Saturday, 14 April 2018

งานบูรณาการประสบผลสัมฤทธิ์น้อย

หลักการ
การบูรณาการ (integration) การปฏิบัติงานเป็นองค์รวม (holistic) มีโครงสร้างองค์การเฉพาะกิจ (adhoc/adhocracy) แบบผสม (matrix organization)

เราคุ้นเคยกับคำนี้ ตั้งแต่มีนโยบายผู้ว่า CEO ต่อมามีการจัดทำโครงการและให้มีการทำงานในลักษณะบูรณาการ  โดยคิดว่า งานในระดับพื้นที่ไม่สามารถทำงานเก่งคนเดียวได้ การทำงานต้องไม่มี hero ไม่มี one man show แต่ยังขาดการคำนึงถึงเหตุปัจจัยและเงื่อนไขที่ประสบผลสัมฤทธิ์น้อย ดังต่อไปนี้
๑. คณะกรรมการอำนวยการ/บริหาร ขาดการเป็น catalyst ที่ดี
    - authority
    - liaison
๒. งบประมาณในระดับอำเภอไม่ใช่แบบ lump sum 
๓. การให้หลายหน่วยงานบูรณาการงบ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานด้วยนั้น หมิ่นเหม่ต่อการใช้งบประมาณทับซ้อน (สตง.ไม่อนุญาต)
๔. เจ้าหน้าที่มีภารกิจงานประจำ บางครั้งไม่สามารถมาทำงานโครงการ/กิจกรรมร่วม
๕. ผู้บริหารระดับสั่งการไม่ได้คำนึงถึง
    - ความสมดุลของ คน เงิน งาน คือ สั่งให้ทำงาน แต่ไม่มีงบให้ และผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ
    - กระบวนระบบในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แต่ละภาคส่วนขัดกันเชิงโครงสร้าง
    - ขาดการประเมินผลหรือถอดบทเรียนที่ไม่มี bias
    - งานที่สั่งการไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ (FS: Feasibility Study) ไม่มี Pilot Project เป็นงานประเภทลองผิดลองถูก (Trial & Error)

การทำงานในลักษณะการบูรณาการในอดีตที่ประสบผลสำเร็จก็มี แต่ในขณะนั้น ยังไม่ได้นำคำว่า “บูรณาการ” มาเรียก เช่น การปฏิบัติงานของหน่วยงาน ปจว. ของ กอ.รมน.จว. รวบรวมบุคลากรของหลายหน่วยงานลงพื้นที่ทำงานปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) 

ปัจจุบันงานลักษณะบูรณาการ คือ ศอ.บต. และ อปท. โดยมีบุคลากรหรือมีเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนมาทำงานในที่เดี่ยวกัน ส่วนปัญหา/อุปสรรค คือ งานทับซ้อนหน่วยงานภูมิภาค มีความขัดกันเชิงโครงสร้างทางการบริหารในบางประเด็น จึงเกิดปรากฎการณ์หน่วยงานที่มีงบประมาณ ไม่มีคนทำงาน หน่วยงานที่ไม่ค่อยมีงบประมาณถูกบังคับให้ทำงาน หน่วยงานที่มีทั้งงบประมาณและมีคนทำงาน แต่กฎหมายไม่อนุญาตเพราะไม่ใช่หน้าที่

สรุปให้จำง่าย ๆ ว่า “การบูรณาการงาน” ประสบผลสัมฤทธิ์น้อยนั้น เพราะขาดการดูแลจากผู้บริหารระดับสั่งการ เพราะฉะนั้น “บู” อย่างเดียวไม่ได้ ต้อง “ดู” ด้วย ต้องมีทั้ง บู และ ดู จะได้เรียกคำจดจำง่าย ๆ คือ “บูดู”

Tuesday, 10 April 2018

การปฏิรูปประเทศไทย ทำไมต้องมีแผนและระยะเวลานานถึง ๕ ปี?

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากแบบดั้งเดิมแล้วหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วกะทันหัน เปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการออกกฎหมายมาบังคับใช้ เปลี่ยนแปลงแบบมีกำหนดทิศทาง ฯลฯ เป็นต้น ล้วนมีคำเรียกขานเฉพาะทั้งไทยและเทศ พอสรุปได้ดังนี้
๑. การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตามยถากรรม เรียกว่า “วิวัฒนาการ (Evolution)
๒. การเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วกะทันหัน เรียกว่า “การปฏิวัติ (Revolution)” หรือ “รัฐประหาร (Coup d'état)
๓. การเปลี่ยนแปลงแบบใช้กฎหมายบังคับ เรียกว่า “การปฏิรูป (Reformation)"
๔. การเปลี่ยนแปลงมีการวางแผนหรือกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เรียกว่า “การพัฒนา (Development)

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน นั่นคือ “ปฏิทิน (Calendar)

แต่เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๒๔ ก รวม ๖ เรื่อง ดังนี้
๑.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ [ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน]ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล
๒.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ[ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม] ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล
๓. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ [ด้านเศรษฐกิจ] ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล
๔. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ [ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม] ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล 
๕. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ [ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม]ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล
๖. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ [ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ] ดูรายละเอียด คัดลอกข้อมูล 




หมายความว่า

การปฏิรูปประเทศไทย มีการใช้แผนอย่างชัดเจนและแผนนั้นต้องรอถึง ๕ ปี ในความคิดส่วนตัวแล้ว ชื่อคำว่า “ปฏิรูป” ก็จริง เหตุไฉนต้องมีแผนและระยะเวลาทั้ง ๕ ปีด้วย เท่ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ... นั่นไม่ใช่ปฏิรูปครับท่าน ชื่อนั่นไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาสารัตถะและวิธีการปฏิบัติ... เป็นแผนการพัฒนาประเทศโดยทั่วไป แต่เน้นเฉพาะด้านพัฒนาด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะการกำหนดแผนและมีระยะเวลาที่แน่นอน


เมื่อมีแผน... การที่จะนำแผนไปสู่การปฏิบัติ (Implement) ได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติหรือข้าราชการประจำแล้วล่ะครับ... อีก ๕ ปี รัฐบาลท่านจะถึงหรือเปล่า... ปัญหาประเทศไทยโดยเฉพาะการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างของหน่วยงานของรัฐที่ขัดกัน (Public Administrative Structural Conflict) ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น/ท้องที่ ส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค จังหวัด/อำเภอ/ตำบล ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไขครับ... ความซ้ำซ้อน ซ้ำซาก ซ้ำเสริม และความไม่สมดุลของคน เงิน งาน ระบบ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ ก็ยังเป็นสุญญากาศอยู่ดีครับ
ข้อเสนอ
ถ้าใช้คำว่า “ปฏิรูป” คือ Reformation หรือ Transformation หมายถึง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานของรัฐนะครับ มิใช่เป็นคำที่แปลกประหลาดน่าสยองขวัญ อาทิเช่น จากที่มีอธิบดี การตัดสินใจอยู่ที่คนเดียว เปลี่ยนเป็นเลขาธิการ การตัดสินใจอยู่ในรูปองค์คณะ มีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ... หน่วยงานที่ทำงานซ้ำซ้อน ซ้ำซาก ซ้ำเสริม นำมาควบรวม (Merge) อาจควบงานหรือควบหน่วยงาน หน่วยงานที่มีงานรับผิดชอบหลายงาน ทำให้หน่วยงานโตไม่สมส่วน เทอะทะ อุ้ยอ้าย ก็นำมาแยกส่วน (Split) เป็นหน่วยงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความสมดุลระหว่าง คน เงิน งาน ระบบ...
รัฐบาลท่านต้องออกกฎหมายบังคับใช้เลยครับ เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้นกว่าการพัฒนา และช้ากว่าการปฏิวัติรัฐประหาร แต่มีความชอบธรรมสูงโดยมอบหมายหน้าที่นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก ... ไม่ใช่มอบหน้าที่นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เพราะจะได้แค่แผน สภาพัฒน์ถนัดทำแผน และไม่มีมาตรการในการปฏิบัติ ... การนำไปสู่การปฏบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดด้วยพระราชกฤษฎีกา ... ด้วยการถอดบทเรียนจากข้อมูลปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่แล้ว...  ไม่ต้องรอให้แต่ละหน่วยงานปฏิรูปตนเองตามแผนปฏิรูปที่รัฐบาลกำหนดครับ เพราะทำมานานแล้ว ให้แต่ละหน่วยงานเสนอยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ BSC (Balanced Scored Card) มีการกำหนด Value Chain จัดทำกะลากะปิ (KRA: Key Result Area, KPI: Key Performance Indicator) มีการประเมินตนเอง แล้วรายงานให้รัฐบาลทราบ (SAR: Self Assesment Report)... จ้างบริษัท TRIS ร่วมกับสถาบันการศึกษามาประเมินอีก... สุดท้ายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แถมภาระงานเพิ่มขึ้น การทำงานลดลง กระดาษรายงานเพิ่มขึ้น... ผู้รับบริการ/ประชาชนถูกทอดทิ้ง 
วิธีเดียวครับ... การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือ ปฏิรูป ด้วยการออกกฎหมาย... แก้ไข/ปรับปรุง พระราชกฤษฎี แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการ..................พ.ศ................ แล้วค่อยออกแผนพัฒนาหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับการปฏิรูป หรือให้ใช้แผนปฏิรูปประเทศทั้ง ๖ เรื่อง ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานนั่น ๆ  
สิ่งที่กำลังวิพากษ์ คือ แผนพัฒนา/แผนเชิงรุก/แผนกลยุทธ์/แผนยุทธศาสตร์/แผนแม่บท .... สุดแท้แต่จะเรียกครับ...  ซึ่งจะทำให้คำว่า "ปฏิรูป" เป็นการปรับเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น ดูห่างไกลออกไป... 
ส่วนแผนดำเนินการ (Operational planning) หรือ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) นั้น  ... จะต้องมีอยู่แล้วทุกงาน/ทุกกิจกรรม ... จะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่เขียนก็ได้... มีทั้งแผนหลัก แผนรอง/แผนทางเลือก...  แบบทางการและไม่เป็นทางการ 
...การคิดเป็นวนลูปตั้งแต่ Providing - > Formulating -> Implementing -> Evaluating - กลับไปยัง -> Providing ...
ตัวอย่าง การขายขนมครกก็ต้องมีแผนธุรกิจด้วยนะครับ... อย่างน้อยก็แผน ๑ หน้ากระดาษที่นิยมแนะนำให้ผู้ประกอบการทำอยู่ (BMC : Business Model Canvas) ครับ!
ฉะนั้น เมื่อได้กำหนดว่าจะปฏิรูปประเทศก็ต้องออกแผนดำเนินการ/ปฏิบัติการให้เห็นเป็นรูปธรรม หลังจากนั้น ออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการใหม่ในส่วนหน่วยงานราขการที่มีความขัดกันเชิงโครงสร้างให้ตอบสนองการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชน ที่เป็นทั้งทุกข์ของชาวบ้านและทุกข์ของชุมชน ก็เป็นการปฏิรูปแล้วครับท่าน!
สรุป 
การปฏิรูป คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยใช้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะโครงสร้างของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่มีความขัดกันเชิงบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมและตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ 
ส่วน การพัฒนา คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยใช้แผนและการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม

พัฒนาการสังคมไทย

พัฒนาการสังคมไทย
โดย ดุจฤดี คงสุวรรณ์

การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งใช้วิธีการค้นคว้า คือ เดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง สอบสวนค้นคว้าทางภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียนหรือรายงานการสำรวจ และอีกวิธีคือ สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่างประเทศที่เรียบเรียงไว้ ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทย ตามที่กาญจนา ละอองศรี ได้นำเสนอสมมุติฐานเกี่ยวกับชนชาติไท (ไทย) ไว้ในหนังสือชื่อ “กว่าจะเป็น คนไทย” (2531) ดังนี้ 
👂สมมุติฐานที่ 1 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไท (ไทย) อยู่บริเวณมณฑลเสฉวน ตอนกลางของประเทศจีน แล้วอพยพลงมาทางตอนใต้ เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิ ผู้ที่มีความเชื่อในกลุ่มนี้ คือ เตเรียน เดอลาคูเปอรี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน และหลวงวิจิตรวาทการ 
👂สมมุติฐานที่ 2 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน อพยพลงเข้าสู่ตอนกลางของประเทศจีนและเข้าสู่สุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ คือ หมอสอนศาสนาอเมริกันชื่อวิลเลียม คลิพตัน ด็อดด์ ได้เดินทางไปสำรวจโดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ผลจากการสำรวจอยู่ในงานเขียนเรื่อง “เผ่าไทย: พี่ใหญ่ของจีน” (The Thai Race: The Elder Brother of Chinese) งานเขียนนี้สรุปว่าไทยสืบเชื้อสายมาจากมองโกล นักวิชาการไทยที่ได้สืบทอดแนวความคิดมาเขียนเพิ่มเติม คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธ์) ได้เขียนหนังสือชื่อ “หลักไทย” ซึ่งเป็นวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภาในปี พ.ศ.2471 โดยสรุปว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต แนวความคิดนี้นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันไม่ยอมรับเพราะไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน 
👂สมมุติฐานที่ 3 เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย ผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ คือ นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ อาร์ชิบัล อาร์ โคลกุน (Archibal R.Colauhoun) ได้เดินทางสำรวจจากกวางตุ้งไปยังมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ “ไครซ์” (Chryse) ได้พบว่ามีคนเชื้อชาติไทยได้อาศัยอยู่บริเวณนี้ ต่อมา อี เอช ปากเกอร์ (E.H.Parker) เขียนบทความเรื่อง “น่านเจ้า” สนับสนุนว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย นักประวัติศาสตร์ไทยที่เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน คือ ศาสตราจารย์ขจร สุขพาณิช และจิตร ภูมิศักดิ์  
👂สมมุติฐานที่ 4 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออยู่บริเวณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหรือในอินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย โดยศึกษาทางการแพทย์ด้านความถี่ของยีน กลุ่มเลือดและฮีโมโกลบิน คือ นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบูรณ์ นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ผศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณควบคู่ไปกับการศึกษาโดยใช้หลักพันธุศาสตร์ตรวจสอบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า บรรพบุรุษของคนไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรมกับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้นยังพบว่าวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง เช่นการใช้กลองมโหระทึกในพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรกรรมในกลุ่มชาวจ้วงและกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ โบราณวัตถุที่เป็นสำริด – เหล็ก ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง ระบบความเชื่อเกี่ยวกับขอฝนและบูชาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นกบ วัฒนธรรมหม้อสามขา (สุจิตต์ วงศ์เทศ, 2550)

นอกจากความคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้างต้นแล้วยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับเส้นทางการเคลื่อนย้ายของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับการเคลื่อนไหวทางทะเล – ทางบก ว่าถิ่นฐานของชนชาติไท (ไทย) กระจายอยู่ตามลุ่มน้ำสำคัญทางตอนใต้ของจีนหรือทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายไปมาผสมกลมกลืนกับกลุ่มชนพื้นเมือง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2529) โดยครั้งแรกในการเคลื่อนย้ายเป็นการกระจายตามแนว “ตะวันออก – ตะวันตก” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2536) เรียกว่า “ไทยน้อย” กับ “ไทยใหญ่” โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแกนกลาง พวกไทยน้อยอยู่ทางตะวันออก ส่วนพวกไทยใหญ่อยู่ทางตะวันตก ต่อจากนั้นจึงขยายตัวลงตามแนว “เหนือ – ใต้” กลายเป็นพวก “ไทยสยาม” มีการผสมกลมกลืนกับบรรดาชนชาติและชนเผ่าอื่น ๆ จนเกิดเป็นรัฐและอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลอินเดียในเวลาต่อมา เหตุการณ์การเคลื่อนย้ายข้างต้นนั้นทั้งศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ว่าเกิดขึ้นประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว (ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2534)

สมมุติฐานที่ 5 เชื่อว่าคนไทยอยู่ที่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน สมมุติฐานนี้มีความต่อเนื่องจากสมมุติฐานที่ 4 ข้างต้น กล่าวคือเป็นการศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับหลักฐานทางวัฒนธรรมอื่นๆ นักคิดในกลุ่มนี้ได้แก่ ควอริชท์ เวลส์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี หลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาใช้ในการศึกษาได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบ ณ อำเภอบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยวิธีการเปรียบเทียบกับโครงกระดูกของคนไทยในปัจจุบัน (ปี 2525) สรุปว่ามีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันทั้งในเรื่องความสูง พยาธิสภาพ ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งฟัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสมมุติฐานเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไท (ไทย) ก็ยังไม่อาจสรุปได้จำต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไปทั้งนี้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนไท (ไทย) บนผืนแผ่นดินไทยด้วยกันเอง ทั้งนี้เป็นเพราะคำว่า “ไทย” นั้นเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศขึ้นมาใหม่ โดยให้ความสำคัญเฉพาะ “ชนชาติไทย” เป็นหลัก แต่ละเลยความสำคัญของ “ดินแดน” และ “ผู้คน” ซึ่งประกอบด้วยชาวพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เข้ามาผสมกลมกลืนจนกลายเป็น “ชาวสยาม” หรือ “คนไทย” สืบมาถึงปัจจุบัน ฉะนั้น บรรพชนของ “คนไทย” ทุกวันนี้คือ “ชาวสยาม” ที่ประกอบไปด้วยเม็ง-มอญ ขอม-เขมร ลวะ-ละว้า ข่า-ข้อย ลาวและ “แขก” อย่างมาเลย์-จามรวมทั้งเจ๊ก-จีน ฯลฯ คนพวกนี้เกือบทั้งหมดมีถิ่นฐานเป็นคนพื้นเมืองอยู่ในดินแดนประเทศไทยนี้มาแต่ดั้งเดิม ส่วนน้อยมาจากที่อื่น แต่ก็อยู่ที่นี่มาช้านาน แล้ว

เพราะฉะนั้นบรรพชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากที่ไหนแต่อยู่ที่นี่ แม้ว่าวันนี้จะมีชนชาติไทยกระจายอยู่นอกประเทศแต่พวกนั้นก็ไม่ได้อพยพหลบหนีการรุกรานมาจากไหน ล้วนมีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ดั้งเดิมอย่างน้อยเป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้ว


การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การเปลี่ยนแปลง (Change) คือ การทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่เดิม ไม่เจาะจงว่าเป็นแบบวิธีใด ไม่เจาะจงทิศทาง หรืออัตราความเร็ว เช่น การแลกเปลี่ยนเงิน, สังคมเปลี่ยน, ลมเปลี่ยนทาง, การเปลี่ยนเกียร์รถ (วรทัศน์, 2548)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) หมายถึง การที่ระบบสังคม กระบวนการแบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบครอบครัว ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้อาจจะเป็นไปในทางก้าวหน้าหรือถดถอย เป็นไปได้อย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยการวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง และที่เป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2524) ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน, แผนพัฒนา, ความทันสมัย, การพัฒนาสังคม, ผลกระทบต่อสังคม, การเปลี่ยนแปลง, การพัฒนา, สังคมเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาสังคมของชุมชน

องค์ประกอบของโครงสร้างทางสังคม
1. ความสัมพันธ์ทางสังคม
2. ค่านิยม
3. ความเชื่อ
4. อัตลักษณ์
5. ระบบความรู้

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน
1. ด้านเศรษฐกิจ
2. ด้านสังคม
3. ด้านวัฒนธรรม

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1. สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ และประชากร
2. การพัฒนาเศรษฐกิจ
3. ทัศนคติ/ความเชื่อของคนในสังคม
4. การเคลื่อนไหวทางสังคม
5. กระบวนการทางวัฒนธรรม
6. การประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ

รูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
1. การเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรง เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีความเจริญอารยธรรมขั้นต่ำไปสู่สังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมระดับสูงขึ้นต่อไป
2. การเปลี่ยนแปลงแบบวัฏจักร เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่มีความสม่ำเสมอ ค่อยๆ เจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดก็จะเสื่อมสลายไป

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกและแบ่งกลุ่ม ได้ดังนี้
1. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยาของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ซึ่งกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ จากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ในลักษณะที่มีการพัฒนาและก้าวหน้ากว่าขั้นที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีรูปแบบ เรียบง่ายไปสู่รูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น และมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นสังคม ที่มีความสมบูรณ์

Auguste Comte (ค.ศ. 1798 – 1857) เสนอว่า สังคมมนุษย์มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge) ผ่าน 3 ขั้นตอนตามลำดับ คือ จากขั้นเทววิทยา (Theological stage) ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา (Metaphysical stage) และไปสู่ขั้นวิทยาศาสตร์ (Positivistic stage)
Lewis Henry Morgan (ค.ศ. 1818 – 1881) เสนอว่า สังคมจะมีขั้นของการพัฒนา 3 ขั้นคือ จากสังคมคนป่า (Savage) ไปสู่สังคมอนาอารยชน (Barbarian) และไปสู่สังคมอารยธรรม (Civilized)

Herbert Spencer (ค.ศ. 1820 – 1903) เสนอว่า วิวัฒนากรของสังคมมนุษย์เป็นแบบสายเดียว (Uni-linear) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลมีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันด้วยและมารวมกันด้วยกระบวนการสังเคราะห์ (Synthesis) ทำให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนาของสังคมจะมีวิวัฒนาการเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป และนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไป

Ferdinand Tonnies (ค.ศ. 1855 – 1936) เสนอว่า สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมแบบ Gemeinschaft (Community) ไปสู่สังคมแบบ Gesellschaft (Society, Groups)

Robert Redfield (ค.ศ. 1857 – 1958) เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเริ่มจากสภาพของสังคมชาวบ้าน (Folk) เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบเมือง (Urban)

ต่อมาแนวความคิดในการสร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบสายเดียว (Uni-linear) ที่เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเปลี่ยนผ่านแต่ละชั้นที่กำหนดไว้ ได้รับการโต้แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม น่าจะมีวิวัฒนาการแบบหลายสาย (Multi-linear) เพราะแต่ละสังคมมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน มีรูปแบบของสังคมที่แตกต่างกัน หรือแม้ว่าสังคมที่มีรูปแบบที่เหมือนกันแต่อาจจะมีสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันก็เป็นได้

2. ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) เป็นแนวความคิดที่มีข้อสมมุติฐานที่ว่า พฤติกรรมของสังคมสามารถเข้าใจได้จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ และบุคคลต่างๆ เพราะการแข่งขันในการเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีค่าและหายาก
Karl Marx (ค.ศ. 1897 – 1958) มีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของทุกๆ สังคม จะมีขั้นตอนของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้น โดยแต่ละขั้นจะมีวิธีการผลิต (Mode of Production) ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของอำนาจของการผลิต (Forces of production) ซึ่งได้แก่ การจัดการด้านแรงงาน ที่ดิน ทุน และเทคโนโลยี กับความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต (Social relation of production) ซึ่งได้แก่ เจ้าของปัจจัยการผลิตและคนงานที่ทำหน้าที่ผลิต แต่ในระบบการผลิตแต่ละระบบจะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับผู้ใช้แรงงานในการผลิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างของสังคม (Substructure) และเมื่อโครงสร้างส่วนล่างมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลทำให้เกิดการผันแปรและเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างส่วนบน
ของสังคม (Superstructure) ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคม เช่น รัฐบาล ครอบครัว การศึกษา ศาสนา
และรวมถึงค่านิยม ทัศนคติ และบรรทัดฐานของสังคม ลำดับขั้นของการพัฒนาของ Marx มีดังนี้
1. ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม (Primitive Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของเผ่า (Tribal Ownership) ต่อมาเผ่าต่างๆ ได้รวมตัวกันเป็นเมืองและรัฐ ทำให้กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเปลี่ยนไปเป็นของรัฐแทน
2. ขั้นสังคมแบบโบราณ (Ancient Communal) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐ (State Ownership) สมาชิกในสังคมได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ซึ่งได้แก่ เครื่องใช้ส่วนตัวและทาส ดังนั้น ทาส (Slavery) จึงเป็นกำลังสำคัญในระบบการผลิตทั้งหมด และต่อมาระบบการผลิตได้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของทาสและทาส
3. ขั้นสังคมแบบศักดินา (Feudalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของขุนนาง คือ ที่ดิน โดยมีทาสเป็นแรงงานในการผลิต
4. ขั้นสังคมแบบทุนนิยม (Capitalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุน คือ ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องจักร โดยมีผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ผลิต
5. ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

ตามแนวความคิดของ Marx ลำดับขั้นของการนำไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นล่างของสังคมเกิดจากกระบวนการดังต่อไปนี้
- มีความต้องการในการผลิต
- เกิดการแบ่งแยกแรงงาน
- มีการสะสมและพัฒนาทรัพย์สินส่วนบุคคล
- ความไม่เท่าเทียมทางสังคมมีมากขึ้น
- เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในสังคม
- เกิดตัวแทนทางการเมืองเพื่อทำการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้น
- เกิดการปฏิวัติ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแนวความคิดของMarx เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ในสังคม โดยใช้แนวความคิดวิภาษวิธี (Dialectical) ที่เริ่มจาก การกระทำ (Thesis) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการกระทำ (Antithesis) และเกิดการกระทำแบบใหม่ (Synthesis) ตามมา
Lewis A. Coser (ค.ศ. 1913 – 2003) เป็นนักทฤษฎีความขัดแย้ง ที่มองว่า ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ และอธิบายว่า ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ไม่มีกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสมานสามัคคีอย่างสมบูรณ์ เพราะความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ทั้งในความเกลียดและความรักต่างก็มีความขัดแย้งทั้งสิ้น ความขัดแย้งสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกและทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มได้ เพราะในกลุ่มมีทั้งความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูอยู่ด้วยกัน Coser มีความเห็นว่าความขัดแย้งเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สามารถทำให้สังคมเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่จากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้ เพราะหากสมาชิกในสังคมเกิดความไม่พึงพอใจต่อสังคมที่เขาอยู่เขาจะพยายามทำการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของเขาได้
Coser ยังเสนอว่า ความขัดแย้งยังสามารถทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ลดความเป็นปรปักษ์ พัฒนาความซับซ้อนของโครงสร้างกลุ่มในด้านความขัดแย้งและร่วมมือ และสร้างความแปลกแยกกับกลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น
Ralf Dahrendorf (ค.ศ. 1929 – 2009) เป็นนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ปฏิเสธแนวความคิดของMarx ที่ว่า ชนชั้นในสังคมเกิดจากปัจจัยการผลิต และเสนอว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิอำนาจ (Authority) กลุ่มที่เกิดขึ้นภายในสังคมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มที่มีสิทธิอำนาจกับกลุ่มที่ไม่มีสิทธิอำนาจ สังคมจึงเกิดกลุ่มแบบไม่สมบูรณ์ (Guasi groups) ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างมีผลประโยชน์แอบแฝง (Latent Interest) อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้
โดยมีผู้นำทำหน้าที่ในการเจรจาเพื่อปรองดองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระดับของความขัดแย้ง
ที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากหรือรุนแรงน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและการประสานผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครอบงำ และเสนอความคิดว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นผลมาจากความกดดันจากภายนอกโดยสังคมอื่น ๆ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสามารถควบคุมได้ด้วยการประนีประนอม
Dahrendor มีความเห็นว่าความขัดแย้งสามารถทำให้โครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลงได้ ประเภทของการเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง และขนาดของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง เช่น อำนาจกลุ่ม ความกดดันของกลุ่ม

3. ทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่ (Structural – functional Theory)
แนวความคิดในการพัฒนาทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่ เป็นผลมาจากการนำเอาแนวความคิดทางด้านชีววิทยามาใช้ โดยอุปมาว่า โครงสร้างของสังคมเป็นเสมือนร่างกายที่ประกอบไปด้วยเซลล์ต่าง ๆ และมองว่า หน้าที่ของสังคมก็คือ การทำหน้าที่ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแต่ละส่วนจะช่วยเหลือและเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อให้ระบบทั้งระบบมีชีวิตดำรงอยู่ได้
Robert K. Merton (ค.ศ. 1910 – 2003) ได้จำแนกหน้าที่ทางสังคมดังนี้คือ หน้าที่หลัก (Manifest) หน้าที่รอง (Latent) หน้าที่ที่ไม่พึงปรารถนา (Dysfunctional) หน้าที่ของ
บางโครงสร้างของสังคมอาจมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันคนบางส่วนอาจได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดหรืออาจไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ซึ่งรวมไปถึงอาจจะมีคนบางกลุ่มหรือบางส่วนของสังคมได้รับผลเสียจากการทำงานของโครงสร้างสังคมนั้นก็ได้
Emile Durkheim (ค.ศ. 1858 – 1917) มีแนวความคิดว่า หน้าที่ของสังคม คือ ส่วนที่สนับสนุนให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ Alfred Reginald, Radcliffe – Brown (ค.ศ. 1881 – 1951) กับ Bronislaw Malinowski (ค.ศ. 1884 – 1942) ที่มองว่าหน้าที่ทางสังคม เป็นส่วนสนับสนุนให้โครงสร้างสังคมคงอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมมีกระบวนการทางสังคมที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น บรรทัดฐาน ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี เป็นต้น
Talcott Parsons (ค.ศ. 1902 – 1979) มีแนวความคิดว่า สังคมเป็นระบบหนึ่งที่มีส่วนต่าง ๆ (Part) มีความสัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ที่คงที่ของแต่ละส่วนจะเป็นปัจจัยทำให้ระบบสังคมเกิดความสมดุล (Equilibrium) ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดจากความสมดุลถูกทำลายลง เพราะองค์ประกอบของสังคมคือ บุคลิกภาพ (Personality) อินทรีย์ (Organism) และวัฒนธรรม (Culture) เกิดความแตกร้าว โดยมีสาเหตุมาจากทั้งสาเหตุภายนอกระบบสังคม เช่น การเกิดสงคราม การแพร่กระจายของวัฒนธรรม เป็นต้น และสาเหตุจากภายในระบบสังคมที่เกิดจากความตึงเครียด (Strain) เพราะความสัมพันธ์ของโครงสร้างบางหน่วย (Unit) หรือหลายๆ หน่วย ทำงานไม่ประสานกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางประชากร
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสาเหตุทำให้ส่วนอื่น ๆ
มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งระบบก็ได้ Parsonเน้นความสำคัญของวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึง ความเชื่อ บรรทัดฐาน และค่านิยมของสังคม คือ ตัวยึดเหนี่ยวให้สังคมมีการรวมตัวเข้าด้วยกันและเป็นตัวต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง
ในสังคม
สรุป แนวความคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่ มีลักษณะดังนี้
1. สังคมทั้งหมดเป็นระบบหนึ่งที่แต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. ความสัมพันธ์ คือ สิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
3. ระบบสังคมเป็นการเคลื่อนไหวเข้าสู่ความสมดุล การปรับความสมดุลของระบบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระบบตามไปด้วยความต่อเนื่องของกระบวนการของข่าวสารจากภายในและภายนอก นอกจากนี้ทฤษฎีระบบยังมองว่า ความขัดแย้ง ความตึงเครียด และความไม่สงบสุขภายในสังคมก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีระบบมีข้อจำกัดในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เนื่องจากในการวิเคราะห์ตามทฤษฎีระบบเป็นการศึกษาเฉพาะเรื่อง จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาความสัมพันธ์กับระบบอื่นได้อย่างลึกซึ้ง

4. ทฤษฎีจิตวิทยา – สังคม (Social – Psychological Theory)
ทฤษฎีนี้กล่าวว่า การพัฒนาทางสังคมเกิดจากการทำงานของปัจจัยทางด้านจิตวิทยาที่เป็นแรงขับให้ประชาชนมีการกระทำ มีความกระตือรือร้น มีการประดิษฐ์ มีการค้นพบ มีการสร้างสรรค์ มีการแย่งชิง มีการก่อสร้าง และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ภายในสังคม นักสังคมวิทยาที่ใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีดังนี้
Max Webber (ค.ศ. 1864 – 1920) เป็นนักสังคมวิทยาคนแรกที่ใช้หลักจิตวิทยามาใช้
ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และในผลงานที่ชื่อว่า The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism เสนอว่า การพัฒนาในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามลัทธิทุนนิยม มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่เกิดขึ้นหลังสมัยศตวรรษที่ 16 เมื่อในยุโรปตะวันตกมีการแพร่กระจายคำสอนของศาสนาคริสต์ ลัทธิโปรแตสแตน (Protestant Ethic) ที่สอนให้ศาสนิกชนเกิดจิตวิญญาณแบบทุนนิยม (Spirit of Capitalism) เป็นนักแสวงหาสิ่งใหม่ มุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ ทำงานหนักเพื่อสะสมความร่ำรวย เก็บออมเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน สร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง

Weber ยังเสนอว่า การพัฒนาของจิตวิญญาณแบบทุนนิยมทำให้เกิดลัทธิความมีเหตุผล (Rationalism) ซึ่งภายใต้สังคมที่ใช้ความมีเหตุผลจะทำให้บุคคลมีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ สุจริต ยอมรับสิ่งใหม่และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ๆ Weberเชื่อว่า อิทธิพลของความคิด ความเชื่อ และบุคลิกภาพของคนในสังคมภายใต้สภาวะดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา

Everett E. Hagen (ค.ศ. 1906 – 1993) มีแนวความคิดสอดคล้องกับ Weber ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีการเริ่มต้นมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและเสนอว่าการเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิม (Traditional) ไปสู่สังคมสมัยใหม่ (Modern) จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของบุคคล (Personality) โดยเสนอว่าบุคลิกภาพของคนในสังคมดั้งเดิมมีลักษณะตายตัวที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มสังคม ต้องมีการสั่งการด้วยการบังคับบัญชา ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการประดิษฐ์คิดค้น เพราะคนเหล่านั้นมองโลกตามยถากรรมมากกว่าที่จะมองโลกแบบวิเคราะห์ และต้องการควบคุมให้เป็นไปตามที่คิด ซึ่งเป็นผลทำให้สังคมแบบดั้งเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนบุคลิกภาพของคนในสังคมใหม่มีความสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็น เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ มองโลกที่อยู่รอบตัวเขาอย่างมีเหตุมีผล เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพของคนในสังคมดั้งเดิมสามารถที่จะเปลี่ยนไปสู่บุคลิกภาพของคนในสังคมใหม่ได้โดยใช้วิธีการถอดถอนสถานภาพ (Status withdrawal) ด้วยการนำเอาปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจจากสังคมสมัยใหม่เข้าไปแทรกหรือแทนที่ในสังคมดั้งเดิม และยังได้เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมอาจทำได้จากการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนในสังคม โดยเริ่มจากากรพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก

David C. McClelland มีแนวความคิดว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เน้นศึกษาที่ตัวแปรด้านแรงจูงใจในความสำเร็จ (Achievement Motivation) ซึ่งหมายถึง ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล และเสนอแนวความคิดว่า ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสังคมในอดีตและปัจจุบันเป็นผลมาจากแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล หากคน ในสังคมมีแรงจูงใจในความสำเร็จมาก การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะมีความเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย และเสนอวิธีการสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จด้วยการเรียนรู้ (Learning) โดยสร้างแรงกระตุ้น ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น ในการจัดการศึกษาและการเลี้ยงดูเด็ก สังคมควรมีการปูพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล ด้วยการใช้ปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- แบบอย่างของความสำเร็จจากผู้ปกครอง
- การสร้างความอบอุ่น
- การให้กำลังใจและแรงเสริม
- หลีกเลี่ยงการครอบงำและใช้อำนาจของบิดา

Thursday, 5 April 2018

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 30 มีนาคม 2561



วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน ศกนี้ พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้พร้อมเพรียงกันเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” อีกด้วยในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งปวงด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะล้ำเลิศ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานาประการ ในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย และทรงเป็นแบบอย่างการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรอันงดงามโดยทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์มรดกของชาติ ให้ยั่งยืนตกทอดถึงลูกหลานไทย อันสอดคล้องกับพระราชปณิธาน ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขมวลประชา” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

ในการนี้ ผมขอเชิญชวนปวงชาวไทยทุกคน พร้อมใจกันรำลึกพระเกียรติคุณและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงบำเพ็ญและจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติ ให้คงอยู่คู่บ้านเมืองตราบนานเท่านาน และขอให้ร่วมกันหมั่น “ทำความดี ด้วยหัวใจ” ในทุกโอกาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ปัจจุบัน บรรยากาศ “ไทยนิยม” ยังคงอบอวลทั่วไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และผมขอสนับสนุนให้คงอยู่เช่นนี้เรื่อยไป โดยเฉพาะการอนุรักษ์ความเป็นไทย ด้วยการแต่งกายแบบไทย ๆ ไปทำงานก็ดี หรือเพื่อการท่องเที่ยวก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ก็อย่าให้เดือดร้อนบางกิจกรรมมีนโยบายลดราคา หรือให้บริการ “ฟรี” สำหรับผู้ที่แต่งกายย้อนยุค ก็ถือว่าเป็นกุศโลบายที่น่าส่งเสริม ส่วนนักท่องเที่ยวเอง การปฏิบัติตัว ณ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ขอให้เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เคารพสถานที่ ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ปีนป่าย ไม่ทำในสิ่งอันไม่สมควร เพื่อเก็บไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัส ได้ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ขอความร่วมมือด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

จากสัปดาห์แล้วที่ผมกล่าวถึงเรื่องคุณอำนาจ พรหมภินันท์ นักวิ่งทางดิ่ง วัย 66 ปี เป็นนักวิ่งหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรายการ “วิ่งขึ้นหอไอเฟล” ซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ผมอยากชวนทุกฝ่ายช่วยกัน “คิดต่อยอด” ให้มองภาพที่ใหญ่ขึ้น คำถามคือทำอย่างไรให้ “การวิ่ง” นั้นสร้างเศรษฐกิจ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และดึงรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และอื่น ๆ ไม่ใช่แค่การจัดงานวิ่งแล้วจบไป เหมือนงาน event หนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่จะเป็นอีก“อุตสาหกรรมใหม่” ของเรา รวมทั้ง “อุตสาหกรรมภาพยนตร์” ก็เหมือนกัน ที่สามารถจะสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือต่อยอดจาก “การท่องเที่ยว” ได้หลายเท่าตัว

ผมขอยกตัวอย่าง ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “งานวิ่งมาราธอน” ที่จัดในเมืองใหญ่ทั่วโลก และได้รับการยอมรับมากที่สุด ที่เรียกว่าระดับ Majors มี 6 สนาม ได้แก่ Boston จัดมา 121 ปี รองลงมา New York City 48 ปี Berlin 44 ปี Chicago 41 ปี London 37 ปี และTokyo 36 ปี ยังมีสนามอื่น ๆ อีกมากมายที่จัดขึ้นทั่วโลก งานเหล่านี้จะมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 35,000 คน สนามใหญ่ ๆ อย่าง New York City Marathon มีคนวิ่งจบ 50,000 กว่าคน มากกว่าโอลิมปิกที่มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ราว 11,000 คน เท่านั้น ตัวอย่างของผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ เม็ดเงินมหาศาลจะไหลเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพเพราะนักวิ่งจากทั่วโลกเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว วิ่งด้วย – เที่ยวด้วย จับจ่ายใช้สอย ที่พัก อาหาร ของฝาก การจัดงาน “ระดับประเทศ” ถ้าหากได้รับความนิยมก็ถูกยกเป็น “ระดับโลก” ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เคยมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัด “ชิคาโก มาราธอน” ในปี 2016 เฉพาะในเมืองชิคาโก ก็สูงถึง 9,000 ล้านบาท ส่วน “ลอนดอนมาราธอน” เมื่อปีที่แล้วสามารถหาเงินเข้าองค์กรการกุศลได้มากถึง 2,700 ล้านบาท แล้วก็ถือเป็นสถิติโลกด้วย

เราลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผมประหลาดใจอยู่เหมือนกันว่า ประเทศไทยเราก็จัดมีการจัดวิ่งมาราธอนไม่แพ้เขา จัดมานาน 30 กว่าปี พอ ๆ กับที่ลอนดอนและโตเกียว เท่าที่ทราบสนามแข่งขันมี 6 สนามที่เป็นสมาชิก AIMS (เอมส์) ซึ่งเป็นสมาคมที่รับรองว่าการวัดระยะในสนามแข่งขันมีความถูกต้อง ทำให้สถิติของนักวิ่งได้รับการรับรองและสามารถเอาไปใช้สมัครเพื่อแข่งขันในสนามระดับโลกได้ แต่เรายังไม่มีสนามใดเลยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก IAAF Label ซึ่งมีข้อกำหนดอีกมากที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นต้องมีระบบการแพทย์ดูแลนักกีฬา หากมีคนล้มในสนามต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว หากเรายกระดับการจัดเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าวได้ จะสามารถดึงดูด“นักท่องเที่ยวเชิงกีฬา” ได้ในที่สุด

ผมเห็นหลายประเทศเขาดำเนินการในรูปแบบ “มูลนิธิ” โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนมาช่วยจัดงาน และหน่วยงานของรัฐก็เข้าไปสนับสนุน อำนวยความสะดวก สรุปแล้วเป็นกลไกหนึ่งที่ “ประชารัฐ” ในแต่ละท้องถิ่นสามารถจะทำได้ ตามนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ที่สามารถประสบความสำเร็จมาแล้วหลายกิจกรรม เช่น ประชารัฐ “พีพี โมเดล” ช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ที่ไม่เท่าไร แต่ปี 57 เก็บได้ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปี 60 เก็บได้ 2,400 ล้านบาท และปีนี้ คาดว่าจะถึง 3,000 ล้านบาท ขอให้รักษาระบบนิเวศน์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วย รายได้ที่ได้มาก็ไม่ได้ไปที่ไหน จะอยู่ที่ชุมชนที่เป็นเจ้าภาพ จากการมีส่วนร่วมของประชาชนและอาสาสมัคร

สำหรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายตั๋ว จากผู้สนับสนุน ก็สามารถนำไปส่งเสริมนักวิ่ง กีฬาให้กับเยาวชนนะครับ ทำการกุศล เป็นกองทุน ได้อีกด้วย ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ให้เป็นระบบ ต้องทำตามมาตรฐานสากลให้ได้โดยเร็ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราสามารถจัดงานวิ่งมาราธอน ที่มีเส้นทางที่สวยงามน่าประทับใจไม่แพ้ที่ใดในโลก ทั้งเส้นทางวิ่งชมวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือเส้นทางธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง ชายทะเล ภูเขา ป่าไม้ เรามีครบหมด นอกจากนั้นก็เส้นทางสายไหม เส้นทางผ้า เส้นทางอาหาร เส้นทางต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันได้ ในท้องถิ่น ในชุมชน เมืองหลัก เมืองรอง เราทำได้ทั้งหมด ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันคิด และช่วยกันทำอย่างจริงจัง สร้างชื่อเสียง สร้างคุณค่า เอาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเรา ใช้สปิริตของการกีฬา มาสร้างชาติ สร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกัน

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ

มีเรื่องราวมากมาย ที่ผมอยากหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในคืนนี้ เพื่อสร้างเข้าใจที่ตรงกัน อาทิ

1. การทำประมงพื้นบ้าน –ประมงพาณิชย์ ในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ ทั้งประมงในประเทศ และประมงต่างประเทศ ทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ที่ยั่งยืน จากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เสียหาย ทุกคนต้องเคารพในกฎหมาย เคารพกติกาสากล อาจเป็นภาระในช่วงแรก ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ก็ค่อยเป็นค่อยไป รัฐก็จะเข้าไปสนับสนุนการปรับตัว เราต้องหาวิธีการปฏิบัติที่สร้างความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ท่าน ลูกหลาน การประมงไทย และประเทศชาติ ในระยะยาว ขอความร่วมมือจากทุกท่าน

2. ในเรื่อง “ยาง” นั้นก็คงต้องเร่งการนำยางไปใช้ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่ต้องต่อ ๆ ไปในวันข้างหน้าด้วย เราต้องสร้างระบบ กลไกการบริหารจัดการที่ยั่งยืน การใช้งบประมาณท้องถิ่น การทำถนนด้วยยางข้น หรือยางสด อะไรที่ดีกว่า หรือการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ การดูแลกลไกการตลาด ซึ่งเราก็ทำทุกมิติอยู่ในเวลานี้

3. “ไทยนิยม” รอบ 1 รอบ 2 ผลออกมาดี น่าพึงพอใจ เน้นการให้ความรู้ ฝึกใช้เทคโนโลยี สร้างอาชีพ เข้าถึงตลาด online เข้าถึงแหล่งทุน ไม่ใช่การปล่อยกู้ อาจเป็นการลงทุนเพื่อส่วนรวม จัดหาเครื่องมือ พัฒนาพื้นที่ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นั้น อาจจะต้องไปใช้งบประจำ งบท้องถิ่นอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ที่หนองบัวลำภู ต้องการไฟจราจร สร้างสะพานทางข้าม ทางลอด หรืออุโมงค์ สำหรับ “อีแต๋น” รถเกษตรกรให้กลับรถได้ หลังจากไปไร่นานั้น ผมก็ได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลและดำเนินการแล้ว ว่าอย่างไรจะเหมาะสม และตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร

4. เรื่องป่าไม้ การใช้พื้นที่ของส่วนราชการ หากเป็นตามอนุมัติเดิมเรื่องที่ ก่อนที่เราจะเข้ามา เราก็ต้องหาวิธีการแก้ไข หรือหาทางออกที่เหมาะสมเรื่องที่ เช่น กรณีที่เชียงใหม่ เราจะทำอย่างไรเรื่องที่ จะแก้ปัญหาที่ประชาชนเป็นกังวลได้อย่างไร ก็ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำเรื่องที่ ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด กับการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งดำเนินการไปมากแล้วเรื่องที่ ต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินด้วย แม้รัฐบาลและ คสช.ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่ก็ต้องรับผิดชอบ ในเวลานี้ ก็จะต้องช่วยกัน พยายามหาทางแก้ไขให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เป็นประเด็นขัดแย้ง ประเด็นการเมือง ขยายลุกลามบานปลายอีก

5. ข้าราชการต้องมีการปฏิรูปตนเอง เนื่องจากวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี จะเป็น “วันข้าราชการพลเรือน” ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เราทุกคนเมื่อถอดเครื่องแบบ ถอดหัวโขน คือ ประชาชนเหมือนกัน สำหรับการพัฒนาศักยภาพข้าราชการนั้น ผมอยากจะขอยกตัวอย่างหลักสูตรของกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งสร้าง “เพื่อนคู่คิด” ให้กับชาวบ้าน ด้วยการให้หลักคิด มีความเป็นผู้นำ และช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ลักษณะเด่นของหลักสูตร ก็คือมีทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ และการลงพื้นที่ “คลุกคลีตีโมง” เข้าถึงความคิด ความทุกข์ และจิตใจของชาวบ้าน

ที่ผ่านมามี “พัฒนากร” ประจำพื้นที่ทั่วประเทศเกือบ 4,000 คนลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลและความต้องการของประชาชน ในทีมปฏิบัติการไทยนิยมยั่งยืนด้วย ผมก็อยากเห็นข้าราชการทุกหน่วยงาน มีการฝึกอบรมเช่นนี้ เพื่อผลในการปฏิบัติงาน ผมก็ทราบว่าหลายหน่วยงาน อาจจะทุกหน่วยงานก็ได้ได้มีการฝึกอบรมเช่นนี้ ก็ขอให้ไปทบทวนดู ถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการอบรมดังกล่าวว่านำไปใช้งานได้จริงหรือไม่ การทำงานใกล้ชิดประชาชนนั้น ต้องทำใจให้เสมือนเป็น“ญาติพี่น้อง” ให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา มากกว่าใช้อำนาจ หรือการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่ากฎหมายนั้นมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่สร้างภาระ แล้วก็ทำให้สังคมนั้นเป็นปกติ สันติสุข

6. การปฏิรูประบบราชการ การบริหารราชการแผ่นดิน เราควรคำนึงถึงการเรียกร้องที่ให้เกิดการกระจายอำนาจให้มากยิ่งขึ้น ผมเองก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร เราต้องใคร่ครวญให้รอบคอบถึง “ความพร้อม” ก่อน ไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ ประชาชนจะต้องพัฒนาตนเองไปด้วย เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง เราจึงจะพัฒนาประเทศได้ และใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกระจายอำนาจนั้น อยากให้เข้าใจว่า ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เรื่องของงบประมาณ หรืออำนาจ ควรจะพิจารณากันถึงประสิทธิภาพและความพร้อมของข้าราชการ ของหน่วยงาน ของทุกกระทรวง มีความพร้อมเพียงใด หากเรากระจายอำนาจไปมาก ๆ ด้วยการกระจายงบประมาณลงไปเท่านั้น แล้วเราไม่สร้างให้เกิดความพร้อม มีความรู้การบริหารจัดการแผนงาน งบประมาณ โครงการต่าง ๆ การแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณลงไปนั้น ก็จะถูกใช้ให้หมดไป โดยไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่คุ้มค่า ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ สูญเปล่า แล้วเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นในกระบวนการอีกด้วย วันนี้ท่านคงเข้าใจว่ามีการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นอยู่มากแล้ว เป็นร้อยกิจกรรม แต่ก็ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรในบางกิจกรรมเนื่องจากท้องถิ่น อปท. หลายแห่งยังขาดความพร้อม ที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน ทั้งระบบ ประสิทธิภาพ งบประมาณ คน ทรัพยากรมนุษย์ ในระบบเพื่อจะทำให้เกิดการบริหารแผนงานโครงการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการจัดหารถเมล์ NGV ทราบกันอยู่แล้ว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 ผ่านรัฐบาลหลายรัฐบาล แต่ก็มีปัญหาการทุจริตและถูกตรวจสอบ จนไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ขสมก. สามารถเปิดตัวรถเมล์ NGV 100 คันแรก โดยเริ่มให้บริการ 5 เส้นทางในกทม. และปริมณฑล นอกจากนี้ ขสมก. จะรับมอบจนครบ 489 ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มิถุนายน 2561แล้วเราก็จะจัดหาต่อไป เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อจะทดแทนของเดิมนะครับ รถเมล์แดง “รถร้อน” ของ ขสมก. ที่ให้บริการในปัจจุบันนั้น ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เกือบ 30 ปีมาแล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็น และผมเห็นว่าสำคัญมากสำหรับพี่น้องประชาชน “ผู้ที่มีรายได้น้อย” ซึ่งรัฐจะต้องจัดหาบริการสาธารณะให้กับประชาชน ให้มีความสะดวกสบายและทั่วถึง โดยรัฐบาลนี้ ได้ “ยกเลิก” บริการฟรีแบบเหวี่ยงแห สร้างระบบ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” มาทดแทน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับผู้ที่มีบัตรฯ ผู้มีรายได้น้อย เพื่อจะนำเงินส่วนที่เคยต้องแบกภาระมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขสมก. เอง ก็จะสามารถลงทุนใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ก็ขอร้อง ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ต่อไป อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ท่านต้องเห็นใจคนจน เห็นใจรัฐบาล เห็นใจ ขสมก. ด้วย ซึ่งมีภาวะการขาดทุนมากพอสมควร

7. เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานในสังคมไทย เป็น “สนิม” ในสังคม ในระบบราชการของเรา ปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชน สื่อมวลชน สื่อโซเชียล ขอบคุณ ที่ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาติ รัฐบาลและ คสช. ก็เปิดกว้างเพื่อจะเปิดช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียนต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่เป็นข่าว ผมได้สั่งการให้ขยายผลไปทุกที่ ทุกกองทุน ทุกโครงการ ที่หลักฐานจะพาไป และขอให้ประชาชนทุกคน ช่วยให้เบาะแสมาด้วย นอกจากนี้ คสช. ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เข้มงวดขึ้น ในการประพฤติมิชอบในระบบราชการ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด อาทิ

(1) ในกรณีที่มีการร้องเรียน มีข้อร้องเรียน ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็วให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

(2) กรณีที่มีเหตุน่าเชื่อถือ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจน ถึงขั้นชี้มูลความผิด ก็ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้นนะครับก็ต้องตรวจสอบกันต่อ

(3) หากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิดแล้ว นอกจากจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดโดยเร็วแล้ว อาจพิจารณาให้ออกจากตำแหน่งหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งอาจมีการเอาผิดทางอาญาอีกด้วย โดยต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที

(4) กรณีที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อถูกย้ายพ้นจากตำแหน่งเดิมไปแล้ว ห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งในลักษณะเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลา 3 ปี

(5) สำหรับผู้ที่ปฏิบัติราชการเกิดความล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ปล่อยปละละเลย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน อาจถูกพิจารณาให้มีการย้ายหรือการโอนไปดำรงตำแหน่งอื่น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ

(6) ให้มีมาตรการคุ้มครองพยานผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสในการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การได้รับข้อมูลและหลักฐานในการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการจงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลที่เป็นผลร้ายต่อผู้อื่น บุคคลอื่น ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษบุคคลดังกล่าวอย่างเด็ดขาดอีกด้วย ทั้งในทางโซเชียล มีเดียด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระบวนการยุติธรรม และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นเกิดความไว้วางใจแก่ประชาชน ซึ่งเป็น “เจ้าของประเทศ” อีกด้วย

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ

สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ก็คือการเมืองและประชาธิปไตย ตลอดเวลารัฐบาลและ คสช. ก็ไม่เคยเข้าไปทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือไปจำกัดสิทธิเสรีภาพมากจนเกินไป แม้กระทั่ง road map ก็พยายามจะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะมาโจมตีเร่งรัด กดดันกันมากเกินไปเพื่ออะไร อาจจะมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ขอให้สังคมช่วยกันพิจารณาด้วย มีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

เรื่องที่ 1. ทำไมเราถึงต้องใช้คำว่า “เล่นการเมือง” ผมว่าต้องเลิกใช้คำว่าเล่นการเมือง ทุกคนก็รู้ว่า การเมืองไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่น ไม่ใช่การทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องอำนาจหรือผลประโยชน์ แต่เป็นการบริหารบ้านเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะทุกคนใช้คำว่า “อาสาสมัคร” เข้ามา เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจแล้วเลือกเข้ามา เพราะฉะนั้นเราทำเล่น ๆ ไม่ได้

เรื่องที่ 2. ทำไมจึงมีการรังเกียจ การเป็น “นักการเมือง” อยู่พอสมควรทั้งในอดีตและในปัจจุบัน เพราะในเมื่อเราเลือกระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาแล้ว ทำไมไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานการเมือง นอกจากคนเดิม ๆ กลุ่มเดิม ๆ เราก็ไม่สามารถจะได้อะไรใหม่ ๆ ดีขึ้น หรืออาจจะดีขึ้นไม่มากนัก ผมไม่ได้ไปดูถูกใคร ส่วนพรรคการเมืองใหม่นั้นก็คงต้องพิจารณากันว่า น่าจะต้องมีความคิดไม่ล้มล้างจารีตประเพณีไทยและวัฒนธรรมไทยที่มีมายาวนานด้วย ก็ขอให้ติดตามพฤติกรรมด้วย

เรื่องที่ 3. เราเข้าใจและใส่ใจ ในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินกันมากน้อยเพียงใด ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ทั้งรัฐ และประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ที่มีกฎ กติกา กฎหมายมากมาย หากเราไม่เข้าใจจะเกิดการสับสนอลหม่าน ทั้งความคิดและคำพูด ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบ ในเรื่องของการลงโทษ ลงทัณฑ์ ทำให้เกิดความวุ่นวายไปหมด ขึ้นอยู่กับความเชื่อของสังคมด้วย ผมอยากให้เชื่อกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก และระเบียบระบบการทำงานของราชการด้วย ผมก็หวังว่ารัฐบาลหน้าของเรานั้นจะต้องไม่มีเรื่องดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นอีก

(1) การใช้นโยบายที่เกิดผลเสียหายในระยะยาว เพื่อการหาเสียง หรือมีสัญญาว่าให้หรือใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างไร้วินัยการเงิน การคลัง

(2) ไม่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการในการเอื้อประโยชน์หรือลบล้างความผิดให้กับบุคคลกลุ่มใด

(3) ไม่เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

(4) ไม่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามก็ต้องพยายามแก้ให้ได้มากที่สุดให้หมดไป

(5) ไม่ปล่อยปละให้มีการบุกรุกป่าไม้อย่างมโหฬาร ที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยกันจนกระทั่งต้องมารื้อกันทั้งระบบ เวลานี้ก็เกิดความเดือดร้อน ประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมายจำนวนมากก็เดือดร้อน เขาคิดว่าเขาอยู่กันมาได้อยู่มานาน รัฐบาลนี้มาแก้ปัญหากลายเป็นว่ารัฐบาลนี้มารังแกเขา เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเกิดกรณีอย่างนี้มา

(6) ไม่ปล่อยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพล พวกนอกรีตนอกกฎหมายใดใดนะครับ รวมทั้งแหล่งอบายมุข บ่อน การค้าประเวณีเหล่านี้เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาล และ คสช. ใช้ความพยายามทำทุกอย่างแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำทุกเรื่อง และอาจจะทำได้มากกว่าทุก ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ที่ผมบอกว่าแก้ปัญหาได้ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของศูนย์ดำรงธรรม ปัญหาของประชาชนความเดือดร้อนนี่เป็นล้าน ๆ ปัญหา เราก็แก้ได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่ได้หมายความในเรื่องของการทุจริตแก้ไป 90 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ก็มีคนเอาประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลนี้อยู่ ก็ไปเปรียบเทียบดูแล้วกันว่า วันนี้กับที่ผ่านมาแก้ได้อย่างไร จำนวนคดี การเข้าสู่การพิจารณามีมากน้อยเพียงใด การแก้ปัญหาเรื่องน้ำการปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปการค้าการลงทุน การดูแลช่วยเหลือสนับสนุนไมโครเอสเอ็มอี (MSMEs ) การพัฒนาระบบดิจิทัล เราจะต้องพยายามใช้งบประมาณให้ตรงความต้องการ ไม่เหวี่ยงแหใช้นโยบายไทยนิยมยั่งยืน และกลไกประชารัฐ เพราะว่าทุกคนมีจำนวนมากที่แตกต่างกันอยู่ คนที่พอจะมีสตางค์มีเงินก็ต้องช่วยรัฐบ้าง ถ้าทุกคนต้องการเท่ากันหมด ประเทศชาติล่มจมแน่นอน ข้าราชการที่ไม่ดีก็อาจยังคงมีอยู่นะครับ เพราะว่าอยู่ในระบบมายาวนาน เราต้องให้กำลังใจข้าราชการที่ดี ๆ ข้าราชการรุ่นใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำงานเพราะได้มีการแต่งตั้งกันมานานแล้ว วันนี้มีการปรับย้าย มีการเกษียณอายุ มีอะไรต่าง ๆ ก็สนับสนุนคนดีขึ้นมาดูแลบ้านเมือง ระบบเราจะได้ไม่ถูกกลืนกินไปมากกว่านี้อีกต่อไป

รัฐบาลนี้เปิดกว้างให้มีการตรวจสอบ มีช่องทางร้องเรียนมากมาย จึงมีการตรวจสอบและลงโทษ หลาย ๆ คดี ทั้งผู้ต้องหา คดีสำคัญ คดีทั่วไป ยาเสพติด ต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ผ่านมามีน้อยมากไปดูสถิติได้ ในเรื่องของการใช้อาวุธ การสะสมอาวุธ ปัญหาจราจร ปัญหาก็ค้างคามา บางที 8-9 ปี จะ 10 ปีอยู่แล้ว วันนี้พอเอาออกมากลายเป็นว่าไปรังแกเขา ที่ผ่านมา 9 ปี ทำอะไรกันอยู่ เป็นเรื่องของขั้นตอนการตรวจสอบ การดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รัฐบาล คสช. ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้ เรื่องปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจราจร การบาดเจ็บ สูญเสีย เกิดจากการใช้รถใช้ถนน

วันนี้ รัฐบาลและ คสช. พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขทุกประเด็น มีการลงโทษ มีการกำหนดมาตรการใหม่ ๆ ออกมา และให้มีการผลักดันคดีต่าง ๆ เข้าสู่ศาล ให้ศาลพิจารณาคดีโดยอิสระ ให้มากขึ้นตามลำดับ และต้องป้องกันไม่ให้เกิดวงจรใหม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ยังคงมีอยู่ เราต้องช่วยกันหากันต่อไป ขอบคุณน้อง ๆ เด็กๆ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ส่งมา ผมจะดูแลพยายามให้และคุ้มครองไม่ให้เดือดร้อน ไม่อยากให้เป็นการทำงานเหมือน “ไฟไหม้ฟาง”เดี๋ยวจะเกิดขึ้นอีกก็ทำอีก ลงโทษอีก จนกว่าจะเข็ดหลาบกันไป เราต้องร่วมมือกัน

เรื่องของการเดินตาม Road map ไปสู่การเลือกตั้งนั้น วันนี้มีความชัดเจนพอสมควรแล้วอย่าบิดเบือน อย่าต่อต้านกันไปอีกเลย คำสั่ง ข้อห้ามของ คสช. ที่เราจำเป็นต้องมีไว้บ้าง เพราะเราเคยมีบทเรียนมาบ้างแล้ว ไม่อยากให้มองว่าไปคุกคามใคร ไปรังแกใคร ไปเอาเปรียบ เอาประโยชน์จากใคร ใครไม่ผิด ไม่พยายามทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องเดือดร้อนทำไม เว้นแต่คนมีเจตนาไม่บริสุทธิ์เท่านั้น หลายพรรคการเมืองก็ไม่มีปัญหา มีอยู่ไม่กี่พรรค

ที่ผ่านมาก็มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งสิ้น ทำไม่ไม่มีการแปลงแปลงตัวเองบ้าง ช่วยกันคิดช่วยกันพูดในสิ่งที่มีประโยชน์ มากกว่ามาติติงในเวลานี้ จนมากมายเกินไป แล้วลืมว่าสมัยอยู่มาก่อนนั้นทำอะไรไว้แล้วบ้าง ประชาชนต้องช่วยกันติดตาม ช่วยกันคิดทบทวนด้วย รัฐบาลและ คสช. ไม่อาจจะไปตอบได้ ผมไม่อยากจะไปขัดแย้งกับท่านอีก แต่ท่านก็พยายามที่จะหาเรื่องโจมตี คสช. หรือรัฐบาลมาทุกเรื่องไป กลายเป็นว่ารุมสกรัมรัฐบาล ผมว่าไม่ถูกต้อง ผมพยายามไม่ไปก้าวล่วงใครอยู่แล้ว เพราะว่าเรามุ่งหวังไปสู่การเลือกตั้งที่สงบสันติ ถ้าสันติไม่ได้ สงบไม่ได้ เลือกตั้งจะได้หรือไม่ เลือกตั้งแล้วจะอยู่กันได้หรือไม่ ไปคิดตรงนั้น เราต้องการได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสถาบัน ทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนสืบไป

สำหรับการเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาชนนั้น ทราบว่าทุกเรื่องก็มีเจตนาอันบริสุทธิ์ เป็นไปตามหลักสากลโดยให้ ขอให้รัฐดำเนินการอย่างเดียวให้หางบประมาณมาสนับสนุนทุกอย่าง เราต้องคำนึงถึงงบประมาณภาครัฐ ที่เรายังไม่ได้เพิ่มมากนักในเวลานี้ การดูแลคนทั่วไปทุกกลุ่ม กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีภาระ รัฐสวัสดิการต่าง ๆ สังคมผู้สูงวัยก็ยังอยู่มากและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากให้ช่วยหาวิธีการทั้งสองทางคือให้รัฐบาลและประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างไร อย่าผลักภาระกันไปมา รัฐบาลผลักให้ใครไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วเข้าใจและอดทน ช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ปัญหาในระยะแรก ถ้าระยะแรกไม่เกิด ปานกลาง ระยะยาวก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งสิ้น ก็แก้อะไรไม่ได้ กลับไปที่เดิมทั้งหมด และนับวันจะมากขึ้นด้วย เพราะมีบทเรียนมาแล้ว

เรื่องการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการพัฒนาประเทศนี้ ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจระบบภาษี ซึ่งเป็นรายได้ของภาครัฐที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อากรขาเข้า รวมถึงภาษีที่ท้องถิ่นที่จัดเก็บจากพี่น้องประชาชน รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ ถือเป็นรายได้ของภาครัฐ ที่จะถูกจัดสรรลงไปเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เราต้องทำให้ได้อย่างสมดุลบ ตรงกับความต้องการของพื้นที่ ตรงความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย ในเรื่องการนำภาษีที่จัดเก็บมาได้ ไปใช้จัดทำงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นี้ รัฐบาลต้องการให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เราได้จัดทำเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนเข้าไปตรวจสอบกันดู

ในโอกาสนี้ ผมขอย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบและจัดทำข้อมูล กระบวนการขั้นตอนการใช้จ่ายงบประมาณในเว็ปไซต์ง่าย ๆ ให้ครบถ้วน และทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนเข้าใจ สามารถตรวจสอบได้ และสามารถให้ข้อเสนอแนะกลับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป ไม่เช่นนั้นก็ไม่เข้าใจกันไปกันมาว่ารายได้รัฐบาลมีเท่าไหร่ มาจากไหน ใครมีส่วนลดตรงไหนบ้าง อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลก วันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายนนี้ เป็นช่วงที่ “คณะทำงานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ที่ประกอบไปด้วยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน บรรษัทข้ามชาติ และองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ เดินทางมาเยือนไทย ตามคำเชิญของทางการไทย เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ในประเด็นของการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจไทย ก็จะเป็นการพูดคุย เรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนหลักปฏิบัติสากล และการดำเนินงานในประเทศไทยด้วย นอกจากจะทำให้ฝ่ายภาครัฐและภาคธุรกิจไทยได้รับฟังข้อมูลความคิดเห็นของคณะทำงานแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการตระหนักรู้ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของไทย ในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริต การดูแลแรงงาน ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) รัฐบาลนี้ ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็น “วาระแห่งชาติ” และเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อน Thailand 4.0 และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศด้วย

การเชิญคณะทำงานฯ มาเยือนไทยครั้งนี้ สะท้อนถึงความพร้อม และความจริงใจ ของรัฐบาลและภาคเอกชนไทย ที่จะรับฟังความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกัน และนำข้อเสนอแนะจากคณะทำงาน มาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานของไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักของ “หลักการชี้แนะของสหประชาชาตินะครับ ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” อันได้แก่ (1) ปกป้อง คือ รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน (2) เคารพ คือ บริษัทเอกชนรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน และ (3) เยียวยา คือ ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล เคยกล่าวไปแล้วในรายการนี้แล้ว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทย และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทราบว่าคณะทำงานฯ มีความประทับใจในความมุ่งมั่น จริงใจของรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาในการขับเคลื่อน “ทั้ง 3 หลักการ” ดังกล่าว จนเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้น มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ งบประมาณ และขยายขอบเขตการทำงานกับพันธมิตรประชาสังคมมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ มากกว่า 302 คดี รวมถึงการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 11 คน ซึ่งเป็นปีแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ถูกพิจารณาลงโทษอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ย้ายอย่างที่เป็นข่าวอย่างเดียว ต้องสอบสวน ผิดก็ต้องเอาออก ดำเนินคดีอาญากันต่อไปอีก ไม่ใช่ย้ายแล้วก็จบอย่างที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ผมยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามใน “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ” นี้ ระหว่าง 7 หน่วย งานรัฐและเอกชน กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการจัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้

เราต้องยอมรับว่า แม้ได้เร่งดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ มากมาย จนเห็นผลในหลาย ๆ เรื่อง แต่การทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ยังคงเป็นความท้าทาย ที่ต้องเร่งดำเนินการอยู่ การหารือครั้งนี้ เราจะต้องทำตัวเป็น “น้ำครึ่งแก้ว” ที่พร้อมเปิดรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์จากภายนอก เพื่อนำมาปรับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทย อันจะนำไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของประเทศ แล้วก็จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย ในการแสดงจุดยืน และความพร้อมของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะทำงานร่วมกับสหประชาชาติ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศ และปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสากลต่อไปด้วย อย่าไปมองในเรื่องของการเมืองอย่างเดียวอีก ระมัดระวังด้วย

สุดท้ายนี้

การเตรียมการต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย” ขอให้ใช้รถ ใช้ถนน ด้วยความระมัดระวัง ให้ปลอดภัย “ดื่มไม่ขับ ง่วงก็ไม่ฝืน” ดูแลทั้งรถ ทั้งคนขับให้พร้อม ขับขี่มีน้ำใจกับผู้ร่วมทาง อากาศร้อน ก็อย่าใจร้อนตาม “เอาน้ำเย็นเข้าลูบ” และรักษาวินัยจราจร ทุกคน ถึงช้าแต่ปลอดภัย ย่อมดีกว่านะครับ พลขับ คนขับรถ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัวตัวเอง และครอบครัวคนอื่นเขาด้วย อย่าไปใช้ยาเสพติดโดยเด็ดขาด จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข สวัสดีครับ