้อง… อย่ามาโทษผู้ปฏิบัติในพื้นที่…และอย่ากดดันให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปทวงหนี้จากชาวบ้านเลยครับ… เพราะคนสั่งเอง ก็ไม่น่าจะมาทวงหนี้ได้… นี่ ไม่นับรวมความผิดจากกรรมการยักยอกเงิน แล้วทำลายหลักฐาน รวมทั้ง การยิงกันตายระหว่างผู้ประกันเงินกู้กับผู้กู้...
การทำให้ชาวบ้านหนึ่งคนต้องขึ้นศาลเพราะนโยบายของรัฐ ก็น่าจะคิดได้แล้วว่า การนำนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติ ด้วยรูปแบบเช่นนั้น ถูกต้องหรือไม่…
ข้อสังเกต ที่ควรศึกษาหาแนทางสนับสนุนและแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินชุมชน
๑. กลุ่มออมทรัพย์ฯ สามารถโตได้โดยมีสมาชิกไม่เกินกี่คน เงินออมไม่เกินกี่บาทที่สามารถบริหารจัดการแบบไม่เกินกำลังความสามารถ โปร่งใส ควบคุม ตรวจสอบได้ และการฝากถอนเบิกจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และรัฐควรเพิ่มทุนครึ่งหนึ่งของเงินสัจจะสะสมในแต่ละปี เพื่อจัดกิจกรรมเน้นด้านเศรษฐกิจสังคม สวัสดิการ เพื่อหมู่บ้าน/ชุมชน แบบมีส่วนร่วม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมด้านการกู้เงิน
๒. กองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน/ชุมชนหรือเกี่ยวข้องกับประชาชน อาทิเช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กองทุนหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ฯลฯ เป็นต้น ที่เป็นเหตุให้ประชาชนขาดความไว้วางใจ (trust) และขาดความเชื่อมั่น (confidence) ต่อกัน เพราะบางคนเป็นหนี้สินแล้วไม่จ่าย ยักยอก ทำลายหลักฐาน เห็นควรดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา คือ
รัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหรือไปเกี่ยวข้องเสียใหม่ อาทิเช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสทางการคลังของเงินทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ และส่งเสริมความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย ดังนี้
(๑) บันทึกรายการหนี้สินของลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนทุกรายและทุกประเภทลงในบัตรประจำตัวประชาชน และผ่านระบบธนาคาร ไม่ว่าจะฝากหรือถอนเงิน และส่งจ่ายเงินกู้ยืมด้วยตนเองหรือผู้ได้รับมอบฉันทะทุกครั้ง เพราะสามารถป้องกันการยักยอกเงินของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ รวมทั้ง การทำลายหลักฐานทางการเงินและทะเบียนต่าง ๆ
(๒) ให้ผู้ที่เบี้ยวหนี้ ติดเครดิตบูโร จะได้สร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้
(๓) ผู้ที่เป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนของรัฐทุกประเภทไม่มีเวลาหมดอายุความ เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเดือดร้อน ต้องชดใชัเงินของผู้เบี้ยวหนี้โดยใช่เหตุ
(๔) การรับภาระหนี้ให้เป็นรายคน ไม่ใช่รายกลุ่ม แม้นจะรวมกลุ่มกันทำโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงภาระที่จะตกกับคนใดคนหนึ่ง หรือคนหนึ่งได้ประโยชน์และอีกคนต้องชดใช้หนี้...ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
(๕) เมื่อผู้เป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนของรัฐทุกรายทุกประเภทเบี้ยวหนี้ จะมาทำธุรกรรมทางการเงิน หรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อขึ้นทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ขึ้นทะเบียนรถ โอนที่ดิน เข้าโรงพยาบาล จะฝากหรือโอนเงินกับธนาคาร ก็ต้องทำการประนอมหนี้ด้วย
(๖) เมื่อพบผู้ที่เป็นหนี้ตามข้อ ๕ มีฐานะยากจน จะได้ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและฝึกอาชีพ เพราะอาจเบี้ยวหนี้โดยฐานะหรือถูกหลอก หากพบผู้ที่เป็นหนี้ตามข้อ ๕ มีฐานะร่ำรวย จักได้ทำการยึดทรัพย์หรือเสียค่าปรับ เพราะเบี้ยวหนี้โดยสันดาน
No comments:
Post a Comment