การปฏิรูปหน่วยงานที่ปฏิบัติงานกับภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization)
เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า
การสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันทำงานเป็นกลุ่ม/องค์กรหรือเป็นภาคประชาสังคม (CSO) ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพากันเองได้ ก็จะเป็น Interest group หรือ Pressure group ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบและสร้างความสมดุล (check and balance) หรือคานอำนาจนักการเมืองทั้งในระดับท้องที่ท้องถิ่นและระดับชาติตามหลักรัฐศาสตร์ ได้ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ซึ่งรัฐบาลได้แบ่งภารกิจหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในระดับตำบลหมู่บ้าน/ชุมชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึ่งได้จัดตั้งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมมหาดไทยถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ กรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน และมีกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นกรมที่เก่าแก่อีกกรมหนึ่ง ต่อมาเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จากโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็อธิบายได้ว่า ภารกิจงานในพื้นที่ก็จะมี ๓ รูปแบบ คือ
๑. แบบปกครอง
๒. แบบพัฒนาชุมชน
๓. แบบประชาสงเคราะห์
ซึ่งทั้ง ๓ รูปแบบ มีศาสตร์/องค์ความรู้ให้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน มีบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน คือ พัฒนากร มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่ม/องค์กรของประชาชนในการจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรประชาชนต่าง ๆ อาทิเช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯลฯ ด้วยหลักการพัฒนาชุมชน คือ เป็นการทำงานที่เน้น Non-directive Approach เป็นการปฏิบัติงานที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเขาถูกสั่งการให้โอกาสและสนับสนุนประชาชนได้ช่วยเหลือกันเอง (Self-help) รวมทั้ง การส่วนร่วมของประชาชนและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder) ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนต่าง (People participation) ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล รับผลประโยชน์ และเข้ามามีหุ้นส่วนในกิจการนั้น ๆ (Collaborative Partnership) โดยในแต่ละลักษณะก็จะมีเทคนิควิธีย่อย ๆ หรือผสมผสานกันในการทำงานมากมาย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พูดถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมและให้ประชาชนพึ่งพากันเอง แต่ก็ไม่ใช่การพัฒนาชุมชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชุมชนเท่านั้น สำหรับหลักการทั้ง ๔ ลักษณะข้างต้น ถือว่าเป็น means และ ends ของการพัฒนาชุมชน และงานพัฒนาชุมชนของประเทศไทยปัจจุบัน จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคม (Socio-economy) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว
๑. แบบปกครอง
๒. แบบพัฒนาชุมชน
๓. แบบประชาสงเคราะห์
ซึ่งทั้ง ๓ รูปแบบ มีศาสตร์/องค์ความรู้ให้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน มีบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน คือ พัฒนากร มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่ม/องค์กรของประชาชนในการจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรประชาชนต่าง ๆ อาทิเช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯลฯ ด้วยหลักการพัฒนาชุมชน คือ เป็นการทำงานที่เน้น Non-directive Approach เป็นการปฏิบัติงานที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเขาถูกสั่งการให้โอกาสและสนับสนุนประชาชนได้ช่วยเหลือกันเอง (Self-help) รวมทั้ง การส่วนร่วมของประชาชนและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder) ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนต่าง (People participation) ไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล รับผลประโยชน์ และเข้ามามีหุ้นส่วนในกิจการนั้น ๆ (Collaborative Partnership) โดยในแต่ละลักษณะก็จะมีเทคนิควิธีย่อย ๆ หรือผสมผสานกันในการทำงานมากมาย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พูดถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมและให้ประชาชนพึ่งพากันเอง แต่ก็ไม่ใช่การพัฒนาชุมชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชุมชนเท่านั้น สำหรับหลักการทั้ง ๔ ลักษณะข้างต้น ถือว่าเป็น means และ ends ของการพัฒนาชุมชน และงานพัฒนาชุมชนของประเทศไทยปัจจุบัน จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคม (Socio-economy) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้แก่ พัฒนากร ในโอกาสเสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิดเขื่อนและการพลังงานไฟฟ้าแม่น้ำพุง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๘
“ขอบใจมากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบทและต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความฉลาดสามารถช่วยตัวเองได้ ให้รู้จักใช้และเห็นคุณค่าความเจริญในด้านวัตถุ เช่น รู้จักนำพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำพุงนี้ใช้ในบ้านเรือนและการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในการปฏิบัติงาน ชาวบ้านมักมีความหวาดระแวงและเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ ข้าราชการถือว่าเป็นบุคคลภายนอกหมู่บ้านไม่ใช่พวกเดียวกัน การเชื่อถือหรือยอมทำตามคำแนะนำส่งเสริมจึงมีน้อย ดังนั้น จะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกรักและเชื่อถือว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา มีความปรารถนาจะช่วยเขาอย่างแท้จริง เช่น ให้ความรักช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน ทำงานให้จริงจัง ซึ่งต้องใช้ความพยายามความอดทนเป็นอย่างมากในการแนะนำส่งเสริมอาชีพหรือให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ต้องทำให้บ่อย ๆ ไม่ใช่พูดหรือทำหนเดียว เพราะชาวบ้านมีประเพณีความเคยชินมานาน และเมื่อแนะนำให้ทำอะไรได้แล้วต้องช่วยให้เขาขายได้ด้วย มิฉะนั้น เขาจะเสื่อมศรัทธาไม่เชื่อถือทำต่อไป ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวบ้านราษฎรให้ขยันขันแข็งมีความฉลาด สร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ทำงานหารายได้และเก็บออมไว้เมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสังคม การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแก่ครอบครัวชนบท เป็นการป้องกันประเทศชาติด้านหนึ่ง อย่าเข้าใจว่าการป้องกันประเทศชาติเป็นหน้าที่ของทหาร เช่นสมัยก่อน ความมั่นคงของประชาชนชนบทเป็นส่วนที่จะสร้างชาติและป้องกันประเทศอย่างดี ขอบใจ ขอให้สบายดี โชคดีทุกคน และมีความสำเร็จในการงาน”
กองฝึกอบรมกรมการพัฒนาชุมชนได้รวบรวมบทบาทของพัฒนากรและใช้ในการฝึกอบรมพัฒนากรไว้(กรมการพัฒนาชุมชน ๒๕๑๑:๕๗-๖๒) ดังนี้
๑. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) เนื่องจากงานพัฒนาชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วิธีการที่ใช้ในการพัฒนาชุมชนจึงต้องทำตามแบบกึ่งเสรีกึ่งบังคับ โดยมีลักษณะการทำงาน มีโครงการ มีเป้าหมาย และมีกำหนดระยะปฏิบัติการที่แน่นอน เพื่อที่จะให้การพัฒนาได้เป็นไปโดยรวดเร็วกว่าที่จะปล่อยให้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของประชาชนเองแต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นไปโดยธรรมชาติ ฉะนั้น บทบาทสำคัญของพัฒนากร คือ การเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง โดยพยายามทุกวิถีทางที่จะให้หมู่บ้านชนบทได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ในการที่จะเปลี่ยนแปลงได้นั้น พัฒนากร จะต้องใช้วิธีเข้าไปคลุกคลีทำตัวสนิทสนมกับชาวบ้าน เพื่อที่จะชักจูงให้ชาวบ้านเกิดความคิดริเริ่มและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตน ตลอดจนทั้งพยายามกระตุ้นเตือนยุหนุนให้ชาวบ้านได้ตระหนักในปัญหาเหล่านั้น และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องที่เขาเผชิญอยู่
๒. เป็นนักรวมกลุ่ม(Organizer) ในการดำเนินงานพัฒนากรจำเป็นต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันตั้งแต่แรกเริ่มไปจนกระทั่งหลังจากโครงการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว กล่าวคือ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การแพร่ความคิดให้แก่ประชาชนสำรวจความต้องการวางโครงการดำเนินงานตามโครงการและติดตามผลการปฏิบัติตามโครงการ ซึ่งขบวนการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องกัน ถ้าจะให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์และเป็นการง่ายแล้วจำเป็นต้องทำงานกับกลุ่ม การทำงานกับกลุ่มชนนั้น นอกจากจะเป็นการประหยัดเวลาแล้ว ยังเป็นผลให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะทำงานกับแต่ละคน ฉะนั้น พัฒนากรจึงต้องเป็นนักรวมกลุ่มที่ดี ในการที่พัฒนากรจะเป็นนักรวมกลุ่มที่ดีนั้น จะต้องรู้จักการติดต่อสร้างสรรค์ เขาต้องมีกลวิธีในการที่จะรวมบุคคลเข้ามาร่วมกัน และยั่วยุแนะนำชักจูงให้กลุ่มรู้จักการดำเนินงานในทางที่มีประสิทธิภาพและประหยัด เช่น ให้กลุ่มมีศิลปะในการจัดการประชุม การหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกันในปัญหาต่าง ๆ รู้จักการติดต่อแหล่งทรัพยากร และเข้าใจในการคิดค้นแก้ปัญหา ให้มีความสามารถในการทำงานตามความมุ่งหมายให้สำเร็จ ภายในกำหนดเวลา แม้แต่กลุ่มที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ พัฒนากรจะต้องพยายามเข้าร่วมและชักจูงให้กลุ่มเข้าร่วมกันเป็นปึกแผ่นที่มั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้กลุ่มได้เกิดการสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหาและวิธีการทำงานแบบใหม่ การปรับปรุงกิจกรรมของชีวิตด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ความคิดริเริ่ม ตลอดจนสมรรถภาพในการทำงานร่วมกัน และปรึกษาหารือในปัญหาประจำวันเป็นต้น
การทำงานกับกลุ่มชน พัฒนากรต้องมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของประชาชนเหล่านั้น เข้าหาประชาชน โดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของเขาเป็นพื้นฐาน มีใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน และพยายามปรับความคิดการกระทำทั้งมวลให้สอดคล้องกลืนกับภาวะวิสัย อย่าให้เกิดความรู้สึกเห็นแก่ตัวขึ้นได้ งานก็จะสำเร็จตามความมุ่งหมายของรัฐบาลและประชาชน
๓. เป็นผู้ให้การศึกษา(Educator) ขบวนการพัฒนาชุมชนนั้น นอกจากเป็นการรวมกลุ่มคนแล้ว โดยลักษณะของงานพัฒนาชุมชนยังเป็นขบวนการศึกษาอยู่ตลอดเวลา ในการที่ประชาชนจะทราบว่ามีสิ่งใหม่ ๆ แนวความคิดใหม่ ๆ ที่พัฒนากรทำ มาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเขา และทราบว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร คนอื่นมีความรู้สึกอย่างไร จนสามารถวางโครงการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน ย่อมจะต้องมีการติดต่อกันเป็นระยะจนกว่างานจะสำเร็จออกมา ในการนี้ พัฒนากรจะเข้าไปกระตุ้นเตือนชักจูงและให้แนวความคิดวิชาการใหม่ ๆ ทำให้ชาวบ้านเริ่มคิด เริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจ เริ่มตระหนักในปัญหาต่าง ๆของตัวเอง และชี้ให้พวกเขาเห็นว่าเขามีความสามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ซึ่งขบวนการดังกล่าวนี้ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสังคม ต่อชีวิต และต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และทำให้เกิดพฤติกรรมที่จะแก้ปัญหาและนำความเจริญมาสู่ตัวเขาเองในที่สุด
๔. เป็นผู้กระตุ้นเตือนยั่วยุ (Stimulator) โดยปกติประชาชนในชุมชนนั้น ย่อมมีวิธีการประกอบอาชีพและวิถีทางดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นแบบฉบับของเขาเองอยู่แล้วตามประเพณีดั้งเดิม แต่วิธีการประกอบอาชีพและวิถีทางดำเนินชีวิตของเขามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนากันไปอย่างช้า ๆ ตามประสบการณ์ และความเปลี่ยนแปลงตามสังคม ซึ่งเป็นหลักธรรมดาไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ การพัฒนาชุมชนเป็นขบวนการที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางที่ต้องการ ให้มีอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงโดยเหมาะสม ไม่ใช่ให้เป็นไปตามยะถากรรม โดยให้พัฒนากรเป็นผู้ดำเนินการ ใช้วิธียั่วยุกระตุ้นเตือนและชักจูงเร่งเร้าให้ประชาชนในชุมชนนั้น เกิดความรู้สึกใคร่ที่จะเปลี่ยนแปลง และพยายามระดมสรรพกำลังและความช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
๕. เป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) บรรดาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชนบทนั้น ย่อมจะมีแตกต่างกันไป ปัญหาบางอย่าง สามารถแก้ไขด้วยความสามารถของพัฒนากรและชาวบ้านได้ แต่ปัญหาบางอย่างเกินวิสัยที่พัฒนากร จะช่วยเหลือ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวพัฒนากรจะต้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการต่าง ๆ อีกทอดหนึ่งพัฒนากรต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างบริการของรัฐกับประชาชนในการประสานงาน พัฒนากรจะต้องคำนึงถึงกาลเทศะและความพร้อมของทั้งสองฝ่าย เช่น การจะชุมนุมให้ชาวบ้านมาทดลองปลูกข้าวตัวอย่าง พัฒนากรจะต้องรู้และคำนึงอย่างลึกซึ้งรอบคอบเสียก่อนว่า เวลาใดที่ราษฎรพร้อม กล่าวคือ มีเวลาว่างโดยทั่วถึงกันและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการก็พร้อมและเต็มใจที่จะมาสาธิต พัฒนากรจะต้องเข้าใจกลไกและความละเอียดอ่อนแห่งความสัมพันธ์ของบุคคลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ระดับอำเภอจังหวัดและกรม ด้วยการติดต่อประสานงาน อาจจะกระทำในแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ แล้วแต่กรณี การประสานงานของพัฒนากรในการปฏิบัตินั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ
ระดับแรก เป็นการประสานงานระหว่างชาวบ้านกันเอง ให้ร่วมมือร่วมใจ สละทรัพยากร กำลังกาย เพื่อให้โครงการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบรรลุผล
ระดับสอง เป็นการประสานระหว่างชาวบ้านผู้มีความต้องการบริการกับเจ้าหน้าที่รัฐในด้านต่าง ๆ
ระดับสาม เป็นการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน
๖.เป็นตัวเชื่อม (Link) ในการทำงานของพัฒนากรนั้น บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ จะต้องเป็นตัวเชื่อมที่ดี พัฒนากรต้องเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ กล่าวคือ เป็นผู้นำความต้องการของประชาชนเสนอมาตามลาดับชั้น ขณะเดียวกันก็ชักนำบริการของรัฐตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ จากรัฐไปสู่ประชาชน นำให้ประชาชนกับรัฐอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ มีความกลมกลืนสัมพันธ์กันโดยใช้ระบบการสื่อความคิดติดต่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะอำนวยให้เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ พัฒนากรต้องระวังในเรื่องการปฏิบัติอย่างมาก เพราะการที่จะเป็นสื่อกลางที่ดีนั้น จะต้องมีความเข้าใจวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่ายอย่างถ่องแท้ กล่าวคือ พัฒนากรจะต้องมีความเข้าใจในนโยบายของรัฐและความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี และนำเอาความต้องการของทั้งสองฝ่ายมาติดต่อกันอย่างชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว อาจเป็นผลเสียหายได้ในทางปฏิบัติ
๗. เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) นอกจากการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อกับหน่วยราชการแล้ว พัฒนากรต้องช่วยให้ความสะดวกแก่ชาวบ้านในการดำเนินงานของเขาเองในหมู่บ้าน จัดเตรียมประชาชนให้พร้อมที่จะทำงานร่วมกับนักวิชาการ การนัดหมายประชาชน การนัดหมายนักวิชาการ การช่วยเหลือนักวิชาการในการสาธิตต่าง ๆ และการช่วยเหลือประชาชนในการทำงานร่วมกัน
๘. เป็นผู้สื่อความคิดติดต่อ (Communicator) พัฒนากรซึ่งเป็นข้าราชการที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้าน นับว่าเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าข้าราชการประเภทอื่น ฉะนั้น พัฒนากรจึงสามารถทราบได้ดีถึงปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ และรวมถึงภาษาในท้องถิ่นด้วย การที่นักวิชาการจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้เพียงใดหรือให้ความช่วยเหลือชาวบ้านได้ตรงกับความต้องการของเขาได้มากเพียงใดนั้น พัฒนากรย่อมมีบทบาทสำคัญในการที่จะสื่อความคิดระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลทำให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือสมตามความมุ่งหวัง
ในปัจจุบัน ผู้ที่ทำงานกับกลุ่ม/องค์กรในระดับตำบลหมู่บ้าน/ชุมชน ไม่ใช่พัฒนากรเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเกษตรตำบลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ทำงานตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งงานของแต่ละหน่วยงานนั้น เคยเป็นภารกิจของพัฒนากรมาก่อน และในระดับตำบลยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้โอนงานด้านการศึกษา คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้กับ เทศบาลหรือ อบต. ดูแล ฉะนั้น พัฒนากรยุคใหม่ ก็ต้องปรับตัว ต้องมีความรู้และ/หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ (Knowledge) งานในหน้าที่ของตนเองและความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นผู้มีความเข้าใจ (Understanding) ในภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถวิเคราะห์สังเคราะห์งาน ชุมชนและสังคม ให้ออกมาในรูปแบบการพัฒนาชุมชนได้ มีความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รวมทั้ง ต้องมีทักษะ (Skill) ในการทำงานพัฒนาชุมชนและการใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ซึ่งสามารถเรียนรู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากผู้อื่น จากการค้นคว้า ตำรับตำรา E-learning การฝึกอบรม การศึกษาต่อ หรือเรียนรู้จากพื้นที่จริง จากการฝึกปฏิบัติ และสะสมเป็นประสบการณ์ของตนเอง อาทิเช่น
๑. การเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ
๒. การพูดในที่สาธารณะ การเป็นพิธีกร การพูดในโอกาสต่าง ๆ
๓. การจัดเวทีประชาคม การจัดประชุม (เป็นประธาน/เลขานุการในที่ประชุม)
๔. การจดบันทึก การจับประเด็น ในที่ประชุมหรือจากเวทีประชาคม
๕. การขับรถมอเตอร์ไซค์/รถยนต์ เพราะต้องเข้าพื้นที่ มิฉะนั้น จะเป็นภาระคนอื่นและไม่อิสระ
๖. การใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่จำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งการพิมพ์ดีด โดยเฉพาะพิมพ์ดีดสัมผัส
๗. การวิเคราะห์สังเคราะห์งานและชุมชน หรือวิธีคิดกระบวนระบบ (Systems thinking) ได้
๘. สามารถใช้ Social media, Tablet/Smart phone ในการสื่อสารและใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับงาน
๙. สามารถใช้ Blog และ/หรือเว็บไซต์ของอำเภอในการจัดเก็บ รายงานและประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ
๑๐. การทำงานสารบัญ/ธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ
๑๑. การวางแผน และการจัดทำแผน แผนงาน/โครงการ งบประมาณ
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึง สามารถฝึกได้ แต่ของให้พัฒนากรมีทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ไม่เป็นคนปฏิเสธงาน งานที่ทำถือว่าได้ทั้งงาน ได้ทั้งการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต เป็นผู้มีความใฝ่รู้ มีจิตอาสาที่จะเห็นตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ละทิ้งงาน ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือคนอื่น ๆ เป็นที่ปรึกษาให้กับประชาชนได้ มีสัมมาคารวะ อยู่ในทำนองคลองธรรม สามารถทำงานเดียวและทำงานเป็นทีมได้ ปรับตัวได้เร็ว เก็บความรู้สึกได้เก่ง รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่เครียดและโยนความผิดให้คนอื่นหรือโทษฟ้าดิน แค่นี้ ก็ทำงานได้อย่างมีความสุขแล้ว
ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพและขาดการดูแลที่เพียงพอและรอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐได้แก่ (๑) กลุ่มปัญญาชนและเยาวชน (๒) กลุ่มผู้นำด้านศาสนา (๓) กลุ่ม NGOs และ IGOs (๔) กลุ่มนักวิชาการ (๕) กลุ่มสตรี (๖) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ (๗) กลุ่มเครือข่ายไทยพุทธ (๘) กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม (๙) กลุ่มนักการเมือง (๑๐) กลุ่มนักธุรกิจ (๑๑) กลุ่มสื่อมวลชน (๑๒) กลุ่มบุคคลที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ (๑๓) กลุ่มชุมชนในพื้นที่ระดับรากหญ้า (๑๔) กลุ่มผู้นำชุมชนระดับรากหญ้า (๑๕) กลุ่มประชาชนทั่วไป/สังคมใหญ่ระดับรากหญ้า เป็นต้น
ข้อเสนอเพื่อดำเนินการสนับสนุน/ส่งเสริมภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization) ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการแก้ปัญหา หน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบและทำงานกับ CSO ให้มีเอกภาพ ประกอบกับการโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยแล้ว การทำงานด้านการพัฒนา CSO ก็ถูกลดความสำคัญลงมาก จึงควรที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มประชาชนทำงานในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน มีพัฒนากรทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน กรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรตำบลทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุข มีผู้อำนวยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานในระดับตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน)สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้ง กองทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีการบูรณาการการทำงานและเป็นหน่วยงานภายใต้คำสั่งการจากหน่วยบัญชาการเดียวกันจากส่วนกลาง และไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำ อันจะทำให้ภาคประชาสังคมสามารถรวมกลุ่ม/องค์กร และหน่วยงานของรัฐเหล่านี้จะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ทำงานในระดับพื้นที่ผ่านภาคประชาสังคม ส่วนภารกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้ ให้เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันและบรรเทาอุกทภัย การจัดการขยะมูลฝอย ฯลฯ เป็นต้น และเป็นภารกิจกรมการปกครอง ด้านการรักษาและดูแลความมั่นคง
สรุปการปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน นอกจาก จะเป็นการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ควรปฏิรูปหน่วยงานที่ทำงานกับภาคประชาสังคม โดยให้รวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้บูรณาการและรับคำสั่งการจากผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง โดยให้เป็นหน่วยงานที่สังกัดส่วนกลางและเป็นท่อของรัฐบาลกลางที่จะส่งผลด้านการพัฒนาโดยตรงผ่าน ภาคประชาสังคม (CSO = Civil Society Organization) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานรากและประชารัฐในระดับรากหญ้า
No comments:
Post a Comment