การเปลี่ยนแปลง (Change) คือ การทำให้สิ่งต่าง ๆ
เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่เดิม ไม่เจาะจงว่าเป็นแบบวิธีใด ไม่เจาะจงทิศทาง
หรืออัตราความเร็ว เช่น การแลกเปลี่ยนเงิน, สังคมเปลี่ยน,
ลมเปลี่ยนทาง, การเปลี่ยนเกียร์รถ (วรทัศน์,
2548)
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) หมายถึง การที่ระบบสังคม
กระบวนการแบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบครอบครัว
ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้อาจจะเป็นไปในทางก้าวหน้าหรือถดถอย
เป็นไปได้อย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยการวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง
และที่เป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2524) ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน, แผนพัฒนา, ความทันสมัย, การพัฒนาสังคม,
ผลกระทบต่อสังคม, การเปลี่ยนแปลง, การพัฒนา, สังคมเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาสังคมของชุมชน
องค์ประกอบของโครงสร้างทางสังคม
1. ความสัมพันธ์ทางสังคม
2. ค่านิยม
3. ความเชื่อ
4. อัตลักษณ์
5. ระบบความรู้
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน
3 ด้าน
1. ด้านเศรษฐกิจ
2. ด้านสังคม
3. ด้านวัฒนธรรม
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1. สภาพแวดล้อม
ธรรมชาติ และประชากร
2. การพัฒนาเศรษฐกิจ
3. ทัศนคติ/ความเชื่อของคนในสังคม
4. การเคลื่อนไหวทางสังคม
5. กระบวนการทางวัฒนธรรม
6. การประดิษฐ์
คิดค้นสิ่งใหม่ๆ
รูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1. การเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรง
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีความเจริญอารยธรรมขั้นต่ำไปสู่สังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมระดับสูงขึ้นต่อไป
2. การเปลี่ยนแปลงแบบวัฏจักร
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่มีความสม่ำเสมอ ค่อยๆ เจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ
จนถึงที่สุดก็จะเสื่อมสลายไป
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สามารถจำแนกและแบ่งกลุ่ม ได้ดังนี้
1. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary
Theory) เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยาของชาร์ลส์
ดาร์วิน (Charles Darwin) ซึ่งกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ
จากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ในลักษณะที่มีการพัฒนาและก้าวหน้ากว่าขั้นที่ผ่านมา
มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีรูปแบบ เรียบง่ายไปสู่รูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
และมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นสังคม ที่มีความสมบูรณ์
Auguste Comte (ค.ศ. 1798
– 1857) เสนอว่า สังคมมนุษย์มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้
(Knowledge) ผ่าน 3 ขั้นตอนตามลำดับ
คือ จากขั้นเทววิทยา (Theological stage) ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา
(Metaphysical stage) และไปสู่ขั้นวิทยาศาสตร์ (Positivistic
stage)
Lewis Henry Morgan (ค.ศ.
1818 – 1881) เสนอว่า สังคมจะมีขั้นของการพัฒนา 3 ขั้นคือ จากสังคมคนป่า (Savage) ไปสู่สังคมอนาอารยชน
(Barbarian) และไปสู่สังคมอารยธรรม (Civilized)
Herbert Spencer (ค.ศ. 1820
– 1903) เสนอว่า วิวัฒนากรของสังคมมนุษย์เป็นแบบสายเดียว (Uni-linear)
ที่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลมีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันด้วยและมารวมกันด้วยกระบวนการสังเคราะห์
(Synthesis) ทำให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
การพัฒนาของสังคมจะมีวิวัฒนาการเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กล่าวคือ
มนุษย์ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ
ได้เป็นอย่างดีจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป และนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไป
Ferdinand Tonnies (ค.ศ.
1855 – 1936) เสนอว่า สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมแบบ Gemeinschaft
(Community) ไปสู่สังคมแบบ Gesellschaft (Society, Groups)
Robert Redfield (ค.ศ. 1857
– 1958) เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเริ่มจากสภาพของสังคมชาวบ้าน (Folk) เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบเมือง (Urban)
ต่อมาแนวความคิดในการสร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบสายเดียว
(Uni-linear) ที่เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเปลี่ยนผ่านแต่ละชั้นที่กำหนดไว้ ได้รับการโต้แย้งว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม น่าจะมีวิวัฒนาการแบบหลายสาย (Multi-linear) เพราะแต่ละสังคมมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน มีรูปแบบของสังคมที่แตกต่างกัน
หรือแม้ว่าสังคมที่มีรูปแบบที่เหมือนกันแต่อาจจะมีสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันก็เป็นได้
2. ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict
Theory) เป็นแนวความคิดที่มีข้อสมมุติฐานที่ว่า
พฤติกรรมของสังคมสามารถเข้าใจได้จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ และบุคคลต่างๆ
เพราะการแข่งขันในการเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีค่าและหายาก
Karl Marx (ค.ศ. 1897
– 1958) มีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของทุกๆ สังคม
จะมีขั้นตอนของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้น
โดยแต่ละขั้นจะมีวิธีการผลิต (Mode of Production) ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของอำนาจของการผลิต
(Forces of production) ซึ่งได้แก่ การจัดการด้านแรงงาน
ที่ดิน ทุน และเทคโนโลยี กับความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต (Social
relation of production) ซึ่งได้แก่
เจ้าของปัจจัยการผลิตและคนงานที่ทำหน้าที่ผลิต
แต่ในระบบการผลิตแต่ละระบบจะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับผู้ใช้แรงงานในการผลิต
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างของสังคม (Substructure)
และเมื่อโครงสร้างส่วนล่างมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลทำให้เกิดการผันแปรและเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างส่วนบน
ของสังคม (Superstructure) ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคม เช่น
รัฐบาล ครอบครัว การศึกษา ศาสนา
และรวมถึงค่านิยม ทัศนคติ
และบรรทัดฐานของสังคม ลำดับขั้นของการพัฒนาของ Marx
มีดังนี้
1. ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม
(Primitive Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของเผ่า
(Tribal Ownership) ต่อมาเผ่าต่างๆ ได้รวมตัวกันเป็นเมืองและรัฐ
ทำให้กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเปลี่ยนไปเป็นของรัฐแทน
2. ขั้นสังคมแบบโบราณ (Ancient
Communal) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐ (State
Ownership) สมาชิกในสังคมได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ซึ่งได้แก่ เครื่องใช้ส่วนตัวและทาส
ดังนั้น ทาส (Slavery) จึงเป็นกำลังสำคัญในระบบการผลิตทั้งหมด
และต่อมาระบบการผลิตได้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของทาสและทาส
3. ขั้นสังคมแบบศักดินา
(Feudalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของขุนนาง คือ
ที่ดิน โดยมีทาสเป็นแรงงานในการผลิต
4. ขั้นสังคมแบบทุนนิยม
(Capitalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุน คือ
ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องจักร โดยมีผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ผลิต
5. ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์
(Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของทุกคน
ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ตามแนวความคิดของ Marx ลำดับขั้นของการนำไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นล่างของสังคมเกิดจากกระบวนการดังต่อไปนี้
- มีความต้องการในการผลิต
- เกิดการแบ่งแยกแรงงาน
- มีการสะสมและพัฒนาทรัพย์สินส่วนบุคคล
- ความไม่เท่าเทียมทางสังคมมีมากขึ้น
- เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในสังคม
- เกิดตัวแทนทางการเมืองเพื่อทำการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้น
- เกิดการปฏิวัติ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแนวความคิดของMarx เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ในสังคม
โดยใช้แนวความคิดวิภาษวิธี (Dialectical) ที่เริ่มจาก
การกระทำ (Thesis) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการกระทำ
(Antithesis) และเกิดการกระทำแบบใหม่ (Synthesis) ตามมา
Lewis A. Coser (ค.ศ. 1913
– 2003) เป็นนักทฤษฎีความขัดแย้ง ที่มองว่า
ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ และอธิบายว่า
ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
ไม่มีกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสมานสามัคคีอย่างสมบูรณ์
เพราะความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะหนึ่งของมนุษย์
ทั้งในความเกลียดและความรักต่างก็มีความขัดแย้งทั้งสิ้น
ความขัดแย้งสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกและทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มได้
เพราะในกลุ่มมีทั้งความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูอยู่ด้วยกัน Coser มีความเห็นว่าความขัดแย้งเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
สามารถทำให้สังคมเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่จากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้
เพราะหากสมาชิกในสังคมเกิดความไม่พึงพอใจต่อสังคมที่เขาอยู่เขาจะพยายามทำการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้น
ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของเขาได้
Coser ยังเสนอว่า
ความขัดแย้งยังสามารถทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ลดความเป็นปรปักษ์
พัฒนาความซับซ้อนของโครงสร้างกลุ่มในด้านความขัดแย้งและร่วมมือ
และสร้างความแปลกแยกกับกลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น
Ralf Dahrendorf (ค.ศ. 1929
– 2009) เป็นนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ปฏิเสธแนวความคิดของMarx
ที่ว่า ชนชั้นในสังคมเกิดจากปัจจัยการผลิต และเสนอว่า
ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิอำนาจ (Authority)
กลุ่มที่เกิดขึ้นภายในสังคมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มที่มีสิทธิอำนาจกับกลุ่มที่ไม่มีสิทธิอำนาจ
สังคมจึงเกิดกลุ่มแบบไม่สมบูรณ์ (Guasi groups) ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างมีผลประโยชน์แอบแฝง
(Latent Interest) อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น
แต่ละฝ่ายจึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้
โดยมีผู้นำทำหน้าที่ในการเจรจาเพื่อปรองดองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ระดับของความขัดแย้ง
ที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากหรือรุนแรงน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและการประสานผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครอบงำ
และเสนอความคิดว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นผลมาจากความกดดันจากภายนอกโดยสังคมอื่น
ๆ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสามารถควบคุมได้ด้วยการประนีประนอม
Dahrendor มีความเห็นว่าความขัดแย้งสามารถทำให้โครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลงได้
ประเภทของการเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง
และขนาดของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง เช่น อำนาจกลุ่ม
ความกดดันของกลุ่ม
3. ทฤษฎีโครงสร้าง –
หน้าที่ (Structural – functional Theory)
แนวความคิดในการพัฒนาทฤษฎีโครงสร้าง –
หน้าที่ เป็นผลมาจากการนำเอาแนวความคิดทางด้านชีววิทยามาใช้ โดยอุปมาว่า
โครงสร้างของสังคมเป็นเสมือนร่างกายที่ประกอบไปด้วยเซลล์ต่าง ๆ และมองว่า
หน้าที่ของสังคมก็คือ การทำหน้าที่ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โดยแต่ละส่วนจะช่วยเหลือและเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อให้ระบบทั้งระบบมีชีวิตดำรงอยู่ได้
Robert K. Merton (ค.ศ.
1910 – 2003) ได้จำแนกหน้าที่ทางสังคมดังนี้คือ หน้าที่หลัก
(Manifest) หน้าที่รอง (Latent) หน้าที่ที่ไม่พึงปรารถนา
(Dysfunctional) หน้าที่ของ
บางโครงสร้างของสังคมอาจมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่
แต่ขณะเดียวกันคนบางส่วนอาจได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดหรืออาจไม่ได้รับผลประโยชน์เลย
ซึ่งรวมไปถึงอาจจะมีคนบางกลุ่มหรือบางส่วนของสังคมได้รับผลเสียจากการทำงานของโครงสร้างสังคมนั้นก็ได้
Emile Durkheim (ค.ศ. 1858
– 1917) มีแนวความคิดว่า หน้าที่ของสังคม คือ
ส่วนที่สนับสนุนให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ Alfred
Reginald, Radcliffe – Brown (ค.ศ. 1881 – 1951) กับ Bronislaw Malinowski (ค.ศ. 1884 – 1942)
ที่มองว่าหน้าที่ทางสังคม
เป็นส่วนสนับสนุนให้โครงสร้างสังคมคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
เพราะสังคมมีกระบวนการทางสังคมที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น
บรรทัดฐาน ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี เป็นต้น
Talcott Parsons (ค.ศ. 1902
– 1979) มีแนวความคิดว่า สังคมเป็นระบบหนึ่งที่มีส่วนต่าง ๆ (Part)
มีความสัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ที่คงที่ของแต่ละส่วนจะเป็นปัจจัยทำให้ระบบสังคมเกิดความสมดุล (Equilibrium)
ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดจากความสมดุลถูกทำลายลง
เพราะองค์ประกอบของสังคมคือ บุคลิกภาพ (Personality) อินทรีย์
(Organism) และวัฒนธรรม (Culture) เกิดความแตกร้าว
โดยมีสาเหตุมาจากทั้งสาเหตุภายนอกระบบสังคม เช่น การเกิดสงคราม
การแพร่กระจายของวัฒนธรรม เป็นต้น และสาเหตุจากภายในระบบสังคมที่เกิดจากความตึงเครียด
(Strain) เพราะความสัมพันธ์ของโครงสร้างบางหน่วย (Unit)
หรือหลายๆ หน่วย ทำงานไม่ประสานกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางประชากร
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสาเหตุทำให้ส่วนอื่น ๆ
มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งระบบก็ได้
Parsonเน้นความสำคัญของวัฒนธรรม
ซึ่งรวมถึง ความเชื่อ บรรทัดฐาน และค่านิยมของสังคม คือ
ตัวยึดเหนี่ยวให้สังคมมีการรวมตัวเข้าด้วยกันและเป็นตัวต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง
ในสังคม
สรุป แนวความคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง
– หน้าที่ มีลักษณะดังนี้
1. สังคมทั้งหมดเป็นระบบหนึ่งที่แต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. ความสัมพันธ์ คือ
สิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
3. ระบบสังคมเป็นการเคลื่อนไหวเข้าสู่ความสมดุล
การปรับความสมดุลของระบบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระบบตามไปด้วยความต่อเนื่องของกระบวนการของข่าวสารจากภายในและภายนอก
นอกจากนี้ทฤษฎีระบบยังมองว่า ความขัดแย้ง ความตึงเครียด
และความไม่สงบสุขภายในสังคมก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีระบบมีข้อจำกัดในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เนื่องจากในการวิเคราะห์ตามทฤษฎีระบบเป็นการศึกษาเฉพาะเรื่อง
จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาความสัมพันธ์กับระบบอื่นได้อย่างลึกซึ้ง
4. ทฤษฎีจิตวิทยา –
สังคม (Social – Psychological Theory)
ทฤษฎีนี้กล่าวว่า การพัฒนาทางสังคมเกิดจากการทำงานของปัจจัยทางด้านจิตวิทยาที่เป็นแรงขับให้ประชาชนมีการกระทำ
มีความกระตือรือร้น มีการประดิษฐ์ มีการค้นพบ มีการสร้างสรรค์ มีการแย่งชิง
มีการก่อสร้าง และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ภายในสังคม
นักสังคมวิทยาที่ใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีดังนี้
Max Webber (ค.ศ. 1864
– 1920) เป็นนักสังคมวิทยาคนแรกที่ใช้หลักจิตวิทยามาใช้
ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
และในผลงานที่ชื่อว่า The Protestant Ethic and the Spirit
of Capitalism เสนอว่า
การพัฒนาในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามลัทธิทุนนิยม
มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่เกิดขึ้นหลังสมัยศตวรรษที่ 16 เมื่อในยุโรปตะวันตกมีการแพร่กระจายคำสอนของศาสนาคริสต์ ลัทธิโปรแตสแตน (Protestant
Ethic) ที่สอนให้ศาสนิกชนเกิดจิตวิญญาณแบบทุนนิยม (Spirit of
Capitalism) เป็นนักแสวงหาสิ่งใหม่
มุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ ทำงานหนักเพื่อสะสมความร่ำรวย
เก็บออมเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน สร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง
Weber ยังเสนอว่า
การพัฒนาของจิตวิญญาณแบบทุนนิยมทำให้เกิดลัทธิความมีเหตุผล (Rationalism) ซึ่งภายใต้สังคมที่ใช้ความมีเหตุผลจะทำให้บุคคลมีความน่าเชื่อถือ
ซื่อสัตย์ สุจริต ยอมรับสิ่งใหม่และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ๆ Weberเชื่อว่า อิทธิพลของความคิด ความเชื่อ
และบุคลิกภาพของคนในสังคมภายใต้สภาวะดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา
Everett E. Hagen (ค.ศ.
1906 – 1993) มีแนวความคิดสอดคล้องกับ Weber ที่ว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีการเริ่มต้นมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและเสนอว่าการเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิม
(Traditional) ไปสู่สังคมสมัยใหม่ (Modern) จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของบุคคล (Personality) โดยเสนอว่าบุคลิกภาพของคนในสังคมดั้งเดิมมีลักษณะตายตัวที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มสังคม
ต้องมีการสั่งการด้วยการบังคับบัญชา ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
และการประดิษฐ์คิดค้น
เพราะคนเหล่านั้นมองโลกตามยถากรรมมากกว่าที่จะมองโลกแบบวิเคราะห์
และต้องการควบคุมให้เป็นไปตามที่คิด
ซึ่งเป็นผลทำให้สังคมแบบดั้งเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ส่วนบุคลิกภาพของคนในสังคมใหม่มีความสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็น เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ
มองโลกที่อยู่รอบตัวเขาอย่างมีเหตุมีผล
เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง
บุคลิกภาพของคนในสังคมดั้งเดิมสามารถที่จะเปลี่ยนไปสู่บุคลิกภาพของคนในสังคมใหม่ได้โดยใช้วิธีการถอดถอนสถานภาพ
(Status withdrawal) ด้วยการนำเอาปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม
และเศรษฐกิจจากสังคมสมัยใหม่เข้าไปแทรกหรือแทนที่ในสังคมดั้งเดิม และยังได้เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงของสังคมอาจทำได้จากการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนในสังคม
โดยเริ่มจากากรพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก
David C. McClelland มีแนวความคิดว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
เน้นศึกษาที่ตัวแปรด้านแรงจูงใจในความสำเร็จ (Achievement Motivation) ซึ่งหมายถึง ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล และเสนอแนวความคิดว่า
ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสังคมในอดีตและปัจจุบันเป็นผลมาจากแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล
หากคน ในสังคมมีแรงจูงใจในความสำเร็จมาก
การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะมีความเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย
และเสนอวิธีการสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จด้วยการเรียนรู้ (Learning) โดยสร้างแรงกระตุ้น ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น
ในการจัดการศึกษาและการเลี้ยงดูเด็ก สังคมควรมีการปูพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล
ด้วยการใช้ปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- แบบอย่างของความสำเร็จจากผู้ปกครอง
- การสร้างความอบอุ่น
- การให้กำลังใจและแรงเสริม
- หลีกเลี่ยงการครอบงำและใช้อำนาจของบิดา