Tuesday, 27 June 2017

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปหน่วยงานที่ปฏิบัติงานกับภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization)

การปฏิรูปหน่วยงานที่ปฏิบัติงานกับภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization)
เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า
การสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันทำงานเป็นกลุ่ม/องค์กรหรือเป็นภาคประชาสังคม (CSO) ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพากันเองได้ ก็จะเป็น Interest group หรือ Pressure group ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบและสร้างความสมดุล (check and balance) หรือคานอำนาจนักการเมืองทั้งในระดับท้องที่ท้องถิ่นและระดับชาติตามหลักรัฐศาสตร์ ได้ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ซึ่งรัฐบาลได้แบ่งภารกิจหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในระดับตำบลหมู่บ้าน/ชุมชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึ่งได้จัดตั้งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมมหาดไทยถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ กรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน และมีกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นกรมที่เก่าแก่อีกกรมหนึ่ง ต่อมาเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จากโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็อธิบายได้ว่า ภารกิจงานในพื้นที่ก็จะมี ๓ รูปแบบ คือ
๑. แบบปกครอง
๒. แบบพัฒนาชุมชน
๓. แบบประชาสงเคราะห์

ซึ่งทั้ง ๓ รูปแบบ มีศาสตร์/องค์ความรู้ให้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน มีบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน คือ พัฒนากร มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่ม/องค์กรของประชาชนในการจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรประชาชนต่าง ๆ อาทิเช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯลฯ ด้วยหลักการพัฒนาชุมชน คือ เป็นการทำงานที่เน้น  Non-directive Approach เป็นการปฏิบัติงานที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเขาถูกสั่งการให้โอกาสและสนับสนุนประชาชนได้ช่วยเหลือกันเอง (Self-help) รวมทั้ง การส่วนร่วมของประชาชนและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder) ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนต่าง (People participation) ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล รับผลประโยชน์ และเข้ามามีหุ้นส่วนในกิจการนั้น ๆ (Collaborative Partnership) โดยในแต่ละลักษณะก็จะมีเทคนิควิธีย่อย ๆ หรือผสมผสานกันในการทำงานมากมาย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พูดถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมและให้ประชาชนพึ่งพากันเอง แต่ก็ไม่ใช่การพัฒนาชุมชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชุมชนเท่านั้น สำหรับหลักการทั้ง ๔ ลักษณะข้างต้น ถือว่าเป็น means และ ends ของการพัฒนาชุมชน และงานพัฒนาชุมชนของประเทศไทยปัจจุบัน จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคม (Socio-economy) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้แก่ พัฒนากร ในโอกาสเสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิดเขื่อนและการพลังงานไฟฟ้าแม่น้ำพุง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๘
“ขอบใจมากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบทและต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความฉลาดสามารถช่วยตัวเองได้ ให้รู้จักใช้และเห็นคุณค่าความเจริญในด้านวัตถุ เช่น รู้จักนำพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำพุงนี้ใช้ในบ้านเรือนและการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในการปฏิบัติงาน ชาวบ้านมักมีความหวาดระแวงและเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ ข้าราชการถือว่าเป็นบุคคลภายนอกหมู่บ้านไม่ใช่พวกเดียวกัน การเชื่อถือหรือยอมทำตามคำแนะนำส่งเสริมจึงมีน้อย ดังนั้น จะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกรักและเชื่อถือว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา มีความปรารถนาจะช่วยเขาอย่างแท้จริง เช่น ให้ความรักช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน ทำงานให้จริงจัง ซึ่งต้องใช้ความพยายามความอดทนเป็นอย่างมากในการแนะนำส่งเสริมอาชีพหรือให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ต้องทำให้บ่อย ๆ ไม่ใช่พูดหรือทำหนเดียว เพราะชาวบ้านมีประเพณีความเคยชินมานาน และเมื่อแนะนำให้ทำอะไรได้แล้วต้องช่วยให้เขาขายได้ด้วย มิฉะนั้น เขาจะเสื่อมศรัทธาไม่เชื่อถือทำต่อไป ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวบ้านราษฎรให้ขยันขันแข็งมีความฉลาด สร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ทำงานหารายได้และเก็บออมไว้เมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสังคม การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแก่ครอบครัวชนบท เป็นการป้องกันประเทศชาติด้านหนึ่ง อย่าเข้าใจว่าการป้องกันประเทศชาติเป็นหน้าที่ของทหาร เช่นสมัยก่อน ความมั่นคงของประชาชนชนบทเป็นส่วนที่จะสร้างชาติและป้องกันประเทศอย่างดี ขอบใจ ขอให้สบายดี โชคดีทุกคน และมีความสำเร็จในการงาน”
กองฝึกอบรมกรมการพัฒนาชุมชนได้รวบรวมบทบาทของพัฒนากรและใช้ในการฝึกอบรมพัฒนากรไว้(กรมการพัฒนาชุมชน ๒๕๑๑:๕๗-๖๒) ดังนี้
๑. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) เนื่องจากงานพัฒนาชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วิธีการที่ใช้ในการพัฒนาชุมชนจึงต้องทำตามแบบกึ่งเสรีกึ่งบังคับ โดยมีลักษณะการทำงาน มีโครงการ มีเป้าหมาย และมีกำหนดระยะปฏิบัติการที่แน่นอน เพื่อที่จะให้การพัฒนาได้เป็นไปโดยรวดเร็วกว่าที่จะปล่อยให้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของประชาชนเองแต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นไปโดยธรรมชาติ ฉะนั้น บทบาทสำคัญของพัฒนากร คือ การเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง โดยพยายามทุกวิถีทางที่จะให้หมู่บ้านชนบทได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ในการที่จะเปลี่ยนแปลงได้นั้น พัฒนากร จะต้องใช้วิธีเข้าไปคลุกคลีทำตัวสนิทสนมกับชาวบ้าน เพื่อที่จะชักจูงให้ชาวบ้านเกิดความคิดริเริ่มและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตน ตลอดจนทั้งพยายามกระตุ้นเตือนยุหนุนให้ชาวบ้านได้ตระหนักในปัญหาเหล่านั้น และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องที่เขาเผชิญอยู่
๒. เป็นนักรวมกลุ่ม(Organizer) ในการดำเนินงานพัฒนากรจำเป็นต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันตั้งแต่แรกเริ่มไปจนกระทั่งหลังจากโครงการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว กล่าวคือ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การแพร่ความคิดให้แก่ประชาชนสำรวจความต้องการวางโครงการดำเนินงานตามโครงการและติดตามผลการปฏิบัติตามโครงการ ซึ่งขบวนการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องกัน ถ้าจะให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์และเป็นการง่ายแล้วจำเป็นต้องทำงานกับกลุ่ม การทำงานกับกลุ่มชนนั้น นอกจากจะเป็นการประหยัดเวลาแล้ว ยังเป็นผลให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะทำงานกับแต่ละคน ฉะนั้น พัฒนากรจึงต้องเป็นนักรวมกลุ่มที่ดี ในการที่พัฒนากรจะเป็นนักรวมกลุ่มที่ดีนั้น จะต้องรู้จักการติดต่อสร้างสรรค์ เขาต้องมีกลวิธีในการที่จะรวมบุคคลเข้ามาร่วมกัน และยั่วยุแนะนำชักจูงให้กลุ่มรู้จักการดำเนินงานในทางที่มีประสิทธิภาพและประหยัด เช่น ให้กลุ่มมีศิลปะในการจัดการประชุม การหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกันในปัญหาต่าง ๆ รู้จักการติดต่อแหล่งทรัพยากร และเข้าใจในการคิดค้นแก้ปัญหา ให้มีความสามารถในการทำงานตามความมุ่งหมายให้สำเร็จ ภายในกำหนดเวลา แม้แต่กลุ่มที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ พัฒนากรจะต้องพยายามเข้าร่วมและชักจูงให้กลุ่มเข้าร่วมกันเป็นปึกแผ่นที่มั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้กลุ่มได้เกิดการสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหาและวิธีการทำงานแบบใหม่ การปรับปรุงกิจกรรมของชีวิตด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ความคิดริเริ่ม ตลอดจนสมรรถภาพในการทำงานร่วมกัน และปรึกษาหารือในปัญหาประจำวันเป็นต้น
การทำงานกับกลุ่มชน พัฒนากรต้องมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของประชาชนเหล่านั้น เข้าหาประชาชน โดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของเขาเป็นพื้นฐาน มีใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน และพยายามปรับความคิดการกระทำทั้งมวลให้สอดคล้องกลืนกับภาวะวิสัย อย่าให้เกิดความรู้สึกเห็นแก่ตัวขึ้นได้ งานก็จะสำเร็จตามความมุ่งหมายของรัฐบาลและประชาชน
๓. เป็นผู้ให้การศึกษา(Educator) ขบวนการพัฒนาชุมชนนั้น นอกจากเป็นการรวมกลุ่มคนแล้ว โดยลักษณะของงานพัฒนาชุมชนยังเป็นขบวนการศึกษาอยู่ตลอดเวลา ในการที่ประชาชนจะทราบว่ามีสิ่งใหม่ ๆ  แนวความคิดใหม่ ๆ ที่พัฒนากรทำ มาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเขา และทราบว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร คนอื่นมีความรู้สึกอย่างไร จนสามารถวางโครงการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน ย่อมจะต้องมีการติดต่อกันเป็นระยะจนกว่างานจะสำเร็จออกมา ในการนี้ พัฒนากรจะเข้าไปกระตุ้นเตือนชักจูงและให้แนวความคิดวิชาการใหม่ ๆ ทำให้ชาวบ้านเริ่มคิด เริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจ เริ่มตระหนักในปัญหาต่าง ๆของตัวเอง และชี้ให้พวกเขาเห็นว่าเขามีความสามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ซึ่งขบวนการดังกล่าวนี้ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสังคม ต่อชีวิต และต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และทำให้เกิดพฤติกรรมที่จะแก้ปัญหาและนำความเจริญมาสู่ตัวเขาเองในที่สุด
๔. เป็นผู้กระตุ้นเตือนยั่วยุ (Stimulator) โดยปกติประชาชนในชุมชนนั้น ย่อมมีวิธีการประกอบอาชีพและวิถีทางดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นแบบฉบับของเขาเองอยู่แล้วตามประเพณีดั้งเดิม แต่วิธีการประกอบอาชีพและวิถีทางดำเนินชีวิตของเขามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนากันไปอย่างช้า ๆ ตามประสบการณ์ และความเปลี่ยนแปลงตามสังคม  ซึ่งเป็นหลักธรรมดาไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ การพัฒนาชุมชนเป็นขบวนการที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางที่ต้องการ ให้มีอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงโดยเหมาะสม ไม่ใช่ให้เป็นไปตามยะถากรรม โดยให้พัฒนากรเป็นผู้ดำเนินการ ใช้วิธียั่วยุกระตุ้นเตือนและชักจูงเร่งเร้าให้ประชาชนในชุมชนนั้น เกิดความรู้สึกใคร่ที่จะเปลี่ยนแปลง และพยายามระดมสรรพกำลังและความช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
๕. เป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) บรรดาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชนบทนั้น ย่อมจะมีแตกต่างกันไป ปัญหาบางอย่าง สามารถแก้ไขด้วยความสามารถของพัฒนากรและชาวบ้านได้ แต่ปัญหาบางอย่างเกินวิสัยที่พัฒนากร จะช่วยเหลือ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวพัฒนากรจะต้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการต่าง ๆ อีกทอดหนึ่งพัฒนากรต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างบริการของรัฐกับประชาชนในการประสานงาน พัฒนากรจะต้องคำนึงถึงกาลเทศะและความพร้อมของทั้งสองฝ่าย เช่น การจะชุมนุมให้ชาวบ้านมาทดลองปลูกข้าวตัวอย่าง พัฒนากรจะต้องรู้และคำนึงอย่างลึกซึ้งรอบคอบเสียก่อนว่า เวลาใดที่ราษฎรพร้อม กล่าวคือ มีเวลาว่างโดยทั่วถึงกันและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการก็พร้อมและเต็มใจที่จะมาสาธิต พัฒนากรจะต้องเข้าใจกลไกและความละเอียดอ่อนแห่งความสัมพันธ์ของบุคคลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ระดับอำเภอจังหวัดและกรม ด้วยการติดต่อประสานงาน อาจจะกระทำในแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ แล้วแต่กรณี การประสานงานของพัฒนากรในการปฏิบัตินั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ
ระดับแรก เป็นการประสานงานระหว่างชาวบ้านกันเอง ให้ร่วมมือร่วมใจ สละทรัพยากร กำลังกาย เพื่อให้โครงการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบรรลุผล
ระดับสอง เป็นการประสานระหว่างชาวบ้านผู้มีความต้องการบริการกับเจ้าหน้าที่รัฐในด้านต่าง ๆ
ระดับสาม เป็นการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน
๖.เป็นตัวเชื่อม (Link) ในการทำงานของพัฒนากรนั้น บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ จะต้องเป็นตัวเชื่อมที่ดี พัฒนากรต้องเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ กล่าวคือ เป็นผู้นำความต้องการของประชาชนเสนอมาตามลาดับชั้น ขณะเดียวกันก็ชักนำบริการของรัฐตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ จากรัฐไปสู่ประชาชน นำให้ประชาชนกับรัฐอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ มีความกลมกลืนสัมพันธ์กันโดยใช้ระบบการสื่อความคิดติดต่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะอำนวยให้เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ พัฒนากรต้องระวังในเรื่องการปฏิบัติอย่างมาก เพราะการที่จะเป็นสื่อกลางที่ดีนั้น จะต้องมีความเข้าใจวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่ายอย่างถ่องแท้ กล่าวคือ พัฒนากรจะต้องมีความเข้าใจในนโยบายของรัฐและความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี และนำเอาความต้องการของทั้งสองฝ่ายมาติดต่อกันอย่างชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว อาจเป็นผลเสียหายได้ในทางปฏิบัติ
๗. เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) นอกจากการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อกับหน่วยราชการแล้ว พัฒนากรต้องช่วยให้ความสะดวกแก่ชาวบ้านในการดำเนินงานของเขาเองในหมู่บ้าน จัดเตรียมประชาชนให้พร้อมที่จะทำงานร่วมกับนักวิชาการ การนัดหมายประชาชน การนัดหมายนักวิชาการ การช่วยเหลือนักวิชาการในการสาธิตต่าง ๆ และการช่วยเหลือประชาชนในการทำงานร่วมกัน
๘. เป็นผู้สื่อความคิดติดต่อ (Communicator) พัฒนากรซึ่งเป็นข้าราชการที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้าน นับว่าเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าข้าราชการประเภทอื่น ฉะนั้น พัฒนากรจึงสามารถทราบได้ดีถึงปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ และรวมถึงภาษาในท้องถิ่นด้วย การที่นักวิชาการจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้เพียงใดหรือให้ความช่วยเหลือชาวบ้านได้ตรงกับความต้องการของเขาได้มากเพียงใดนั้น พัฒนากรย่อมมีบทบาทสำคัญในการที่จะสื่อความคิดระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลทำให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือสมตามความมุ่งหวัง
ในปัจจุบัน ผู้ที่ทำงานกับกลุ่ม/องค์กรในระดับตำบลหมู่บ้าน/ชุมชน ไม่ใช่พัฒนากรเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเกษตรตำบลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ทำงานตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งงานของแต่ละหน่วยงานนั้น เคยเป็นภารกิจของพัฒนากรมาก่อน และในระดับตำบลยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้โอนงานด้านการศึกษา คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้กับ เทศบาลหรือ อบต. ดูแล  ฉะนั้น พัฒนากรยุคใหม่ ก็ต้องปรับตัว ต้องมีความรู้และ/หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ (Knowledge) งานในหน้าที่ของตนเองและความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นผู้มีความเข้าใจ (Understanding) ในภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถวิเคราะห์สังเคราะห์งาน ชุมชนและสังคม ให้ออกมาในรูปแบบการพัฒนาชุมชนได้ มีความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รวมทั้ง ต้องมีทักษะ (Skill) ในการทำงานพัฒนาชุมชนและการใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ซึ่งสามารถเรียนรู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากผู้อื่น จากการค้นคว้า ตำรับตำรา E-learning การฝึกอบรม การศึกษาต่อ หรือเรียนรู้จากพื้นที่จริง จากการฝึกปฏิบัติ และสะสมเป็นประสบการณ์ของตนเอง อาทิเช่น
๑. การเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ
๒. การพูดในที่สาธารณะ การเป็นพิธีกร การพูดในโอกาสต่าง ๆ
๓. การจัดเวทีประชาคม การจัดประชุม (เป็นประธาน/เลขานุการในที่ประชุม)
๔. การจดบันทึก การจับประเด็น ในที่ประชุมหรือจากเวทีประชาคม
๕. การขับรถมอเตอร์ไซค์/รถยนต์ เพราะต้องเข้าพื้นที่ มิฉะนั้น จะเป็นภาระคนอื่นและไม่อิสระ
๖. การใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่จำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งการพิมพ์ดีด โดยเฉพาะพิมพ์ดีดสัมผัส
๗. การวิเคราะห์สังเคราะห์งานและชุมชน หรือวิธีคิดกระบวนระบบ (Systems thinking) ได้
๘. สามารถใช้ Social media, Tablet/Smart phone ในการสื่อสารและใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับงาน
๙. สามารถใช้ Blog และ/หรือเว็บไซต์ของอำเภอในการจัดเก็บ รายงานและประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ
๑๐. การทำงานสารบัญ/ธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ
๑๑. การวางแผน และการจัดทำแผน แผนงาน/โครงการ งบประมาณ
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึง สามารถฝึกได้ แต่ของให้พัฒนากรมีทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ไม่เป็นคนปฏิเสธงาน งานที่ทำถือว่าได้ทั้งงาน ได้ทั้งการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต เป็นผู้มีความใฝ่รู้ มีจิตอาสาที่จะเห็นตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ละทิ้งงาน ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือคนอื่น ๆ เป็นที่ปรึกษาให้กับประชาชนได้ มีสัมมาคารวะ อยู่ในทำนองคลองธรรม สามารถทำงานเดียวและทำงานเป็นทีมได้ ปรับตัวได้เร็ว เก็บความรู้สึกได้เก่ง รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่เครียดและโยนความผิดให้คนอื่นหรือโทษฟ้าดิน แค่นี้ ก็ทำงานได้อย่างมีความสุขแล้ว
ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพและขาดการดูแลที่เพียงพอและรอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐได้แก่ (๑) กลุ่มปัญญาชนและเยาวชน (๒) กลุ่มผู้นำด้านศาสนา (๓) กลุ่ม NGOs และ IGOs (๔) กลุ่มนักวิชาการ (๕) กลุ่มสตรี (๖) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ (๗) กลุ่มเครือข่ายไทยพุทธ (๘) กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม (๙) กลุ่มนักการเมือง (๑๐) กลุ่มนักธุรกิจ (๑๑) กลุ่มสื่อมวลชน (๑๒) กลุ่มบุคคลที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ (๑๓) กลุ่มชุมชนในพื้นที่ระดับรากหญ้า (๑๔) กลุ่มผู้นำชุมชนระดับรากหญ้า (๑๕) กลุ่มประชาชนทั่วไป/สังคมใหญ่ระดับรากหญ้า เป็นต้น
ข้อเสนอเพื่อดำเนินการสนับสนุน/ส่งเสริมภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization) ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการแก้ปัญหา หน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบและทำงานกับ CSO ให้มีเอกภาพ ประกอบกับการโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยแล้ว การทำงานด้านการพัฒนา CSO ก็ถูกลดความสำคัญลงมาก จึงควรที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มประชาชนทำงานในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน มีพัฒนากรทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน กรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรตำบลทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุข มีผู้อำนวยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน)สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้ง กองทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีการบูรณาการการทำงานและเป็นหน่วยงานภายใต้คำสั่งการจากหน่วยบัญชาการเดียวกันจากส่วนกลาง และไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำ อันจะทำให้ภาคประชาสังคมสามารถรวมกลุ่ม/องค์กร และหน่วยงานของรัฐเหล่านี้จะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ทำงานในระดับพื้นที่ผ่านภาคประชาสังคม ส่วนภารกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้ ให้เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันและบรรเทาอุกทภัย การจัดการขยะมูลฝอย ฯลฯ เป็นต้น และเป็นภารกิจกรมการปกครอง ด้านการรักษาและดูแลความมั่นคง
สรุปการปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน นอกจาก จะเป็นการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ควรปฏิรูปหน่วยงานที่ทำงานกับภาคประชาสังคม โดยให้รวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้บูรณาการและรับคำสั่งการจากผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง โดยให้เป็นหน่วยงานที่สังกัดส่วนกลางและเป็นท่อของรัฐบาลกลางที่จะส่งผลด้านการพัฒนาโดยตรงผ่าน ภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า

Monday, 29 May 2017

ความหมายของวิชาปรัชญา (Meanings of Philosophy) และความเป็นมา

คำว่า “ปรัชญา” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้คู่กับคำภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต 2 คำคือ

1. ปฺร : ประเสริฐ
2. ชฺญา : ความรู้, รู้, เข้าใจ

เมื่อรวมกันแล้ว เป็น “ปฺรชฺญา” (ปรัชญา) แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง

คำว่า “ปรัชญา” ตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ปัญญา” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก รากศัพท์ คือ ญา โดยมี ป.ปลา เป็นอุปสัคนำหน้า (ป+ญา = ปัญญา) ...

ป. อุปสัค บ่งชี้ความหมายว่า ทั่ว ข้างหน้า ก่อน ออก

ญา รากศัพท์มีความหมายว่า รู้

ถ้าจะแปลให้มีความหมายไพเราะและตรงประเด็นตามหลักธรรม ก็อาจแปลไปทีละความหมายของอุปสัคได้ดังต่อไปนี้...

ปัญญา คือ รู้ทั่ว หมายถึง รู้ครบถ้วนกระบวนความ มิใช่รู้เพียงบางส่วน ตามนัยตาบอดคลำช้าง ....

ปัญญา คือ รู้(ไป)ข้างหน้า หมายถึง รู้เพื่อการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มิใช่รู้เพื่อความเสื่อมถอย...

ปัญญา คือ รู้ก่อน หมายถึง รู้ก่อนที่จะต้องกระทำ ถ้าไม่รู้ก่อนไปกระทำลงไปก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้....

ปัญญา คือ รู้ออก หมายถึง รู้เพื่อสลัดออกไปจากทุกข์ ออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ....

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/74821

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของคำว่า “ปัญญา” เอาไว้ว่า “ความรู้แจ้ง, ความรอบรู้, ความสุขุม, ความฉลาด” และนิยามความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง หมายความว่า ปรัชญามีหน้าที่สืบเสาะหาความรู้เกี่ยวกับความจริงของสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “ปัญญา” เพราะการบัญญัติศัพท์คำว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติมาจากคำว่า “ปัญญา” แต่บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” คำว่า “Philosophy” ในภาษาอังกฤษมาจากคำภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า “Philosophie” ซึ่งมาจากคำภาษาลาตินว่า “Phiosophia” (ฟิลสโซฟิยา) ที่แผลงมาจากคำภาษากรีกว่า “Philosophia” (ฟิลสโซเฟีย) อีกต่อหนึ่ง

ดังนั้น คำว่า “Philosophy” จึงมาจากคำภาษากรีกว่า “Philosophia” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำคือ
Philos : Love of หรือ Loving of (ความรัก)
Sophia : Wisdom หรือ Knowledge (ความรู้, ปัญญา, ความฉลาด)
เมื่อรวมกันแล้ว คำว่า “Philosophy” จึงหมายถึง “Loving of Wisdom” ความรักปัญญา, ความรักในความรู้, ความรักในการแสวงหาความรู้ หรือ การใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้

จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามคำแปลระหว่าง คำว่า “ปรัชญา” ที่มาจากภาษากรีก กับที่มาจากภาษาสันสกฤตจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ที่แปลจากภาษากรีกแปลว่า ความรักในความรู้ หรือความรักปัญญา เพราะความรู้หรือปัญญา เป็นของพระเจ้าแต่ผู้เดียว มนุษย์มีสิทธิ์เพียงสามารถที่จะรัก หรือสนใจที่จะแสวงหาเท่านั้น ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้

ส่วนที่แปลจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ หรือความรอบรู้ มนุษย์ทุกคนสามารถมีความรอบรู้ หรือมีความรู้อันประเสริฐได้ อันเนื่องมาจากความรู้ที่สมบูรณ์ สูงสุด สิ้นความสงสัย

 ความหมายของปรัชญา
 การนิยามความหมายของนักปรัชญา
 ระบบปรัชญา
 สาขาปรัชญา
 อภิปรัชญาคืออะไร
 ความหมายของอภิปรัชญา
 ความเป็นมาของอภิปรัชญา
 ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
 บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
 หน้าที่ของอภิปรัชญา
 ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
 ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
 ทฤษฎีสสารนิยม
 ทฤษฎีจิตนิยม
 ทฤษฎีเอกนิยม
 ทฤษฎีทวินิยม
 ทฤษฎีพหุนิยม
 อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
 ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
 วิวัฒนาการของจิตนิยม
 ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
 ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
 จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
 จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
 จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
 ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
 ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
 สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
 สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
 ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
 ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
 อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
 ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
 การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
 การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
 ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
 วิญญาณเป็นพลังงาน
 เจตจำนงเสรี (Free Will)
 ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
 อมฤตภาพของวิญญาณ
 ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
 ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
 ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
 อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
 พระเจ้าคืออะไร
 ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
 เทววิทยา
 พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
 เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
 เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
 เหตุผลทางภววิทยา
 เหตุผลทางจริยธรรม
 นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
 ทฤษฎีการสร้างโลก
 จักรวาลวิทยา
 ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
 บรรณานุกรม