Wednesday, 28 March 2018

การบันทึกชุดความรู้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

การบันทึกชุดความรู้ระดับหน่วยงาน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
--------------------

๑. ชื่อชุดความรู้ งานพัฒนาชุมชนต้องสอดรับกับการปรับเปลี่ยนของยุคสมัยและสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนได้อย่างยั่งยืน

๒. องค์ความรู้ที่บ่งชี้(เลือกได้จำนวน ๑ หมวด)
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ (OTOP) 
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาระบบบริหารจัดการและเข้าถึงแหล่งทุนชุมชน
     องค์ความรู้หมวดเทคนิคการเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง
    ✗ องค์ความรู้หมวดเทคนิคการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

๓. ส่วนราชการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

๔. นิยามการจัดการความรู้ของหน่วยงาน คือ 
การนำความรู้ที่พัฒนากรได้จัดทำองค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ จำนวน ๒ กิจกรรม คือ การขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนในส่วนการขยายผล กับ เทคนิคการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัติวิถีพัฒนากร  และ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จำนวน ๑ กิจกรรม คือ การพัฒนาความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(การทำน้ำยาล้างจาน) มารวบรวมและประมวลผล/ถอดบทเรียน สรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้กับหน่วยงาน และบันทึกลงในเว็บไซต์ เพื่อให้พัฒนากรและผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกในการค้นคว้า เมื่อจะต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

๕. ที่มาและเป้าหมายของการจัดการความรู้
องค์ความรู้มาจากการปฏิบัติงานจริง (Tacit Knowledge) ของพัฒนากรในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส นำมาประมวลผล (Compilation) และ ถอดเป็นบทเรียน (Lessons learned)เกิดเป็นองค์ความรู้ (BoK: Body of Knowledge) และภูมิปัญญา (Wisdom) ใหม่ 

ส่วนเป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ การนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในอนาคต เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด มีความประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

๖. กระบวนการดำเนินงานจัดการความรู้

๖.๑ องค์ความรู้ที่บ่งชี้ คือ 
 องค์ความรู้หมวดเทคนิคการเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง

๖.๒ แสวงหาความรู้จาก (ที่ไหน) 
การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ (Tacit/Implicit Knowledge) และการเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่เดิม (Explicit Knowledge) ที่ได้สะสมเป็นประสบการณ์และที่มีอยู่ในเอกสารตำรา

๖.๓ มีการจัดเก็บ รวบรวมองค์ความรู้ (ในรูปแบบใดบนเว็บไซต์

๖.๔ มีขั้นตอนการประมวลและกลั่นกรองความรู้อย่างไร ใครเป็นคนกลั่นกรอง 
การประมวลผลและกลั่นกรองความรู้จากด้วยการเล่าเรื่องและถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานจริงของพัฒนากร โดยพัฒนากรเป็นผู้กลั่นกรอง และพัฒนาการอำเภอสรุปบทเรียนความรู้จากการถอดบทเรียนของพัฒนากร

๖.๕ การสร้างแหล่งเรียนรู้ในหน่วยงาน 
โดยการนำเสนอผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้พัฒนากรและผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกในการค้นคว้า เมื่อจะต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

๖.๖ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในหน่วยงาน คือ 
การพูดคุยในสำนักงาน การพูดคุยผ่าน Social online

๖.๗ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในหน่วยงาน คือ
การดำเนินโครงการฯตามที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด และพัฒนากรแต่ละคนถอดบทเรียนของตนเองสะสมเป็นประสบการณ์ แล้วก็บันทึกไว้

๗. ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการความรู้
๗.๑ องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นเทคนิค/แนวทางในการพัฒนางาน คือ พัฒนาการอำเภอต้องให้พัฒนากรมีความอิสระในการบริหารจัดการโครงการทั้งหมด พัฒนากรต้องร่วมกับทีมตำบล หน่วยงานภาคีภาครัฐ และอาสาพัฒนาพัฒนาชุมชน เพื่อ

(๑) ร่วมกันวางแผนดำเนินโครงการ 
(๒) ร่วมกันกำหนดและสรรหากลุ่มเป้าหมาย 
(๓) ร่วมกันดำเนินโครงการ
(๔) ร่วมกันถอดบเรียน (AAR: After Action Review) เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ
(๕) ร่วมกันติดตามประเมินผล Output, Outcome, และผลกระทบ (Impact) ระยะยาว 
(๖) ร่วมกันประมวลผล และถอดบทเรียนแบบมองย้อนกลับ (Retrospective)มีพัฒนากรบันทึกข้อมูลนั่น ๆ เพื่อให้เกิด Reflection และสะสมเป็น Tacit/Implicit Knowledge และประสบการณ์ในการทำงานต่อไป
(๗) ร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ


๗.๒ ข้อพึงระวัง(ข้อพึงระวังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางาน) ของพัฒนาการอำเภอและพัฒนากร
(๑) ไม่ทำงานคนเดียว แต่ต้องทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทีมงานภาคีและอาสาพัฒนาชุมชน 
(๒) ไม่หนักใจ แต่ต้องขยันจัดเก็บข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภาพถ่ายแบบนิ่งและเคลื่อนไหว 
(๓) ไม่ทำเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องยอมรับความจริงและขยันโพสต์ข้อมูลบนเว็บไซต์ Social media เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และมีการเสนอแนะความคิดที่หลากหลาย
(๔) ไม่เป็นคนเกียจคร้าน แต่ต้องเรียนรู้เครื่องมือช่วยในการทำงาน (PDA: Personal Digital Assistant) เพื่อให้งานรวดเร็ว
(๕) ไม่ตื่นตูม แต่ตื่นตัวอยู่เสมอในการค้นคว้าหาความรู้ ให้มีความสามารถในการพิมพ์งานเพื่อบันทึกข้อมูล ฝึกฝนการถ่ายภาพเพื่อบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมทั้ง การตัดต่อภาพ และนำเสนอผลงายได้ทุกช่องทาง
(๖) ไม่ต้องมีคนขับรถ แต่สามารถขับขี่พาหนะในการเข้าหมู่บ้าน/ชุมชนด้วยตนเอง
(๗) ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การทำงานของเรา จะไม่เป็นภาระกับเพื่อนร่วมงาน กล่าวคือ พัฒนากรต้องช่วยเพื่อน ไม่ใช่เพื่อนช่วยพัฒนากรอยู่ร่ำไป 
(๘) ลดการพึ่งพาวิทยากรภายนอก แต่ฝึกฝนให้มีความสามารถในการเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ
(๙) อย่าอาศัยเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลภายนอก ประมวลผลข้อมูล ถอดบทเรียน สรุปบทเรียน นำเสนอหรือเผยแพร่ความรู้ผ่านทุกช่องทาง เพราะไม่ลึกซี้งกับดำเนินการเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
(๑๐) อย่าเหมาคลุมว่างานพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ก็เหมือนกับหน่วยงานอื่นทำ แต่ต้องมีความเข้าใจว่า งานพัฒนาชุมชนนั้น มีความแตกต่างจากงานปกครองและงานประชาสงเคราะห์โดยสิ้นเชิง

๗.๓ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ KUSA (กูซ่า)

(๑) K = Knowledge (ความรู้) คือ รู้ คน งาน พื้นที่ ทั้งในเรื่องที่ดำเนินการทั้งภาพกว้าง (General Knowledge) และเจาะจง (Specific Knowledge)
(๒) U = Understanding (ความเข้าใจ) คือ เข้าใจ คน งาน พื้นที่  ทั้งในนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน/จังหวัด/อำเภอ เข้าใจ (ใจเขาใจเรา) เพื่อร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ภาคีการพัฒนา อาสาพัฒนาชุมชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง สถานการณ์หรือบริบทพื้นที่
(๓) S = Skill (มีทักษะ) มีทักษะในการเป็นวิทยากรบรรยายและวิทยากรกระบวนการ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือช่วย (PDA) การขับขี่พาหนะเข้าพื้นที่ การใช้ภาษา การประมวลผล การวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล การถอด/สรุปบทเรียน การพิมพ์งาน การจัดทำรายงาน รวมทั้ง การมีศาสตร์และศิลป์ในการพูดคุย โน้มน้าวให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานพัฒนาชุมชน
(๔) A = Attitude (ทัศนคติ) การมีทัศนคติเชิงบวกและการคิดเชิงบวก ต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน มี mindset ที่เป็นจิตอาสาและต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพากันเองได้ ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

๗.๔ ปัญหาที่พบและวิธีการแก้ไข


(๑) ปัญหาที่พบ
- บางคนติดกรอบเจ้าคุณมูลนาย ไม่ติดดิน ได้แต่สั่งการ
- บางคนชอบทำงานแบบช่วยเหลือหรือประชาสงเคราะห์
- บางคนไม่เข้าใจงานพัฒนาชุมชน ที่ทำงานแบบมีส่วนร่วม
- บางโครงการเร่งรีบเพื่อให้ผ่านตัวชี้วัดเบิกเงินงบประมาณ
- บางโครงการไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ (FS: Feasibility Study) ไม่มี Pilot Project ทำงานแบบลองผิดลองถูก (trial and error) และไม่ได้ถอดบทเรียน
- บางโครงการต้องการตอบโจทย์ Top down ไม่ได้ตอบโจทย์ Bottom up 
- แผนงาน/โครงการ/กิจกรรมทุกอย่างต้องการรายงาน ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนต้องทำรายงาน/หลักฐานมากกว่าทำงาน
- ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องเสียเวลากับการจัดเก็บข้อมูลซ้ำซาก และบางข้อมูลไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะไม่มีความจำเป็นและซ้ำกับข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บอยู่แล้ว
- ไม่มีเวลาหรือไม่อยากใช้เวลาในการถอดบทเรียนทั้งแบบ AAR และ Retrospective ทำให้ไม่สามารถ Respective งานที่ทำและสะสมเป็น Tacit /Implicit Knowledge จนเกิดเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลได้

(๒) วิธีการแก้ไข

ก. พัฒนาการอำเภอและพัฒนากร

- ต้องเป็นได้ทั้ง Coach, Mentor, Consultant, และ Psychologist
- ต้องแยกแยะงานพัฒนาชุมชน/งานปกครอง/งานประชาสงเคราะห์ให้เป็นและทำงานพัฒนาชุมชนได้
- มั่นศึกษาเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ใหม่ ๆ ทันต่อสถาณการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
- เปรียบเทียบกับทหารแล้ว พัฒนาการอำเภอ คือ เสนาธิการทหารที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ แต่สามารถประสานงานรอบทิศทาง และพัฒนากร คือ ทหารราบที่พร้อมรบและผูกมิตรกับราษฎรในหมู่บ้าน/ชุมชน และอาสาพัฒนาชุมชน คือ แนวร่วมก่อการดีที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน เราต่างเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ใช่นักวิชาการบนหอคอยงาช้าง


ข. นักวิชาการพัฒนาชุมชนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน/กรมการพัฒนาชุมชน
- ต้องเป็นได้ทั้ง Coach, Mentor, Consultant, และ  Psychologist
- ต้องแปลงนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน/จังหวัด (Implementation) ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเสมียนถอดเทปหรือสำเนาข้อสั่งการ และทำหนังสือเสนอให้ผู้บังคับชาสั่งการอำเภอ
- ไม่เป็นคนสั่งการในเรื่องที่แม้แต่ตนเองยังปฏิบัติไม่ได้ ต้องมี Pilot Project หรือถอดบทเรียนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ และนำมาสะสมเป็นประสบการณ์ในการทำ decision-making สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยในการทำงานได้ และมีการประเมินผล/ถอดบทเรียนงานที่รับผิดชอบตลอดเวลา
- เป็นคนกลางที่ตรงไปตรงมา และนำปัญหา/อุปสรรคของพัฒนาการอำเภอ/พัฒนากร ปรึกษาหารือกับกรมการพัฒนาชุมชน เพราะงานพัฒนาชุมชนอยู่ที่อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน ไม่ได้อยู่ที่จังหวัด/กรมฯ
- ต้องระลึกอยู่เสมอว่า อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน คือ หน่วยปฏิบัติการ ไม่ต้องให้มาเสียเวลาคิดเรื่องยุทธศาสตร์หรือจัดทำแผนกลยุทธ์ซ้ำกับจังหวัด แต่ให้เน้นการสะสมประสบการณ์และความสามารถด้านกลวิธี (Tactic) ในการปฏิบัติงานจะดีกว่า มิฉะนั้น งานพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน/ชุมชนไม่เกิด มีแต่งานตามยุทธศาสตร์กรม/จังหวัด และเสียเวลาในการทำรายงานมากว่าทำงาน ถ้ามองลักษณะงานในพื้นที่ไม่ออก ให้ดูวิธีการทำงานของทหาร ครู และหมอ ที่อยู่ในพื้นที่
- ให้ความสำคัญกับพัฒนากร มากว่า ตำแหน่งอื่น ๆ เหมือนหน่วยงานอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ครู หมอ ฯลฯ และตำแหน่งที่สูงขึ้นก็จะเป็นสัดส่วนตามจำนวนพัฒนากร
- เมื่อพื้นที่งานพัฒนาชุมชนเป็นความรับผิดชอบของท้องถิ่นแล้ว พัฒนากรและงานพัฒนาชุมชนของประเทศยังมีความจำเป็นในการทำงานเชิงประเด็น ทั้งในเมืองและชนบท เหมือนบางประเทศที่ทำ เช่น ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น และอัตราพัฒนากร คิดตามสัดส่วนประชากร เหมือน สาธารณสุข ศึกษา เกษตร ปกครอง ที่ได้กำหนดแผนพัฒนาบุคลากรแล้ว
- ไม่กำหนดตัวชี้วัดการทำงานในลักษณะขุดหลุมฝั่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนกันเอง ให้ตัวชี้วัดเป็นข้อมูลในการประเมินผลเพื่อพัฒนางาน (Evaluation is improve, but not prove) ไม่ใช่ใช้ตัวชี้วัดควบคุมการทำงานเจ้าหน้าที่ ส่วนการควบคุมเจ้าหน้าที่ให้ทำงานต้องกำหนดมาตรระบบการควบคุม (Controlling Systems) อย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า
- สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอต้องมีธุรการและเจ้าหน้าที่การเงิน ส่วนพัฒนากรปฏิบัติงานในระดับตำบลต้องมีครบทุกตำบล หากทำงานเชิงพื้นที่ (area-based)หรือคิดตามสัดส่วนประชากร หากต้องมาทำงานเชิงประเด็น (issue-based)

๗.๕ ผลของการแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องนั้นเป็นอย่างไร

ก. พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรสามารถดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันได้ โดย

- ร่วมกันถกแถลงปัญหา/อุปสรรคร่วมกันและถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนพี่เหมือนน้อง
- เมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรในการทำงานก็เสียสละเบี้ยเลี้ยงจ้างพนักงานมาช่วยทำงาน
- เจ้าหน้าที่ต้องมีความเสียสละเงินบ้างในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือช่วยในการทำงาน
- เกิดการสร้างภาคีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานพื้นที่


ข. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอร่วมกับหน่วยงานภาคีการปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น สาธารณสุข เกษตร ปกครอง กศน. สช ฯลฯ โดยมี นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้บริหารแบบบูรณาการ ดังนี้
- มีการร่วมจัดทำโครงการฯแบบบูรณาการทุกภาคส่วน อาทิเช่น การขับเคลื่อนกิจกรรม ๔ ดี(สุขภาพดี การศึกษาดี เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี)ของอำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลกำหนดให้สุไหงโก-ลก คือ เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 
- ร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่ทำงานเชิงประเด็น เช่น ทีมงานโครงการญาลันนันบารู กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า สร้างกระบวนการจิตอาสากองทุนแม่ของแผ่นดิน จัดค่ายเยาวชนต้านยาเสพติด
- ร่วมสอนแนะและลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพัฒนากรและหน่วยงานภาคีพัฒนา

นอกจากนี้ มีการเขียนบทความ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่การทำงานพัฒนาชุมชน รวมทั้ง ปัญหา/อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ผ่านเว็บไซต์ และ Social online เพื่อจักได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีคำแนะนำในการทำงานจากสาธารณชน และเป็นการสะท้อนการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ผู้บริหารทุกระดับชั้นรับทราบปัญหา/อุปสรรคการทำงานพัฒนาชุมชนในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน และหวังเป็นข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอเป็นการศึกษาวิจัยพื้นฐาน (Basic Exploratory Research) ซึ่งสามารถต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อการยืนยัน (Confirmatory Research) อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน/ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐในระดับอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพากันเองได้ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

การบันทึกองค์ความรู้ การพัฒนาความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (การทำน้ำยาล้างจาน) อ.สุไหงโก-ลก

องค์ความรู้รายบุคคลพัฒนากร ปี 2561

1. ชื่อความรู้ การพัฒนาความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (การทำน้ำยาล้างจาน)
2. ชื่อเจ้าของความรู้  นางมุทิตา  บุตตะจีน
     ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน
    สังกัด  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก
3. หมวดองค์ความรู้บ่งชี้แนวทาง องค์ความรู้หมวดเทคนิคการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

4. ที่มาและเป้าหมายของการจัดการความรู้
การส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสัมมาชีพชุมชน และพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ
 เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี สติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งจะนำไปสู่ ความสุข ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

5. วิธีการ/ขั้นตอนการจัดการความรู้
(1) ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะดำเนินการ
(2) ค้นหาปราชญ์และสร้างทีมวิทยากร
(3) จัดหาเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรม
(4) บอกถึงคุณประโยชน์ ในการลดรายจ่าย และ แผนการจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
(5) แนะนำวัสดุรีไซเคิลในการบรรจุตัวผลิตภัณฑ์
(6) จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ หัวเชื้อ ในการกิจกรรม
(7) แนะนำเทคนิคต่าง ๆ จากผู้มีความรู้สู่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

6. ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการความรู้
(1) กลุ่มเป้าหมายเข้าใจถึงหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(2) สร้างความสามัคคีแก่ครอบครัวและชุมชน
(3) เป็นกิจกรรมที่สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน

7. บทสรุป ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
(1) จากประสบการณ์และความชำนาญ สามารถฝึกฝนจนสร้างเป็นอาชีพได้
(2) กระตุ้นให้มีความตื่นตัวในการดำรงชีวิต
(3) มีความสุขในการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวและสังคม

Tuesday, 27 March 2018

การบันทึกองค์ความรู้ เทคนิคการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัติวิถี อ.สุไหงโก-ลก

องค์ความรู้รายบุคคลพัฒนากร ปี 2561

1. ชื่อองค์ความรู้ เทคนิคการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัติวิถีพัฒนากร
2. ชื่อเจ้าของความรู้  นางสาวพิญ์ชยา  ทิพย์สุวรรณ 
    ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
    สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก
3. หมวดองค์ความรู้ที่บ่งชี้แนวทาง  องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ

4. ความเป็นมา
การส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการนำภารกิจนโยบายของรัฐบาลการบูรณาการไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการสร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  ใช้กระบวนการปราชญ์ชาวบ้านหรือ ชาวบ้านสอนชาวบ้าน ทำในสิ่งที่ออยากทำและฝึกปฏิบัติจริงให้สามารถนำไปเป็นอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปากท้องประชาชนระดับล่าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และในส่วนของข้าราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 600 คน ได้รับมอบภารกิจให้เข้าร่วม โครงการคนกล้า พัฒนากรคืนถิ่น  : CD Talent  เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลองหันมาใช้ชีวิต และพัฒนาอาชีพบนวิถีเกษตรยั่งยืน โดยนำปัจจัยสำคัญทางเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้ตรงจุด และเป็นประโยชน์ทางด้านการเพิ่มผลผลิตและด้านการตลาด เน้นการแตกตัวตามบริบทของพื้นที่ จากต้นแบบเปลี่ยนเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่มีแบบที่ตายตัวเพียงแบบเดียว แต่จะเน้นตามบริบทตามศักยภาพของแต่ละคน โดยเชื่อมโยงการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่น ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือสุขภาพ เพื่อสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างทันสมัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยการมอบหมายให้พัฒนากรขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนปฏิบัติด้วยตนเองก่อนสู่ระดับหมู่บ้าน

5. ส่วนขยาย
กระบวนการ/วิธีการ/เทคนิค/ข้อพึงระวังอย่างไรที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน
        1. ดำเนินการวางแผน ออกแบบ แปลนแผนผังพื้นที่ในการทำในสิ่งที่ชอบและอยากทำ ปรึกษาหารือ ขอคำแนะนำจากผู้รู้ รับอาสาสมัคร ภาคีเครือข่าย ผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน
        2. จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ การออกแบบนวัตกรรมอย่างง่ายให้เกิดความสมดุล แม้มีข้อจำกัด เรื่องของพื้นที่ และเขตชุมชนเมือง
        3. ศึกษาคุณสมบัติ การบำรุงรักษา แสวงหาเมล็ดพันธ์ มาเพาะปลูก โดยยึดหลักปลูกในสิ่งที่ชอบรับประทาน ลดรายจ่าย
        4. ค้นคว้าหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับงาน และในการแก้ไขปัญหา
        5. เชิญชวนประชาสัมพันธ์ กลุ่มสัมมาชีพชุมชนในตำบลที่รับผิดชอบและข้างเคียง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

6. เทคนิค
        1. ต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยมีความ ตั้งใจ ใส่ใจ จริงใจและแบ่งปัน
        2. ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ทางสายกลาง
        3. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ใช้หลักการประสาน มองงานในภาพรวม

7. บทสรุป
    ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
        1. องค์ความรู้ ประสบการณ์ทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เอาแบบอย่างของวิทยากร ครู พี่เลี้ยง ที่ประสบความสำเร็จ
        2. ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะ ค้นหา แก้ไขปัญหาด้วยตนเองและภาคีพัฒนา
        3. ความสุขที่เกิดจากการใช้เวลาว่าง มีการพัฒนาเจริญเติบโตจากพืชผักสีเขียว



การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 2 ประสาน 
บำรุงราก ผล ใบ เพิ่มรสชาติ แก้ปัญหากลิ่น 
เพิ่มออกซิเจนในน้ำ
ใช้ในปศุสัตว์ โรงเรือนสัตว์ ด้านประมง ลดภาวะโลกร้อน



คอนโดแฝด และกระโจมอินเดียแดง  
นวัตกรรมการปลูกผักในที่จำกัด เขตชุมชนเมือง

การบันทึกองค์ความรู้ การขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนในส่วนขยายผล อ.สุไหงโก-ลก

องค์ความรู้รายบุคคลพัฒนากร ปี 2561
1.  ชื่อความรู้  การขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนในส่วนการขยายผล
2.  ชื่อเจ้าของความรู้  นางสาวพอขวัญ  แก้วลายทอง  
     ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ   
3.  หมวดองค์ความรู้ที่บ่งชี้  องค์ความรู้หมวดเทคนิคการพัฒนาอาชีพครัวเรือนตามแนวทางสัมมาชีพ

4.  ที่มาและเป้าหมายของการจัดการความรู้
ความเป็นมาของการขับเคลื่อนการสร้างสัมมาชีพชุมชน  โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  สืบเนื่องจากปัจจุบันนี้ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของประชาชนภาคการเกษตรในชุมชนมีภาวะความเสี่ยงของอาชีพภาคเกษตรกรรมที่เกิดจากการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิม เช่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  โรคพืช  ราคาผลผลิตตกต่ำ  การไม่มีอาชีพหรือรายได้เสริม  หลังฤดูการผลิตและยังมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพค่อนข้างน้อย  ส่วนกลุ่มอาชีพที่มีอยู่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างพอเพียง  ส่งผลให้ประชาชนต้องเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพในเมือง  และมีส่วนราชการที่มีสถานที่หรือศูนย์ฝึกอบรมซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ/แหล่งเรียนรู้การประกอบอาชีพได้  แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร  ประกอบกับมีปราชญ์ชุมชนด้านอาชีพที่เชี่ยวชาญและประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ  อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนแต่มีส่วนน้อยที่สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นนำไปทำตามให้สำเร็จได้

ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น  การดำเนินการในปี  ๒๕๖๐  นี้ จึงมุ่งเน้นที่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  นั่นคือ  รายได้  ที่ต้องทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น  โดยการสร้างอาชีพจึงเป็นที่มาของ “สัมมาชีพชุมชน” ซึ่งกำหนดแผนการสร้างสัมมาชีพชุมชนบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีเป้าหมาย  คือ ประชาชนได้รับการพัฒนาอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น  โดยใช้หลักการให้ชาวบ้านสอนชาวบ้านในสิ่งที่เขาอยากทำ ฝึกปฏิบัติจริง ให้สามารถนำไปเป็นอาชีพได้  และในปี 2561  ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายผลการดำเนินกิจกรรม “สัมมาชีพชุมชน”  เพิ่มเติมในหมู่บ้านเดิมเพื่อให้เกิดการขยายผลครัวเรือนสัมมาชีพชุมชน

5.  วิธีการ/ขั้นตอนการจัดการความรู้
5.1   ศึกษาและทำความเข้าใจแนวทาง/รายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯตามเอกสารคู่มือ
5.2   จัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ
5.3   ค้นหาและคัดเลือกปราชญ์ชุมชนเพื่อสร้างทีมวิทยากรสัมมาชีพชุมชนระดับหมู่บ้าน โดยคัดเลือกผู้ที่มีความรู้และพร้อมที่จะถ่ายทอด  ประกอบด้วยวิทยากรผู้นำสัมมาชีพ 1 คนและปราชญ์ชุมชนที่เข้าร่วมเป็นทีมเพิ่มเติมอีกหมู่บ้านละ 4 คน รวมเป็นจำนวน 5 คน
5.4   ทีมวิทยากรสัมมาชีพเตรียมความพร้อมครัวเรือนเป้าหมายสัมมาชีพ จำนวน 26 ครัวเรือน  โดยแบ่งตามสัดส่วนของทีมวิทยากรสัมมาชีพชุมชนระดับหมู่บ้านเฉลี่ย 1 คน ต่อ ครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องการฝึกอาชีพ เพื่อให้ความรู้เรื่องสัมมาชีพชุมชนและทบทวนความต้องการของครัวเรือนเป้าหมายฯ  ร่วมทั้งการประสานการจัดหาวัสดุสนับสนุนการฝึกอาชีพ 
5.5  ทีมวิทยากรสัมมาชีพชุมชนระดับหมู่บ้าน จำนวน 5 คน ดำเนินการฝึกอบรมสัมมาชีพชุมชนรายหมู่บ้านตามแผนปฏิบัติการที่กำหนด
     -  วันที่ 1– 3  สร้างความรู้  ความเข้าใจในเรื่องอาชีพที่ต้องการเรียนรู้
     -  วันที่ 4 ศึกษาดูงาน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ใกล้เคียง
     -  วันที่ 5 ฝึกปฏิบัติภายในครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องการฝึกอาชีพ

6.  ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการความรู้ 
     6.1  เทคนิคและแนวทางในการทำงาน
            6.1.1 การคัดเลือกปราชญ์ควรคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างแท้จริง  กล้าที่จะพูดและแสดงออก  และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน
            6.1.2 การคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายควรพิจารณาคัดเลือกที่มีความต้องการที่จะฝึกอาชีพเสริมอย่างแท้จริง 
            6.1.3 การศึกษาดูงานควรคัดเลือกพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจและเมื่อไปดูแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้กลับมาใช้ได้
            6.1.4 การฝึกปฏิบัติ  ควรแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้  และปฏิบัติครบถ้วนทุกคน  และทีมปราชญ์จะต้องกระตุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 
    6.2  ข้อพึงระวัง
           6.2.1 การคัดเลือกอาชีพที่ฝึกควรพิจารณาอาชีพที่ครัวเรือนทั้ง  26  คน มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะฝึก
           6.2.2 การคัดเลือกปราชญ์  ควรพิจารณาปราชญ์ที่มีความสามารถอย่างแท้จริงในการถ่ายทอด 
           6.2.3 ข้อควรคำนึงในการพิจารณาการเสนอโครงการด้านอาชีพของประชาชน1
                    (1) การรวมตัวเป็นกลุ่ม/องค์กร (5ก)
                           + ก1 = กลุ่ม
                           + ก2 = กรรมการ
                           + ก3 = กติกา
                           + ก4 = กิจกรรม
                           + ก5 = กองทุน
                     (2) ความสามารถด้านบริหารจัดการ
                            + ทุน (4M: Man, Money, Material, Machine) 
                            + เงิน
                            + แรงงาน/ความคิด (ไม่ใช่เงิน)
                            + ความรู้
                            + การจัดการเงินทุน/บัญชี/ทะเบียน/วัตถุดิบ/การผลิต/การตลาด/การวิเคราะห์ลูกค้า  (Bandwagon effect คือพฤติกรรมการซื้อสินค้าตามกระแสนิยม-Snob effect คือ พฤติกรรมการซื้อสินค้าสวนกระแสนิยม-Veblen effectคือ พฤติกรรมการซื้อสินค้าที่มีราคาแพง)
                           + ตลาด (Marketing Mix; 4P: Product, Price, Place, Promotion)
                             แข็งขันสมบูรณ์
                             แข็งขันไม่สมบูรณ์
                               -ผู้ขายน้อยราย
                               -กึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด
                               --ผูกขาด
                           + รายได้
                             ใช้สอย (อุปโภคบริโภค)
                             ออม เพื่อการลงทุนต่อไป 

                6.3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
                      6.3.1 การคัดเลือกปราชญ์ที่มีความสามารถในการถ่ายทอด  และทีมปราชญ์ที่มีความพร้อมในการกระตุ้นให้ครัวเรือนเกิดการเรียนรู้
                      6.3.2 การติดตามให้ความช่วยเหลือแนะนำครัวเรือนเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
                6.4 ปัญหาและวิธีการแก้ไข
                      6.4.1  ครัวเรือนเป้าหมายขาดความกระตือรือร้นที่จะฝึกอาชีพ วิธีการแก้ไขต้องให้ทีมปราชญ์สัมมาชีพคอยช่วยกระตุ้นแนะนำ
                      6.4.2  การขับเคลื่อนกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มเกิดความต่อเนื่อง
                6.5 ผลลัพธ์จากการแก้ปัญหาและการพัฒนาเรื่องนั้น
                      6.5.1  การที่ทีมปราชญ์คอยกระตุ้นแนะนำทำให้ครัวเรือนเป้าหมายมีความกระตือรือร้นในการที่จะฝึกปฏิบัติและนำกลับไปใช้จริง
                      6.5.2  การติดตามของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องทำให้การดำเนินงานของกลุ่มสัมมาชีพมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและสมาชีพมีแรงใจที่จะดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไป

---------------------------------------
1https://kamponginfo.blogspot.com/2018/02/blog-post_26.html