Monday 29 May 2017

ความเหมือนหรือแตกต่างระหว่าง Metaphysics (อภิปรัชญา) กับ Ontology (ภววิทยา)

จากการศึกษาเรื่องของปรัชญา จะเห็นได้ว่าปรัชญามีบ่อเกิดมาจากความสงสัย หรือความประหลาดใจ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ซึ่งมีความสงสัยเกี่ยวกับปฐมธาตุของโลก ต่างคนต่างพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นปฐมธาตุของโลก หรืออะไรเป็นบ่อเกิดของโลก บางคนบอกว่า น้ำ เป็นปฐมธาตุของโลก บางคนบอกว่า ดิน เป็นปฐมธาตุของโลก เหล่านี้เป็นต้น การยึดถือแนวความคิดอย่างนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากความสงสัยเพื่อต้องการค้นหา หรือสืบค้นความแท้จริงของโลก

สำนักปรัชญาตะวันออก เช่น นักปรัชญาอินเดียโบราณ ก็มีความสงสัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฝนตก เป็นต้น ท่านเหล่านั้นคิดว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะมีเทพเจ้าสิงอยู่ อาจจะเป็นเพราะมีพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้าง มีลักษณะการสร้าง การควบคุมดูแล และการทำลาย ใช่หรือไม่ จึงพยายามค้นหาความเป็นจริงของโลก

ต่อมานักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ ก็มีความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวนั่นคือสงสัยเกี่ยวกับตัวตน เกี่ยวกับวิญญาณ เกี่ยวกับพระเจ้า แล้วพยายามสืบค้น หาหลักฐานอ้างอิงเพื่อหาความจริงของสิ่งเหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงสัยจึงเป็นบ่อเกิดแห่งปรัชญา เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งความคิด และการคิดก็ก่อให้เกิดการคิดหาเหตุผล การวิเคราะห์วิจารณ์ต่อมา

เราจะสังเกตเห็นว่า แนวคิดเรื่องแรกที่นักปรัชญาค้นคิดก็คือเรื่องเกี่ยวกับโลก หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น อะไรเป็นปฐมธาตุของโลก ฝนตก ฟ้าร้อง เหล่านี้เกิดมาจากอะไร เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงหรือไม่ ลักษณะการคิดเช่นนี้ เป็นการคิดเกี่ยวกับสาขาของปรัชญาสาขาหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “อภิปรัชญา” (Metaphysics)

อภิปรัชญา จัดเป็นปรัชญาบริสุทธิ์ คือเป็นเนื้อหาของวิชาปรัชญาแท้ ๆ เพราะเป็นแนวความคิด หรือเป็นทฤษฎีล้วน ๆ อภิปรัชญาเป็นปรัชญาแบบเก่า หรือที่เรียกว่า “ปรัชญาสมัยโบราณ”
อภิปรัชญา เป็นสาขาของปรัชญาสาขาหนึ่ง เป็นสาขาที่รวมศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ของจักรวาล เป็นสาขาที่ค้นหาเรื่องสภาวะแห่งความเป็นจริง อะไรเป็นสิ่งที่เป็นจริง และอะไรเป็นสิ่งที่ได้จากสิ่งที่เป็นจริง โลกคืออะไร จักรวาลมีได้อย่างไร วัตถุหรือจิตเป็นความจริง มนุษย์คืออะไร เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่จะหาคำตอบได้จากอภิปรัชญา

เมื่อเป็นเช่นนี้ อภิปรัชญา จึงเป็นสาขาของปรัชญาที่ศึกษาถึงความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นจริง ซึ่งพยายามจะหาคำตอบจากสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น อะไรคือจิต จิตมีจริงหรือไม่ อะไรคือพระเจ้า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ จิตกับพระเจ้ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไรหรือไม่ อะไรแน่ที่เป็นความแท้จริง
ในการศึกษาเกี่ยวกับอภิปรัชญาดังกล่าว จึงเกิดมีทฤษฎีอภิปรัชญาขึ้นมากมาย แต่ก็อยู่ในลักษณะของ 3 ทฤษฎีหลักคือ
1. ทฤษฎีสสารนิยม (Materialism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะยอมรับเรื่องของวัตถุ หรือสสารเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จึงพยายามหาความจริงเกี่ยวกับสสาร
2. ทฤษฎีจิตนิยม (Idealism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอะไรคือธาตุแท้ของมนุษย์ โดยเน้นไปที่เรื่องของจิต เพราะยอมรับว่า จิต เท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
3. ทฤษฎีธรรมชาตินิยม (Naturalism) ทฤษฎีนี้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติว่า อะไรเป็นผู้สร้าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสร้างโลก ควบคุมโลก และทำลายโลก เหล่านี้เป็นต้น

ความหมายของอภิปรัชญา
(Meanings of Metaphysics)คำว่า “อภิปรัชญา” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้คู่กับคำภาษาอังกฤษว่า “Metaphysics” เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต 3 คำคือ
1. อภิ : ยิ่ง
2. ปฺร : ประเสริฐ
3. ชฺญา : ความรู้, รู้, เข้าใจ
เมื่อรวมกันแล้ว เป็น “อภิปฺรชฺญา” (อภิปรัชญา) แปลว่า ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง

คำว่า “อภิปรัชญา” ตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ปรมัตถ์” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ปรม (อย่างยิ่ง, ลึกซึ้ง) + อัตถ (เนื้อความ) เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า ความรู้ที่มีเนื้อความที่ลึกซึ้ง

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของคำว่า “อภิปรัชญา” เอาไว้ว่า “สาขาหนึ่งของปรัชญา ว่าด้วยความแท้จริง ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของปรัชญา”

อภิปรัชญา เป็นปรัชญาบริสุทธิ์สาขาหนึ่ง มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นหาความจริงที่สิ้นสุด เดิมทีเรียกว่า “ปฐมปรัชญา” (First Philosophy) หรือปรัชญาเริ่มแรก (Primary Philosophy) ซึ่งเป็นชื่อเรียกผลงานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) อีกอย่างหนึ่ง เหตุที่เรียกวิชาอภิปรัชญานี้ว่า First Philosophy เนื่องจากว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาลและเป็นวิชาที่ควรศึกษาเป็นอันดับแรก ส่วนวิชาการต่าง ๆ ในสมัยแรก ๆ นั้น ก็รวมอยู่ในปฐมปรัชญาทั้งนั้น เพราะหลักการของปฐมปรัชญาสามารถใช้อธิบายวิชาอื่น ๆ ได้ทุกวิชา จึงเป็นศาสตร์ต้นตอแห่งศาสตร์ทั้งปวง หรือเป็นศาสตร์ที่ทำให้เกิดศาสตร์ต่าง ๆ

ดังนั้น อภิปรัชญา เป็นวิชาที่เกี่ยวกับพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาล เป็นศาสตร์เบื้องต้นแห่งศาสตร์ทั้งปวง เพราะศาสตร์หรือวิชาการต่าง ๆ ได้รวมอยู่ในปฐมปรัชญาหรืออภิปรัชญานี้ทั้งนั้น เราจึงสามารถนำหลักการของปฐมปรัชญาไปอธิบายสาขาของปรัชญาได้ทุกสาขา

อภิปรัชญา (Metaphysics) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology หรือ Theory of Being) คำว่า “ภววิทยา” มีความหมายว่า วิชาที่ว่าด้วยความมีอยู่, ความเป็นอยู่ มาจากภาษาสันสกฤต 2 คำคือ
1. ภว : มี, เป็น
2. วิทยา : วิชา, ศาสตร์
คำว่า “Ontology” มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำคือ
1. Onto : Being
2. Logos : Science

คำว่า “Ontology” เป็นคำที่นักปรัชญาสมัยโบราณใช้มาก่อนคำว่า “Metaphysics” เพราะคำว่า Metaphysics เพิ่งจะเริ่มใช้กันเมื่อประมาณศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชตามที่ สเตช (W.T. Stace) ได้ชี้แจงไว้ คือเมื่อแอนโดรนิคัส (Andronicus) จัดพิมพ์งานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) เข้าเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำเอาตำราปฐมปรัชญาไปพิมพ์ไว้หลังฟิสิกส์ คำว่า “Metaphysics” (เมตาฟิสิกส์) จึงมีความหมายว่า “มาหลังฟิสิกส์” “ล่วงพ้นฟิสิกส์” (After Physics) กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งนอกเหนือฟิสิกส์

เมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ คำว่า “Metaphysics” ในภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของอภิปรัชญาใช้คำว่า “Meta ta Physika” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Metaphysics มีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำคือ
Meta : After, Above (หลัง, เบื้องหลัง, ล่วงเลย)
Physika : Physics = Nature (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส, สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยอินทรีย์)
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “Metaphysics” จึงหมายถึง “After Physics” แปลว่า “สิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส, สิ่งที่อยู่หลังฟิสิกส์, สิ่งที่อยู่เบื้องหลังวัตถุ หรือวิชาที่ว่าด้วยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่รู้สึกทางประสาทสัมผัส”

จากความหมายดังกล่าวนี้ มีนักปราชญ์ของไทยบางท่าน ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นใช้อีกศัพท์หนึ่งคือ “อตินทรีย์วิทยา” (อติ + อินทรีย์ = ล่วงเลยอินทรีย์ หรือล่วงเลยประสาทสัมผัส)
ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า คำว่า “อภิปรัชญา” มีไวพจน์ที่ใช้อยู่ 4 อย่างได้แก่
1. อภิปรัชญา
2. ความรู้ขั้นปรมัตถ์
3. Meta ta physika
4. อตินทรีย์วิทยา

เมื่อแยกพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า ไวพจน์ที่ 1 คืออภิปรัชญา และไวพจน์ที่ 2 คือความรู้ขั้นปรมัตถ์ มีความหมายที่เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงสูงสุด ไม่มีอะไรที่จริงไปกว่านี้อีกแล้ว ภาษาปรัชญาเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า การค้นหาความจริงขั้นอันติมะ (Ultimate Reality) ในการศึกษาค้นหาความจริงดังกล่าวนั้น เราอาจจะวิเคราะห์ได้ 3 ขั้นตอน (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, 2525: 3 – 4) ตามความจริงที่เป็นพื้นฐาน นั่นคือ

ความจริงขั้นสมมติ เป็นความจริงที่เราสมมติขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เราได้รับการศึกษาหรือสั่งสอนให้เรียกวัตถุที่เหลว ๆ ดื่มได้ อาบได้ ล้างถ้วยชามได้ ฯลฯ ว่า “น้ำ” เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นลม หรือเป็นไฟ หรือเป็นดิน การที่เราเรียกอย่างนั้นก็เพราะเรียกตามที่เคยได้รับการศึกษาหรือได้รับการสั่งสอนอบรมมา ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นสมมติ

ความจริงตามสภาวะ เป็นความจริงที่อาศัยสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีลักษณะเป็นอีกอย่าง แต่เมื่อถึงขั้นนี้มีลักษณะอย่างใด เราก็เรียกตามลักษณะเช่นนั้น เช่น การเรียกตามสภาวะนั้น อาจจะมีได้เพราะสาเหตุหลายอย่าง เป็นต้นว่า วิทยาการมีการก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาทดลอง น้ำที่เราใช้ดื่ม อาบ หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ นั้น เมื่อได้รับการศึกษาทดลองแล้ว ได้กลายเป็นอย่างอื่นไป ไม่ใช่น้ำ เพราะเป็นเพียงสารประกอบทางเคมีที่เป็นไฮโดรเจน 2 ปรมาณู รวมกับปรมาณูของอ๊อกซิเจน อีก 1 เท่านั้น อย่างที่ตั้งเป็นสูตรกันว่า H2O นั่นเอง ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงตามสภาวะ

ความจริงขั้นปรมัตถ์ เป็นความจริงสูงสุด เมื่อเราวิเคราะห์ลงไปเรื่อย ๆ โดยเอาปรมาณูของไฮโดรเจน และปรมาณูของอ๊อกซิเจนมาแยกย่อยลงไปอีก จะได้เป็น อีเล็กตรอน โปรตรอน และนิวตรอน และอนุภาคที่เล็กกว่าปรมาณูแล้ว สภาวะเช่นนี้ สูตรที่เราเรียกว่า H2O ก็หายไป ก็จะมีแต่ความว่างเปล่า ลักษณะความจริงเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นปรมัตถ์

ส่วนไวพจน์ที่ 3 คือ Meta ta physika (Metaphysics) และไวพจน์ที่ 4 คือ อตินทรีย์วิทยา มีความหมายเหมือนกัน กล่าวคือ ความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์

นักปรัชญาตะวันตก ได้แบ่งวัตถุในโลกออกเป็น 2 อย่างคือ (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, 2525: 4)
1. สิ่งที่ปรากฏ (Appearance)
2. สิ่งที่เป็นจริง (Reality)
นักปรัชญาทั่วไปยอมรับว่า สิ่งที่ปรากฏต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั้น เป็นเพียงสิ่งปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องมีสิ่งที่เป็นความจริงอยู่ในสิ่งที่ปรากฏนั้น เช่น การเห็นเชือกเป็นงู

ในขณะที่เราเดินทางตอนกลางคืนที่มีแสงสว่างพอสลัว ๆ พอเดินผ่านสนามหญ้า มองไปเห็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ความยาวศอกเศษ ๆ เราถึงกับสะดุ้งตกใจร้องออกมาว่า “งู ๆ ๆ” แต่พอได้สติหายตกใจ นำเอาไฟฉายมาส่องดูแล้วจึงร้องออกมาด้วยความโล่งใจว่า “อ๋อ เชือกนั่นเอง ตาเราฝาดไป เห็นเชือกเป็นงู”

นั่นคือ นักปรัชญาจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า จะต้องมีของจริงเป็นฐานรองรับในทุกปรากฏการณ์ เช่น “การเห็นเชือกเป็นงู” กล่าวคือ เชือกเป็นของมีอยู่จริง แต่เพราะเห็นเชือกไม่ชัด จึงเห็นเป็นงู งูในที่นี้ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงภาพปรากฏของเชือกเท่านั้น

ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ นักปรัชญาจะพูดถึงลักษณะเหล่านี้ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งฝ่ายตะวันตก และฝ่ายตะวันออก ที่ต่างกันเห็นจะเป็นการเรียกชื่อ นั่นคือปรัชญาตะวันตก เรียกว่า “Metaphysics” เพราะเป็นการค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง อันจะมีผลในการทำให้แจ้งสัจจะของปรากฏการณ์ธรรมชาติ และข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่าง ๆ ส่วนปรัชญาตะวันออก เรียกว่า “อภิปรัชญา หรือปรมัตถธรรม” เพราะเมื่อค้นพบปรมัตถธรรมแล้วก็จะนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้ก้าวสู่ระดับสูงของการประพฤติต่อไป

ความเป็นมาของอภิปรัชญา
(History of Metaphysics)
ดังที่ทราบมาแล้วว่า คำว่า “อภิปรัชญา” (ปรัชญาอันยิ่งใหญ่, ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่) มาจากภาษาอังกฤษว่า “Metaphysics” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก Meta + Physics รวมกันแล้วแปลว่า “สภาวะที่อยู่เหนือการสัมผัส” นั่นหมายถึงว่า อภิปรัชญา เป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือการรู้เห็นทั่วไป

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้อธิบายไว้ว่า การให้ความหมายหรือการแปลศัพท์ของคำว่า Metaphysics นั้น จะแปลตามมูลศัพท์หาได้ไม่ เพราะว่าคำนี้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ นั่นคือหลังจากที่เพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้ทำให้วิชา Philosophy เจริญขึ้น เพลโต้ถือว่า วิชานี้เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อริสโตเติ้ล (Aristotle) มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ในหนังสือที่อริสโตเติ้ล แปลและเรียบเรียงขึ้นเล่มหนึ่งได้นำเอาเรื่อง First Philosophy มาเรียงไว้ในตอนท้าย ๆ ซึ่งต่อมาจากเรื่องฟิสิกส์ หรือปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy)

ในหนังสือดังกล่าว ได้จัดเรียงลำดับไว้ดังนี้
1. คณิตศาสตร์ (Mathematics)
2. กายภาพของโลก (Physics)
3. ปฐมปรัชญา (First Philosophy)
4. ตรรกศาสตร์ (Logic)
5. จิตวิทยา (Psychology)
6. จริยศาสตร์ (Ethics)
7. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)

สเตช (W.T. Stace) ได้ชี้แจงไว้ว่า คำว่า Metaphysics เป็นคำที่ได้มาโดยบังเอิญ คือประมาณ พ.ศ. 480 เมื่อแอนโดรนิคัส (Andronicus) ได้รวบรวมผลงานของอริสโตเติ้ลเข้าเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำเอาตำราปฐมปรัชญาไปพิมพ์ไว้หลังฟิสิกส์ คือเรียง First Philosophy ไว้หลังปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy หรือ Physics) และ นีโคลาอุส (Nicolaus) แห่งดามัสกัส เป็นคนแรกที่เรียก First Philosophy โดยใช้ภาษากรีกว่า Ta meta ta Physika แล้วเรียกส่วนนี้ว่า “หลังฟิสิกส์” (After Physics) กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งนอกเหนือฟิสิกส์ ภาษากรีกที่ว่า Meta ta Physika หมายความว่า “งานที่ทำนอกเหนือหรือล่วงพ้นจากทางร่างกาย, โลกเบื้องหลังกายภาพ, สิ่งที่อยู่เบื้องหลังฟิสิกส์”

คำว่า Meta (After, Above) แปลว่า “หลัง เหนือกว่า เบื้องหลัง เลยออกไป” เมื่อรวมกับ Physics จึงหมายถึงสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส หรือสิ่งที่นอกเหนือไปจากสสารและพลังงาน หรือสิ่งทั้งหลายที่ไม่อาจจะรู้หรือเข้าถึงได้ด้วยอาศัยประสาทสัมผัส ดังนั้น อภิปรัชญา จึงเป็นวิชาที่ศึกษาถึงเบื้องหลังหรือเนื้อแท้ของสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์และทดสอบด้วยประสาทสัมผัสได้

ต่อมา นักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อ โบธิอุส (A.M.S.Boethius) ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นภาษาลาตินเพียงคำเดียวว่า Metaphysica ต่อมาจึงได้กลายมาเป็น Metaphysics อย่างที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ คำว่า “Metaphysics” แต่เดิมมีความหมายเพียง “หลังฟิสิกส์”
คำว่า “ฟิสิกส์” เดิมหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติหรือในโลก ต่อมาในตอนหลัง ได้มีการแปลความหมายกว้างขวางออกไปอีกเป็นว่า Physics หมายถึง กายภาพ, ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของประสาทสัมผัส, สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยอายตนะ หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5 กล่าวคือสสารและพลังงาน

จะเห็นได้ว่า คำว่า อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นคำที่นำมาใช้ในสาขาปรัชญาสาขาหนึ่ง นำมาใช้ครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 480 หรือในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์กาล ปรัชญาเมธีอริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้เรียกปรัชญาสาขาที่สำคัญที่สุดนี้ว่า “ปฐมปรัชญา” (The First Philosophy) ซึ่งเป็นสาขาที่ว่าด้วยความแท้จริง หรือความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส
ในปรัชญาสมัยกลาง (Medieval Period) อภิปรัชญามีความสำคัญน้อยกว่าเทววิทยา (Theology) เพราะเทววิทยาได้รับการยอมรับและศึกษากันอย่างกว้างขวาง เป็นยุคมืดของวงการปรัชญา นักปรัชญาส่วนมากเป็นพระนักบวชในคริสตศาสนา จึงเน้นเฉพาะคำสอนเกี่ยวกับคริสตศาสนาอย่างเดียว ต่อมาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ซึ่งเข้าสู่ปรัชญาสมัยใหม่ (Modern Period) อภิปรัชญา ได้มีความสำคัญเท่ากันกับเทววิทยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ
อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นจริงและความจริงแท้ (Reality) เกี่ยวกับโลกและจักรวาล ตลอดจนธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีความเป็นจริงอย่างไร ความเป็นจริงที่แสวงหานั้นเป็นความจริงสุดท้ายหรือความจริงสูงสุดที่เรียกว่า ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality) อันเป็นพื้นฐานที่มาของความจริงอื่น ๆ ดังนั้น จึงทำให้ปรัชญาสาขานี้ มีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ มากมาย จะขอยกมาที่นี้เฉพาะที่เห็นสำคัญเท่านั้นคือ
1. อภิปรัชญากับศาสนา (Metaphysics and Religion)
2. อภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์ (Metaphysics and Science)
3. อภิปรัชญากับญาณวิทยา (Metaphysics and Epistemology)

1. อภิปรัชญากับศาสนา
ระหว่างอภิปรัชญากับศาสนา มีทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ที่คล้ายคลึงกันมีลักษณะที่สำคัญดังนี้
อภิปรัชญาและศาสนา มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นเหมือนกัน นั่นคือเพื่อศึกษาเบื้องหลังของโลกหรือจักรวาล
ทั้งอภิปรัชญาและศาสนา พยายามที่จะก้าวไปให้พ้นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้มองเห็นความแท้จริง
ทั้งอภิปรัชญาและศาสนาเน้นการฝึกจิตว่า เป็นวิธีที่เข้าถึงความแท้จริงได้ ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายสสารนิยม

ทั้งอภิปรัชญาและศาสนา เชื่อในความสามารถของจิตมนุษย์ว่าสามารถสัมผัสความแท้จริงได้ ยกเว้นอภิปรัชญาฝ่ายสสารนิยม
อภิปรัชญาและศาสนา (เทวนิยม) มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
อภิปรัชญาใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตระ ส่วนด้านศาสนาใช้วิธีมอบกายถวายชีวิตต่อสภาพธรรมนั้น
อภิปรัชญาใช้เหตุผลในการเข้าถึงความแท้จริง ส่วนศาสนาใช้ความภักดีและศรัทธาในพระเจ้าในการเข้าถึงสัจธรรม
อภิปรัชญา ไม่เริ่มต้นศรัทธาในสิ่งที่จะศึกษาค้นคว้า แต่เริ่มต้นด้วยความสงสัย ส่วนศาสนาเริ่มต้นด้วยศรัทธา
อภิปรัชญามีขอบเขตที่จะต้องศึกษากว้างกว่าศาสนา คือว่าด้วยความแท้จริงเกี่ยวกับโลกทั้งมวล ส่วนศาสนาว่าด้วยเรื่องพระเจ้าในส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์เท่านั้น
อภิปรัชญา ศึกษาเพื่อความรู้จริงเท่านั้น ส่วนศาสนามุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง

2. อภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์ที่จะพึงศึกษา คือ
อภิปรัชญา คือการคาดคะเนความจริงก่อนวิทยาศาสตร์ แนวความคิดทางอภิปรัชญาเช่น ธาเลส (Thales) บอกว่า “น้ำ เป็นปฐมธาตุของโลก หรือสรรพสิ่งมาจากน้ำ” หรือ เฮราคลิตุส (Heraclitus) บอกว่า “ไฟ เป็นปฐมธาตุของโลก หรือสรรพสิ่งมาจากไฟ” เหล่านี้เป็นต้น ถือว่าเป็นการคาดคะเน การคาดคะเนเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องของอภิปรัชญา ต่อมา เรื่องโครงสร้างของเอกภพกายภาพก็ดี เรื่องของส่วนประกอบของสิ่งทั้งหลายก็ดี เป็นหน้าที่ของศาสตร์เช่น ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ เป็นต้นที่จะต้องให้คำตอบโดยใช้วิธีการทดสอบ ทดลอง ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

3. อภิปรัชญากับญาณวิทยา
โดยทั่วไปแล้วถือว่า อภิปรัชญากับญาณวิทยาเป็น 2 สาขาของปรัชญา โดยอภิปรัชญานั้น เป็นการค้นคว้าถึงธรรมชาติของความแท้จริงสุดท้าย ส่วนญาณวิทยา เป็นการค้นคว้าถึงธรรมชาติของความรู้
กับปัญหาที่ว่า ระหว่างอภิปรัชญากับญาณวิทยา อะไรสำคัญกว่ากัน ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ นักปรัชญาบางกลุ่มเห็นว่าญาณวิทยามาก่อน เพราะการตรวจสอบถึงความเป็นไปได้และขอบเขตของความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญอันเป็นพื้นฐานในการแสวงหาและคันคว้าถึงธรรมชาติของความแท้จริงสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องของอภิปรัชญา แต่นักปรัชญาบางกลุ่มก็ได้เริ่มต้นปรัชญาของเขาด้วยอภิปรัชญา และถือว่าญาณวิทยาต้องสอดคล้องหรือคล้อยตามอภิปรัชญา โดยทัศนะดังกล่าวแล้ว ทั้งญาณวิทยาและอภิปรัชญา ต่างก็เป็นสาขาของตัวเองต่างหากไม่เกี่ยวเนื่องกัน
อภิปรัชญา (Metaphysics) จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมีอยู่ ความเป็นอยู่ของสรรพสิ่ง ความมีอยู่ของสรรพสิ่งก็คือความแท้จริงของสรรพสิ่ง ความแท้จริงของสรรพสิ่งย่อมเป็นความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ดังนั้น ทั้ง 2 คำจึงเป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ว่า Ontology ใช้มาก่อน Metaphysics ใช้ทีหลัง กล่าวคืออภิปรัชญาศึกษาเรื่องธรรมชาติที่แท้จริงเกี่ยวกับโลก วิญญาณหรือจิต และพระผู้เป็นเจ้า การที่เราจะเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของโลก วิญญาณหรือจิต และพระผู้เป็นเจ้านั้น ต้องอาศัยญาณวิทยาเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
ญาณวิทยา (Epistemology) คือทฤษฎีความรู้ เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ธรรมชาติและเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรายละเอียดของความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นความเป็นไป และตัดสินได้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้ ซึ่งเกิดจากความรู้ที่แท้จริง เป็นการศึกษาสภาพทั่ว ๆ ไปของความรู้อย่างกว้าง ๆ
ดังนั้น อภิปรัชญาจะต้องใช้ญาณวิทยาเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งที่มีอยู่ กล่าวคือญาณวิทยา เป็นพื้นฐานหรือมูลฐานที่ทำให้เกิดปรัชญานั้น ความจริงญาณวิทยาและอภิปรัชญามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งหนึ่งจะปราศจากอีกสิ่งหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ ทฤษฎีว่าด้วยความรู้นำไปสู่ความรู้สิ่งต่าง ๆ
จะอย่างไรก็ตาม ทั้งอภิปรัชญาและญาณวิทยาต่างก็มีวิธีการอธิบายสิ่งเดียวกัน นั่นคือธรรมชาติที่แท้จริง และทั้งสองอย่างต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อค้นหาความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง

บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความคิดทางอภิปรัชญาไว้ต่าง ๆ กัน แต่เมื่อสรุปแล้ว มีอยู่ 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ความอยากรู้อยากเห็นในความเป็นไปของธรรมชาติ
สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งลี้ลับ เข้าใจยาก เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ย่อมจะต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งนั้น ๆ เมื่อมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้น จึงพยายามค้นคว้าเพื่อให้รู้ เข้าใจในปรากฏการณ์เหล่านั้น
2. ความบกพร่องของสัตว์โลก
เมื่อสัตว์โลกมีความบกพร่องในการดำเนินชีวิต จึงเกิดความไม่พอใจ เกิดความสงสัยว่าทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกัน เกิดมาแล้วทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วพยายามคิดหาทางแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
3. ความต้องการความเป็นระเบียบของสังคม
สังคมหรือชุมชน จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ดี ในการจัดระเบียบคนในสังคมนั้น ๆ ให้มีการเป็นอยู่ด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าหากขาดระเบียบแบบแผนที่ดี ระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ไม่เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว สังคมก็จะสับสนวุ่นวาย จำเป็นจะต้องคิดค้นหาปทัฏฐานของสังคมส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่ชุมชน
4. ความต้องการกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในการปกครอง
การเมือง หรือการปกครองจะต้องมีกฎเกณฑ์ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยทางบ้านเมือง ประชาชนจะรู้สึกผิดหวัง ถ้าบ้านเมืองขาดหลักการปกครองที่ดี มีคุณธรรม จึงต้องมีการคิดค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคม
5. อำนาจของพระเจ้ามีมากเกินไป
ศาสนาโดยเฉพาะศาสนาเทวนิยม สอนให้เชื่อในเรื่อง พระเจ้า ซึ่งมีอำนาจมากมาย ไม่มีขอบเขตจำกัด จึงท้ายทายผู้มีสติปัญญาให้มีการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าว่า มีจริงหรือไม่ หรือมีอำนาจอย่างไร มีอำนาจจริงหรือไม่ เป็นต้น

หน้าที่ของอภิปรัชญา
นักปรัชญาเริ่มต้นแนวความคิดของตนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ อันเกิดจากความสงสัย หรือความประหลาดใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และพยายามตอบข้อสงสัยในสิ่งเหล่านั้นด้วยเหตุผล เช่น ธาเลส (Thales) มีความสงสัยเกี่ยวกับปฐมธาตุของโลก หรือบ่อเกิดของโลกว่า โลกเกิดขึ้นมาจากอะไร มีอะไรเป็นบ่อเกิด เขาพยายามหาคำตอบ จนในที่สุดเขาก็ได้คำตอบว่า “น้ำ” เป็นบ่อเกิดของโลก หรือเป็นปฐมธาตุของโลก โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่มีชีวิตที่อยู่ในโลกล้วนต้องการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์หากขาดน้ำแล้วไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ สรรพสิ่งเกิดมาจากน้ำ และจะกลับเข้าไปสู่น้ำอีก เป็นต้น
แนวความคิดของนักปรัชญาลักษณะเช่นนี้ นั่นคือแนวความคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นนี้ เป็นแนวความคิดทางอภิปรัชญา เพราะอภิปรัชญาเป็นวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเอกภพ รวมไปถึงจักรวาลด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ หน้าที่ของอภิปรัชญา จึงได้แก่การสืบค้นหาอันติมสัจ (Ultimate Truth) คือความจริงที่สิ้นสุด ซึ่งอยู่เหนือความจริงที่ปรากฏแก่ประสาทสัมผัส เป็นความจริงที่ครอบคลุมสิ่งทั้งปวงได้ เป็นความพยายามของนักปรัชญาที่จะตอบข้อสงสัยของตนว่า ความเป็นจริงคืออะไร หรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลายคืออะไรกันแน่
แต่การสืบค้นหรือการแสวงหาความจริงดังกล่าวนั้น จะต้องประกอบด้วยเหตุผล เพราะจุดมุ่งหมายของการศึกษาอภิปรัชญาที่สำคัญ ก็คือเพื่อให้มนุษย์เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเป็นอิสระ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาปรัชญาตามหลักของเหตุผล

ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ดังที่เราได้ศึกษามาแล้ว หน้าที่ของปรัชญาก็คือการศึกษาค้นคว้าหาความจริง หรือการพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น เนื้อหาที่สำคัญของปรัชญาก็คือ ความแท้จริงนั่นเอง เกี่ยวกับเรื่องความแท้จริงนี้ นักปรัชญาพยายามที่จะให้คำตอบตั้งต้นแต่นักปรัชญาสมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งถึงนักปรัชญาสมัยปัจจุบัน ทั้งที่เป็นนักปรัชญาตะวันตก และนักปรัชญาตะวันออก เรื่องที่ถกเถียงกันหาคำตอบนั้น มีประเด็นใหญ่ ๆ อยู่ 3 อย่างคือ
1. What is Reality ความแท้จริงคืออะไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ อภิปรัชญา (Metaphysics)
2. How to know Reality เรารู้ความแท้จริงได้อย่างไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ญาณวิทยา (Epistemology)
3. How to act according to Reality เราควรจะทำตัวอย่างไร ให้เหมาะสมกับความแท้จริง สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ จริยศาสตร์ (Ethics)

จะเห็นได้ว่า อภิปรัชญา เป็นสาขาปรัชญาเริ่มแรกที่พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องทั้งปวง จึงเป็นสาขาที่สำคัญมาก อนึ่ง เป็นเพราะอภิปรัชญาเป็นสาขาแรกที่นักปรัชญาได้คิด และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนักปรัชญาหรือนักคิดขึ้นในโลก เป็นสาขาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่แท้จริงอันติมะ (Ultimate Reality)ว่าอะไรเป็นอะไร หรือศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ และความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น อภิปรัชญา จึงมีหน้าที่ในการตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของเอกภพ จักรวาลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการแสวงหาความจริงขั้นพื้นฐาน
ตามที่อริสโตเติ้ล เรียกอภิปรัชญาว่า First Philosophy เพราะเป็นปรัชญาสาขาที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก และท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่า
“มีศาสตร์อยู่ศาสตร์หนึ่ง ทำหน้าที่ค้นคว้า สืบสาวเรื่องภาวะทั่วไป หรือสัต (Being as Being) และคุณลักษณะต่าง ๆ อันเป็นสภาพของสภาวะนี้ ในปัจจุบันศาสตร์นี้หาได้เป็นอย่างเดียวกับศาสตร์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งไม่ เพราะในจำนวนวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มักตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของภาวะ (Being) มาศึกษาสืบค้นคุณลักษณะของภาวะนั้น ๆ เท่านั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา ได้แก่การพยายามตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง รวมทั้งกระบวนการของความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วย นั่นหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับเอกภพ (Cosmogony) จักรวาล (Universe) โลก (World) มนุษย์ (Man) จิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) ชีวิต (Life) สสาร (Matter) ธรรมชาติ (Nature) พระเจ้า (God) หรือสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เพราะอภิปรัชญามุ่งให้ศึกษาค้นคว้าถึงสัจธรรมหรือความเป็นจริงของเอกภพ หรือความเป็นจริงของสรรพสิ่งเท่าที่มีอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอยู่ในลักษณะใดก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งที่สัมผัสได้ ทั้งที่สัมผัสไม่ได้
ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา จึงมีอยู่ 3 ประเด็นคือ
1. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติ รวมไปถึงจักรวาล (Cosmogony, Nature and Cosmology)
2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)
3. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยาด้วย (God or Absolute and Ontology)

1. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติ (Cosmogony and Nature)
เป็นการตอบปัญหาหรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเอกภพหรือธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของอวกาศ กาล สสาร ความเป็นเหตุและผล ชีวิต วิวัฒนาการ ความเป็นไปแบบเครื่องจักรกลของเอกภพ และความเป็นไปแบบมีวัตถุประสงค์
เพื่อจะหาคำตอบว่า สรรพสิ่งหรือสิ่งเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น ศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับกาล (เวลา) ว่ามีกำเนิดหรือบ่อเกิดอย่างไร เป็นไปโดยมีเป้าหมายหรือไม่ หรือมีเป้าหมายอย่างไร หรือใครเป็นผู้กำหนดเวลา ใครเป็นผู้สร้างเวลาเหล่านี้เป็นต้น

2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)
อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของวิญญาณ กำเนิดของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย
เกี่ยวกับปัญหานี้ นักปรัชญาพยายามศึกษาเพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า จิตของมนุษย์เรานั้นคืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร มนุษย์มีอิสระในการคิดในการหาคำตอบหรือไม่ หรือมนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจ และการเลือกกระทำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด จะเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาดูเกี่ยวกับวิญญาณ อัตตา และจิต ว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นคนละอย่างกัน เพราะนักปรัชญาแต่ละสำนัก หรือแต่ละคนจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตหรือวิญญาณนี้แตกต่างกัน
ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจิต หรือวิญญาณ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน ตั้งแต่นักปรัชญาสมัยโบราณ จนกระทั่งนักปรัชญาปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อยุติที่แน่นอน เพราะเหตุว่า จิตหรือวิญญาณ ตามแนวความคิดของนักปรัชญาหรือนักปราชญ์แต่ละท่านนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ จึงเป็นขอบข่ายหรือเรื่องที่ต้องพยายามหาคำตอบในทางอภิปรัชญา

3. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยาด้วย (God or Absolute and Ontology)
อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับเอกภพ และกับวิญญาณ
ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้านั้น นักปรัชญาพยายามตอบคำถามที่ว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ พระเจ้าสร้างโลกได้อย่างไร สร้างโลกจริงหรือไม่ เมื่อสร้างแล้วทำไมจะต้องทำลายโลก หรือสร้างโลกทำไมไม่สร้างให้สมบูรณ์แบบ พระเจ้ามีอำนาจจริงไหม มีอำนาจมากน้อยเพียงใด หรือพระเจ้ามีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อแท้ของทุกสิ่งในเอกภพ ความจริงขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality) คืออะไร สิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ เป็นสสารหรืออสสารกันแน่ ?

ดังนั้น อภิปรัชญา (Metaphysics) จึงเป็นการศึกษาถึงความแท้จริงของสรรพสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของจิตหรือวิญญาณ เรื่องของพระเจ้าหรือสิ่งสัมบูรณ์ โดยศึกษาว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร มีการดำรงอยู่อย่างไร เราสามารถที่จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นต่างกันหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น
นักปรัชญาฝ่ายอภิปรัชญา ได้พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ โดยพยายามศึกษาปรัชญาสาขาต่าง ๆ ที่ให้ทัศนะเกี่ยวกับโลกแห่งผัสสะ และโลกเหนือผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีบ่อเกิดอย่างไร ทำไมต้องเกิดมีปัญหาอย่างนั้นขึ้น



No comments:

Post a Comment